กลุ่มผู้เสียหาย STARK ยื่นหนังสือทวงถามความคืบหน้าคดี DSI

กลุ่มผู้เสียหาย STARK บุกถามความคืบหน้าคดีกับ DSI จี้ตอบปมแคลงใจหลายประเด็น ทั้งเรื่องการไม่สั่งฟ้องผู้เกี่ยวข้องที่สำคัญ “ชินวัฒน์ อัศวโภคี”


วันที่ 30 ม.ค. 67 ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กลุ่มคนผู้เสียหายในคดีของบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK ได้รวมตัวกันกว่า 100 คนไปยื่นหนังสือและทวงความคืบหน้าในคดีกับ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีในฐานะรักษาราชการอธิบดี DSI

โดย นายจิณณะ แย้มอ่วม ทนายเหยื่อของผู้เสียหาย STARK ในฐานะทนายตัวแทนกลุ่มผู้เสียหายจากการลงทุนในหุ้นกู้ STARK เปิดเผยว่า หลังจากที่เดินทางไปสำนักงานอัยการ สืบเนื่องจากมีข้อกังวลสงสัย และเคลือบแคลง โดยได้มีการทำหนังสือถึงอัยการสูงสุด จากการพูดคุยกับอัยการสูงสุดก็มีประเด็นที่ยังไม่ชัดเจน จึงได้เดินทางมากรมสอบสวนพิเศษ เพื่อขอความชัดเจนในแนวทางการดำเนินคดีทุจริตหุ้นกู้ STARK ซึ่งการเดินทางมา DSI ในครั้งนี้ได้มีการยื่นหนังสือเพื่อขอให้ DSI ชี้แจง ในประเด็นตามหนังสือที่ยื่นให้ DSI หลายข้อ และหวังว่าทาง DSI จะดำเนินการให้ผู้เสียหายในการถือหุ้นกู้ STARK มีความเชื่อมั่น จนถึงทำให้ผู้เสียหายได้รับการเยียวยาโดยเร็ว

ทั้งนี้ก่อนหน้านี้ทาง DSI ได้มีการนำเสนอข่าวว่าได้มีการสั่งฟ้องผู้ต้องหา 11 ราย ซึ่งต่อมาได้รับข้อมูลว่ามีรายชื่อใน 11 รายคือ นายชินวัฒน์ อัศวโภคีาง DSI ไม่ได้มีการสั่งฟ้องตั้งแต่แรก จึงได้เดินทางไปสอบถามอัยการสูงสุด ซึ่งทางอัยการยืนยันว่ามีการสั่งไม่ฟ้องจริง โดยไม่มีการสั่งฟ้องตั้งแต่ทาง DSI แล้ว จึงทำให้ผู้เสียหายเกิดความกังวลและสงสัย ซึ่งหากสำนวนคดีอ่อนก็มองว่าพยานหลักฐานตามสื่อต่างๆ พยานบุคคล เอกสารหลักฐานมีเยอะ หากไม่เพียงพอทางผู้เสียหายก็ยินดีให้ข้อมูลที่เพียงพอที่จะยื่นหลักฐานให้ ซึ่งทางผู้เสียหายต้องการทราบว่าในการสั่งไม่ฟ้องเพราะสาเหตุใด

สำหรับนายชินวัฒน์ เป็นหนึ่งในบุคคลที่ทางกลุ่มมีการฟ้องคดีแพ่งด้วย จึงมองว่าหากหลุดคดีอาญาก็กังวลว่าคดีแพ่งก็อาจจะหลุดคดี ทั้งๆที่มีหลักฐานในการเข้าไปเป็นกรรมการของบริษัท STARK และเป็นช่วงที่บริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์ คูเปอร์ส เอบีเอเอส จำกัด (PwC) ได้ทำการตรวจสอบและระบุว่ามีการตกแต่งบัญชี ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องมีมาก่อนตั้งแต่ก่อนปี 2564 รวมถึงนายชินวัฒน์ เป็นผู้ลงนามในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายตราสารหนี้และร่างหนังสือชี้ชวน เพื่อเสนอขายหุ้นกู้ให้แก่ผู้ลงทุนสถาบัน และ/หรือผู้ลงทุนรายใหญ่ตั้งแต่ครั้งที่ 1/2564 ที่มีงบการเงินที่ PwC ระบุว่ามีการตกแต่งบัญชี ขณะเดียวกันนายชินวัฒน์ ยังเป็นกรรมการบริษัทลูกของ STARK ในหลายบริษัทอีกด้วย

