พาราสาวะถี
จาก “นักร้อง (เรียน)” กลายเป็น “นักรีด (ไถ)” ไปเสียฉิบ ศรีสุวรรณ จรรยา หรือพี่ศรี ที่สื่อทั้งหลายเรียกขาน
จาก “นักร้อง (เรียน)” กลายเป็น “นักรีด (ไถ)” ไปเสียฉิบ ศรีสุวรรณ จรรยา หรือพี่ศรี ที่สื่อทั้งหลายเรียกขาน หลังจากถูกตำรวจกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ หรือ บก.ปปป. บุกรวบตัวคาบ้านพัก พร้อมเงินของกลางที่มีผู้แทนของ ณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว นำไปจ่ายให้ตามแผนที่ได้วางไว้กับเจ้าหน้าที่ ขณะเดียวกัน กำลังอีกชุดก็บุกเข้าไปควบคุมตัว ยศวริศ ชูกล่อม หรือ เจ๋ง ดอกจิก คณะทำงานของ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกฯ และรัฐมนตรีพลังงาน คาทำเนียบรัฐบาล
นอกจากนั้น ยังมี พิมณัฏฐา จิระพุทธิภาคย์ อดีตผู้สมัคร สส.พรรครวมไทยสร้างชาติ ตกเป็นผู้ต้องหาอยู่ในขบวนการรีดด้วย คดีนี้เริ่มเกิดขึ้นมาตั้งแต่ต้นปี 2566 เพราะเริ่มมีหนังสือร้องเรียนหรือบัตรสนเท่ห์ไปยังหน่วยงานคือ กรมการข้าว กระทั่งช่วงปลายปี 2566 กลุ่มผู้ต้องหาเริ่มมีการไปคุย ไปเรียกรับเงินกับผู้เสียหาย กระบวนการพิสูจน์ความจริงเป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ แต่ข้อกล่าวหากับพฤติกรรมที่ถูกพูดถึงนั้น ในแวดวงก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ค่อนข้างหนาหูอยู่แล้ว
โดยกรณีของนักร้องชื่อดังในวงการของพวกที่ทำสื่อโซเซียลแนวข่าวสารอาชญากรรม หรือสืบสวนสอบสวนเป็นที่รู้กันดีว่า มีการว่าจ้างเรื่องของการทำสื่อเพื่อโปรโมตทั้งตัวเอง และเป้าหมาย เพื่อทำให้เห็นว่ามีพวกเป็นนักข่าว เช่นเดียวกันกับแนวทางการสร้างคอนเนคชั่นกับพวกสื่อกระแสหลัก ในการที่จะหาช่องทางเพื่อสร้างกระแส เร้าความสนใจในแต่ละเรื่องที่ได้มีข้อมูล เบาะแสมาว่าสามารถตีเป็นประเด็นเพื่อหวังผลได้
จะเห็นได้ว่าหลายเรื่องที่ไม่สามารถเจรจากันได้ ก็จะเดินกันไปจนสุดทาง ส่วนใหญ่เรื่องก็จะเงียบหายไปตามกาลเวลา ขณะที่บางเรื่องเหมือนจะเดินไปให้สุดแต่ก็หยุดกันไปแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย ซึ่งก็เป็นที่วิจารณ์กันว่าเป่าคาถากันเรียบร้อยแล้ว นี่เป็นแนวทางและวิธีการทำงานของนักร้อง ส่วนผู้ต้องหาร่วมครั้งนี้อดีตแกนนำคนเสื้อแดงที่แปรพักตร์มาเข้าพรรคของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจนั้น คนที่จะให้คำตอบได้ดีที่สุดคงเป็นอดีตประธานคนเสื้อแดงก่อนจะโบกมือลากัน ก็เป็นคนหนึ่งที่ช่วยกันทำมาหากิน
ถือเป็นมือไม้ประเภทตามเก็บหัวคิวให้กับงบประมาณที่ถูกนำไปหย่อนจากเครือข่ายของอดีตพี่เบิ้มของเผด็จการสืบทอดอำนาจ ผ่าน สส.บางจังหวัดทางภาคอีสานของพรรคการเมืองใหญ่ในปัจจุบัน หากินกันเป็นขบวนการ โดยใช้โครงการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายแห่งเป็นตัวฟอก ไม่ใช่แค่เจ๋งเท่านั้นที่เป็นมือหาเงินให้พวกรักประชาธิปไตยปากว่าตาขยิบ ยังมีผู้ที่ได้แสดงตนเป็นหมอทำพิธีของคนเสื้อแดง เป็นผู้ตามเปิดและปิดเกมอย่างเป็นล่ำเป็นสันกันเลยทีเดียว
ดังนั้น หากโยงเอาวิธีการทำมาหากินในอดีตมาผูกเข้ากับหัวโขนที่ได้รับจากหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลอันดับ 3 ย่อมทำให้คนที่เคยทำแบบนี้ย่ามใจ เมื่อมาร่วมหอลงโรงกับนักร้องคนดังจึงถือเป็นดรีมทีมที่เชื่อว่าจะสามารถทำมาหากินกันได้เป็นกอบเป็นกำ ตามที่ พลตำรวจโท จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลางให้สัมภาษณ์ เส้นทางการเงินระหว่างกลุ่มผู้ต้องหา พนักงานสอบสวนมีพยานหลักฐานชัดเจนหลายรายการ เช่น รายการเส้นทางการเงินของการทำธุรกรรม และคลิปเสียงสนทนา ดีไม่ดีสืบไปสืบมาอาจจะพบพวกร่วมขบวนการเพิ่มอีกก็เป็นได้
