BTS ตัวเบา รอรับ 2.3 หมื่นล้าน โปะหนี้

นับเป็นข่าวดีสำหรับบมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ หรือ BTS เนื่องจากการแก้ปัญหาหนี้จากโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวมีความคืบหน้ามากขึ้น


เส้นทางนักลงทุน

นับเป็นข่าวดีสำหรับบมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ หรือ BTS เนื่องจากการแก้ปัญหาหนี้จากโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวมีความคืบหน้ามากขึ้น เมื่อสภากรุงเทพมหานคร (กทม.) ไฟเขียวผ่านฉลุย เห็นชอบจ่ายหนี้ค่าใช้จ่ายระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) หรือ E&M ซึ่งดำเนินการระหว่างกรุงเทพมหานคร และบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ที่ได้ทำสัญญากับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า BTS โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงแบริ่ง-สมุทรปรการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต มูลค่า 2.3 หมื่นล้านบาท ตัวเลขนี้เป็นประมาณการรวมดอกเบี้ยถึงเดือน เม.ย. 2567 ซึ่งจะทำให้ BTS มีสภาพคล่องดีขึ้น

โดยขั้นตอนหลังจากนี้จะมีการเสนอต่อกระทรวงมหาดไทย จากนั้นจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบเพื่อให้กรุงเทพมหานครชำระค่างาน E&M หลังจากนั้นกรุงเทพมหานครจะจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมเสนอสภากรุงเทพมหานคร เพื่อทำการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม โดยจ่ายขาดจากเงินสะสมของกทม. ที่ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 5.12 หมื่นล้านบาท เบื้องต้นประเมินว่าจะสามารถจ่ายหนี้ก้อนแรกได้ในเดือน มี.ค. 2567

ทั้งนี้ งาน E&M ประกอบด้วย งานระบบจัดเก็บตั๋ว งานระบบอาณัติสัญญาณ งานระบบสื่อสาร งานระบบจ่ายไฟฟ้า งานระบบศูนย์ควบคุมและสั่งการ งานระบบความปลอดภัย รวมถึงงานระบบอื่น ๆ

ณ 30 ก.ย. ปี 2566 BTS มีหนี้หมุนเวียน แบ่งเป็น เงินเบิกเกินบัญชีและเงินกู้ยืมระยะสั้นจากสถาบันการเงิน 1 หมื่นล้านบาท เจ้าหนี้การค้าและเจ้าหนี้หมุนเวียนอื่น 1.2 พันล้านบาท เงินกู้ยืมระยะสั้น 1.62 หมื่นล้านบาท หนี้สินระยะยาวส่วนที่ถึงกำหนดชำระภายใน 1 ปี 9.1 พันล้านบาท และอื่น ๆ โดยรวม ๆ แล้วมีหนี้สินหมุนเวียน 3.67 หมื่นล้านบาท

ขณะที่หนี้สินไม่หมุนเวียน มีหุ้นกู้ระยะยาวส่วนที่ถึงกำหนดชำระเกินกว่า 1 ปี 6.39 หมื่นล้านบาท หนี้สินตามสัญญาเช่าที่ถึงกำหนดชำระเกิน 1 ปี 495 ล้านบาท และอื่น ๆ รวม ๆ แล้วเป็นตัวเลขทั้งสิ้น 6.46 หมื่นล้านบาท เมื่อบวกกันทั้ง 2 ก้อน เท่ากับ 1.02 แสนล้านบาท โดยมีสินทรัพย์หมุนเวียนรวม 4.73 พันล้านบาท มีกำไรสะสม 6.15 พันล้านบาท และมีส่วนของผู้ถือหุ้น 6.69 หมื่นล้านบาท

หากการชำระหนี้เป็นไปตามแผน BTS จะมีสภาพคล่องที่ดีขึ้น และหลังจากได้รับชำระคืนหนี้ดังกล่าว เงินที่ได้จะนำไปชำระหนี้หุ้นกู้ และทำให้อัตราส่วนหนี้สิน/ทุนสุทธิ หรือ Net D/E ลดลงจาก 3.2 เท่า เหลือ 2.8 เท่า ซึ่งจะช่วยลดดอกเบี้ยจ่ายได้ปีละประมาณ 900 ล้านบาท

