SCGP Fajar ถ่วงกำไร.!?

ประกาศงบไตรมาส 4/2566 ออกมาเรียบร้อยแล้ว สำหรับบริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP ซึ่งฟาดกำไรสุทธิไป 1,218 ล้านบาท


ประกาศงบไตรมาส 4/2566 ออกมาเรียบร้อยแล้ว สำหรับบริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP ซึ่งฟาดกำไรสุทธิไป 1,218 ล้านบาท แม้ตัวเลขจะต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ แต่ก็โตเยอะอยู่หนา ตั้ง 171% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิแค่ 450 ล้านบาท

ก็ถือเป็นทิศทางที่ดีหลังจากก่อนหน้านี้ถูกครอบงำด้วยปัจจัยลบ ทั้งเรื่องของต้นทุนที่ปรับเพิ่มขึ้น และดีมานด์ที่หดหาย โดยเฉพาะตลาดจีนที่ชะลอตัว แต่ SCGP ก็ยังสามารถเบ่งกำไรได้ ส่วนกำไรทั้งปี 2566 แม้จะหย่อนไปนิด โดยมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 5,248 ล้านบาท ลดลง 10% จากปีก่อนที่ทำได้ 5,801 ล้านบาท แต่สถานการณ์โดยรวมดูดีขึ้น..!!

แต่มีเรื่องหนึ่งที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ เพราะถ้าไปดูงบงวดล่าสุด จะเห็นว่ามีตัวถ่วงอยู่นะ นั่นคือ PT Fajar Surya Wisesa Tbk. (Fajar) ซึ่ง SCGP มีพันธสัญญาที่จะต้องซื้อหุ้นส่วนที่เหลือ 44.48% จากผู้ถือหุ้นเดิม ต้องใช้เงินอีกราว 22,313 ล้านบาท โดย SCGP ต้องบันทึกเป็นหนี้สินเพื่อรองรับธุรกรรมดังกล่าว ซึ่งคาดจะเกิดขึ้นในช่วงกลางปี 2567 นี้

ส่งผลให้ตัวเลขสำคัญทางการเงิน ณ สิ้นปี 2566 ดูไม่สวย โดยเฉพาะหนี้สินรวมที่โป่งขึ้นมาเกือบ 30% หรือเพิ่มขึ้น  21,799 ล้านบาท มาอยู่ 96,112 ล้านบาท เทียบกับสิ้นปี 2565 ซึ่งมีหนี้สินรวมอยู่ที่ 74,312.91 ล้านบาท

ขณะที่ ส่วนของผู้ถือหุ้นก็ลดฮวบเหลือแค่ 102,449 ล้านบาท ลดลง 20,518 ล้านบาท จากสิ้นปี 2565 ซึ่งหนึ่งในสาเหตุก็มาจากการบันทึกหนี้สินที่เกี่ยวข้องกับการซื้อหุ้น Fajar นั่นแหละ…ด้านหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (D/E) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 0.9 เท่า เทียบกับสิ้นปี 2565 อยู่ที่ 0.6 เท่า เพิ่มขึ้นจากการบันทึกหนี้สินที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายหุ้น Fajar ในไตรมาส 2/2566

หลายคนคงเกิดคำถามว่า Fajar เป็นใคร..? แล้ว SCGP ไปเกี่ยวดองตั้งแต่ชาติปางไหน..?

ถ้าไปดูแบ็กกราวด์ของ Fajar ไม่ใช่บริษัทไก่กาที่ไหน แต่เป็นผู้นำธุรกิจกระดาษบรรจุภัณฑ์ และเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อินโดนีเซียเชียวนะ โดยเมื่อปี 2562 SCGP ได้ทุ่มเงิน 9.6 ล้านล้านรูเปีย หรือประมาณ 21,150 ล้านบาท หรือเทียบเท่า 665 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ Fajar ในสัดส่วน 55%

ก็เข้าใจแหละว่า ยุทธศาสตร์ของ SCGP ในตอนนั้น ต้องการแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ โดยวาดฝันไว้ว่าการถือหุ้นข้างมากใน Fajar จะช่วยขยายการเติบโตในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะในตลาดอินโดนีเซีย ซึ่งมีโอกาสเติบโตอย่างมากในอนาคต ดูจากประชากร 270 ล้านคน (ณ ปี 2562) และอัตราการใช้กระดาษบรรจุภัณฑ์ต่อคนของอินโดนีเซียสูงกว่าไทยเกือบ 3 เท่าตัว

แล้วถ้าย้อนไปดูผลประกอบการของ Fajar ในช่วงปี 2561 (ก่อนช่วงโควิด) มียอดขายกระดาษบรรจุภัณฑ์รวม 1.38 ล้านตัน มูลค่า 9.94 ล้านล้านรูเปีย ประมาณ 21,900 ล้านบาท มีกำไรประมาณ 1.41 ล้านล้านรูเปีย ประมาณ 3,100 ล้านบาท ก็ไม่แปลกที่ SCGP อยากครอบครอง…

แต่น่าเสียดาย สิ่งที่คาดหวังกลับไม่เป็นดั่งที่หวัง…เพราะดันมาเกิดวิกฤตโควิด ทำให้เศรษฐกิจของอินโดนีเซียชะลอตัว บวกกับเงินเฟ้อที่สูง ฉุดให้กำลังซื้อซบเซา ทำให้ Fajar ไม่เฉิดฉายได้เท่าที่ควร…

แหม๊…เสียดายจัง…เฮ้ย เสียดายจัง..!!

ดังนั้นหาก SCGP ยังฝืนแบก Fajar ไว้ทั้งหมด ก็ดูจะหนักเกินไป ทางเลือกคงต้องหาพันธมิตรเข้ามาร่วมแบกด้วย ซึ่งแว่ว ๆ มาว่า ตอนนี้อยู่ระหว่างการพูดคุยกับพันธมิตรทั้งในต่างประเทศและในประเทศอินโดนีเซียเพื่อมาร่วมถือหุ้น Fajar ส่วนที่เหลือ

แต่หากวันไหน Fajar กลับมาเติบโตดี ก็มีโอกาสที่ SCGP จะกลับรายการทางบัญชี นั่นหมายถึงจะเห็นกำไรที่โป่งพองเป็นพิเศษนะ…

ซึ่งจะเป็นเมื่อไหร่นั้น…อันนี้ไม่รู้

คงต้องร้องเพลงรอกันต่อไป..??

…อิ อิ อิ…

Back to top button