กลางสัปดาห์นี้ 31 มกราคม พรรคก้าวไกลลุ้นคดีที่ศาลรัฐธรรมนูญเตรียมชี้ขาดคดีชูแก้มาตรา 112 เป็นนโยบายหาเสียง มี พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ตกเป็นผู้ถูกร้องที่ 1 และพรรคก้าวไกลเป็นผู้ถูกร้องที่ 2 อย่างที่บอก ทนายความของพุทธะอิสระที่เป็นผู้ร้อง ไม่ได้มีประเด็นเรื่องของการยุบพรรค เพียงแต่ยื่นให้วินิจฉัยว่าการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่ ถ้าเข้าข่ายก็ให้หยุดการกระทำนั้นทันที
ที่น่าสนใจก่อนจะถึงวันตัดสินคดี คงเป็นกรณีที่พิธาในฐานะประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงแผนการทำงานของพรรคปี 2567 โดยไม่มีร่างแก้ไขมาตรา 112 อยู่ในโรดแมป พร้อมกับตอบคำถามผู้สื่อข่าวว่า ต้องรอคำวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญก่อน ทำให้ ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์ข้อความบน X และเฟซบุ๊ก แสดงความไม่เห็นด้วยต่อแถลงการณ์ดังกล่าว โดยมองว่าเห็นเนื้อหาทั้งหมดแล้วถือว่า ผิดพลาด โดยเฉพาะแผนเสนอร่าง พ.ร.บ. 47 ฉบับ โดยไม่มีร่างแก้ไขมาตรา 112
พรรคอาจไม่ได้คิดว่าต้องพูดเรื่องนี้ แต่สื่อคิด และสื่อถาม จี้ ขยายผลว่าสรุปร่าง พ.ร.บ. 47 ฉบับในปี 2567 ไม่มีแก้ 112 ใช่ไหม กรณีนี้ส่งผลอย่างไร ย้ำความคิดว่า พรรคก้าวไกลต้องยอมรับให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ขึ้นมาอยู่เหนือฝ่ายนิติบัญญัติ การเสนอร่างกฎหมายต้องฟังว่าศาลรัฐธรรมนูญว่าอย่างไร การไม่เสนอ และพูดว่าไม่เสนอ เพราะรอศาลรัฐธรรมนูญ เสมือนกับส่งสัญญาณ “หมอบ” ก่อนคำวินิจฉัยในวันที่ 31 นี้ หากพรรคคิดแบบเฉลียวเจ้าเล่ห์ก็ไม่มีความจำเป็นต้องแถลง อดใจรอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก่อนก็ได้
โดยปิยบุตรชี้ว่า เผื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญจะหาทางลงให้พรรคก้าวไกล ด้วยการตีกรอบการแก้มาตรา 112 ไว้ ต่อไปพรรคก็พูดตอบประชาชนโหวตเตอร์ได้ว่าแก้ 112 ไม่ได้ เพราะแนวคำวินิจฉัยบอกไว้ การกระทำเช่นนี้มองว่า พรรคไม่ได้คิดประเมิน รุก รอ ถอย บริหารจัดการความคาดหวังคนเลือก แต่มุ่งไปในทิศทางหมอบเสียมากกว่า ด้วยคิดว่าจะช่วยทำให้รักษาพรรคได้ สิ่งที่น่าห่วงพอเป็นแบบนี้ก็คือ จะเข้าทางฝ่ายตรงข้ามที่รอเอาคืนจากการที่เคยถูกกล่าวหาว่าตระบัดสัตย์
แต่มีประเด็นที่น่าคิดสำหรับการต่อสู้ทางการเมืองของพิธาและก้าวไกลในระยะยาว เอาแค่ประเด็นมาตรา 112 จะถูกรุกไล่ไม่หยุด เพราะมันหมายถึงจุดยืนและอุดมการณ์พรรคที่เคยแสดงต่อคนรุ่นใหม่ไว้ เหมือนที่ สนธิ ลิ้มทองกุล หยิบเอาข้อมูลมาตีแผ่ สมัยหาเสียงก้าวไกลอ้างว่าแก้ไขไม่ใช่ยกเลิก แต่วันที่ 24 มีนาคม 2566 ที่สวนสาธารณะเทศบาลนครแหลมฉบัง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี พิธาปราศรัยปิดท้ายหลังเด็กสามนิ้วให้เลือกแปะสติกเกอร์ข้างแก้ไขหรือยกเลิกมาตรา 112 พิธาก็เลือกยกเลิกทันทีเพื่อเอาใจเด็ก เล็ก ๆ น้อย ๆ แบบนี้นี่แหละที่ทำให้คนตกม้าตายทางการเมืองกันมานักต่อนักแล้ว