ส่วนหนี้ค่าจ้างเดินรถส่วนต่อขยายสายสีเขียวที่ผิดนัดชำระ ซึ่งอยู่ที่ศาลปกครองสูงสุดคาดจะมีผลตัดสินออกมาเร็ว ๆ นี้ และหากศาลปกครองสูงสุดยืนคำพิพากษาตามศาลปกครองกลาง กทม.จะต้องชำระหนี้ดังกล่าวภายใน 180 วัน

ทั้งนี้ หนี้ที่ยังเหลือคือหนี้จากการเดินรถและซ่อมบำรุงที่มีคดีในชั้นศาลปกครองสูงสุด โดยมีภาระหนี้ถึงเดือน ต.ค. 2566 รวม 2 ส่วน 27,540 ล้านบาท แบ่งเป็น 1.ส่วนต่อขยายที่ 1 (อ่อนนุช-แบริ่ง และ สะพานตากสิน-วงเวียนใหญ่) วงเงิน 5,400 ล้านบาท และ 2.ส่วนต่อขยายที่ 2 (หมอชิต-คูคต และ แบริ่ง-สมุทรปราการ) วงเงิน 22,000 ล้านบาท

คำถามคือ เมื่อ BTS ได้รับชำระหนี้เป็นเงินก้อนโต อนาคตจะเป็นอย่างไร ???

โบรกเกอร์ เช่น บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ มองแนวโน้มผลการดำเนินงานและผลกำไรในไตรมาสถัด ๆ ไปยังดูไม่สดใส เพราะนอกจากจะไม่มีกำไรพิเศษจากการขายหุ้นแรบบิท-ไลน์เพย์ (RLP) ซึ่งเกิดขึ้นในไตรมาส 2 ปี 2566/2567 แล้ว

ธุรกิจระบบขนส่งมวลชน (MOVE) แม้ส่วนแบ่งกำไรจากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนทางราง บีทีเอส โกรท (BTSGIF) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามจำนวนผู้โดยสาร รวมทั้งความคืบหน้าคดีความ แต่บริษัทจะต้องบันทึกส่วนแบ่งขาดทุนจากรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสีชมพูที่เพิ่งเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในเดือน ม.ค.นี้ ซึ่งจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 ปีกว่าทั้งสายสีเหลืองและชมพูจะกำไร

ส่วนธุรกิจสื่อโมษณาและแพลตฟอร์มทางการตลาด (MIX) ธุรกิจหลักยังคงมีความท้าทายและยังคงต้องรับรู้ส่วนแบ่งขาดทุนจากบมจ.เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) หรือ KEX ต่อเนื่อง ขณะที่ธุรกิจที่สร้างรายได้ค่าเช่า (MATCH) นั้น มองบมจ.ธนูลักษณ์ (TNL) จะยังคงเติบโตจากทิศทางธุรกิจใหม่ที่มุ่งสู่ธุรกิจบริการทางการเงิน

บล.ทิสโก้ ยังอยู่ระหว่างทบทวนประมาณการกำไร มูลค่าที่เหมาะสมและคำแนะนำการลงทุนต่อหุ้น BTS เนื่องจากผลประกอบการในช่วง 6 เดือนแรกปี 2566/2567 ต่ำกว่าที่คาด และมีปัจจัยเสี่ยงมาจากการฟื้นตัวที่ช้า ค่าใช้จ่ายจากการให้บริการรถไฟฟ้าสายสีชมพู สีเหลือง มากกว่าคาด

สำหรับ BTSGIF ซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องกับ BTS นั้น ในมุมมองของ บล.กรุงศรี เห็นว่าจะไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีสำหรับรอรับเงินปันผลแล้ว เพราะไม่มีปัจจัยที่จะมาช่วยกระตุ้นราคาหุ้นให้สูงขึ้น สะท้อนถึงจำนวนผู้โดยสารเฉลี่ยจะกลับไปอยู่ระดับก่อนโควิดในปี 2572 ซึ่งสิ้นสุดสัมปทาน และพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของการเดินทาง จากการเปลี่ยนมาทำงานแบบไฮบริด (hybrid) ความล่าช้าของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาฟื้นตัวอย่างเต็มที่

ทั้งนี้ การไม่จ่ายเงินปันผลจากตอนนี้ไปจนหมดสัมปทาน ทำให้ผู้ถือหน่วย BTSGIF ต้องพึ่งผลตอบแทนจากราคากองทุน (capital return) แต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งจะคิดเป็นอัตราผลตอบแทน (IRR) ที่ 4.1% เท่านั้น

สายสีเขียวเส้นทางหลักจะเป็นแหล่งรายได้ของ BTSGIF ไปถึงธันวาคม 2572 ตั้งแต่ที่เข้าจดทะเบียนในปี 2556 แหล่งรายได้ของ BTSGIF คือรายได้ค่าโดยสารสุทธิจากการเดิน รถไฟฟ้า BTS SkyTrain System เส้นทางหลัก ที่ครอบคลุมระยะทาง 23.5 กิโลเมตร (กม.) แบ่งเป็น 17 กม. ในสายสุขุมวิท จากสถานีหมอชิตถึงอ่อนนุช และ 6.5 กม. ในสายสีลม จากสถานีสนามกีฬาแห่งชาติถึงสะพานตากสิน ตามสัญญาสัมปทานที่จะหมดอายุในวันที่ 4 ธ.ค. 2572

และลักษณะของกองทุน leasehold นั่นคือหากมีโครงการใหม่ ๆ เพิ่มเข้ามาในกองทุน อย่างเช่น สายสีเขียวส่วนต่อขยาย, สายสีชมพู, หรือสายสีเหลือง มูลค่าของกองทุนจะลดลงไปเหลือศูนย์ เมื่อหมดสัมปทาน หรืออีกประมาณ 6 ปีนับจากนี้

จะมีการลดมูลค่าสินทรัพย์ลงอีก ถึงแม้ว่ามูลค่าสินทรัพย์จะลดลงมาหลายรอบแล้วจากจำนนวนผู้โดยสารที่ลดลงหลังโควิด แต่น่าจะยังลดลงไปอีก โดย ณ ไตรมาส 1 ปี 2566/2567 (สิ้นเดือนมิถุนายน 2566) มูลค่าของกองทุนอยู่ที่ 3.69 หมื่นล้านบาท อิงจากสมมติฐานว่าจำนวนผู้โดยสารเฉลี่ยจะกลับไปอยู่ระดับก่อนโควิดระบาดได้ในปีหน้า

BTSGIF เพิ่งรายงานสถิติผู้โดยสารรายวันในไตรมาส 3 ปี 2566/2567 (สิ้นเดือนธันวาคม 2566) ที่ 616,000 เที่ยว ต่ำกว่าระดับก่อนโควิดระบาดอยู่ 16% เพราะถูกฉุดจากทางปัจจัยพื้นฐาน ได้แก่การที่นักท่องเที่ยวต่างชาติใช้เวลาในการฟื้นตัวนานขึ้น ประกอบกับมีการใช้นโยบายการทำงานแบบ hybrid ทั้งนี้ประเมินจำนวนผู้โดยสารน่าจะกลับไปอยู่ระดับก่อน โควิดระบาดที่ 700,000 เที่ยว/วัน ได้ในปี 2572 ซึ่งหมายความว่ามูลค่าสินทรัพย์จะลดลงอีก คำแนะนำ “ถือ” ประเมินราคาเป้าหมายที่ 3.93 บาท

อย่างไรก็ตาม BTS น่าจะตัวเบาขึ้น เพราะเงินที่ได้จากกทม.จะถูกเอาไปใช้โปะหนี้ ทำให้ภาระดอกเบี้ยจ่ายลดลงไปอักโขอยู่

Back to top button