ส่วนกรณที่นายชินวัฒน์ ได้มีการส่งคลิปเสียงที่อัดการสนทนาร่วมกัน 3 คน คือ นายชินวัฒน์ นายชนินทร์เย็นสุดใจ และนายวนรัตน์ ตั้งคารวคุณ ใจความบทสนทนาคือไม่เห็นด้วยกับการกระทำผิดดังกล่าว ซึ่งทาง DSI เชื่อในหลักฐาน ขณะที่นายศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ เป็นผู้ให้การซักทอดและสารภาพว่าการกระทำผิดจากการรับคำสั่งของบุคคลทั้ง 3 แต่ DSI สั่งฟ้อง จึงเกิดข้อสงสัยว่า DSI ใช้อะไรเป็นเกณฑ์ในการตั้งสินใจสั่งฟ้องและไม่สั่งฟ้อง รวมถึงตั้งข้อสังเกตว่าการที่นายชินวัฒน์ มีหลักฐานคลิปเสียงนั้นแสดงให้เห็นว่ารู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นดีว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่ไม่ได้ดำเนินการอะไรทั้งที่อยู่ในตำแหน่งกรรมการบริษัทมีหน้าที่ตามกฎหมายกำหนด แสดงให้เห็นว่าเป็นการยอมรับ และเอื้ออำนวย รวมถึงเป็นการมีส่วนร่วมทางอ้อมในการกระทำผิดหรือไม่

นอกจากนี้จากกรณีที่เมื่อวันที่ 29 ม.ค.2567 ที่นายวรัตน์มีการไปให้การต่อหน้าผู้พิพากษาในศาลว่าพร้อมที่จะรับผิดชอบแต่ให้การปฎิเสธในการกระทำผิด แต่เป็นความบกพร่องที่ไว้ใจและตนเองเป็นผู้ถูกกระทำ ซึ่งนายวนรัตน์ได้มีการกำชับทนายส่วนตัวว่าไม่ต้องต่อสู้คดี และทำอย่างไรก็ได้ให้คดีจบโดยเร็ว และจะพยายามหาทรัพย์สินมาคืนให้แก่ผู้เสียหาย ในฐานะที่เป็นทนายในคดีดังกล่าว มองว่าก็เป็นกำลังใจให้กับผู้เสียหายในระดับหนึ่ง แต่ทุกอย่างยังไม่มีผลตามกฎหมาย เป็นเพียงแค่คำพูดที่ไม่มีข้อผูกมัดทางกฎหมาย ตราบใดที่ยังไม่มีการกระทำที่เป็นผลผูกมัดทางกฎหมายก็ยังไม่ให้น้ำหนัก ในส่วนนี้จะมีผลก็ต่อเมื่อมีการปฎิบัติและมีผลทางกฎหมาย

อย่างไรก็ตามหลังจากที่ได้เข้าหารือกับทาง DSI โดยได้มีการรับข้อกังวลและแคลงใจไป และมีการแบ่งปันข้อมูลร่วมกันหลายส่วนเพื่อให้ทาง DSI ช่วยติดตามในข้อมูลที่ทางผู้เสียหายให้ไป และได้มีการตั้งประเด็นข้อสังเกตเพิ่มเติมกรณีของนายชินวัฒน์ ที่มีการทำดีลบริษัท เอ็ม พิคเจอร์ส เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ MPIC โดยซื้อหุ้นทั้งหมดจากบริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์กรุ้ป จำกัด (มหาชน) หรือ MAJOR จำนวน 1,202.13 ล้านหุ้น หรือ 92.46% จึงตั้งคำถามจากข้อสงสัยว่านำเงินจากไหนเข้าทำธุรกรรม หรือนำเงินมาจากใคร เนื่องจากนายศรัทธา ได้มีการให้ข้อมูลว่ามีการกดเงินสด และการนำเงินจำนวนออกมา ทาง DSI มีการตามต่อหรือไม่ สุดท้ายมีการโอนสิทธิ์ไปที่นายขันเงิน เนื้อนวล สรุปเป็นทรัพย์ของใคร นอมินีหรือไม่ จึงอยากให้ทาง DSI ตรวจสอบว่าเชื่อมโยงมาถึง STARK หรือไม่ ซึ่งก็ต้องสืบหาความจริงเนื่องจากเป็นคำกล่าวอาจของนายศรัทธาที่ระบุว่าเส้นทางการเงินมีออกไปทั้งในรูปแบบการโอน และการถอนเงินสด

ส่วนกรณีที่มีไม่ได้สั่งฟ้องนายชินวัฒน์ เนื่องจากมีการสืบพยานที่เป็นทั้งบุคคล และพยานเอกสาร เส้นทางการเงิน ในมุมมอง DSI เห็นว่ายังมีความไม่ชัดเจนจึงเกรงว่าจะถูกยกฟ้อง และยังสามารถเอาประโยชน์จากข้อมูลบุคคลได้ ซึ่งในฐานะทนายของผู้เสียหายมีความเห็นแย้ง เพราะมีข้อมูลที่พบว่ามีความเชื่อมโยงกัน และประเด็นที่สั่งไม่ฟ้องในประเด็นที่สั่งฟ้องไปแล้วแต่ไม่ได้หมายรวมถึงประเด็นอื่นที่อาจจะมีการสอบสวนเพิ่มเติมหรือในเรื่องของการฟอกเงินที่อาจจะมีการตั้งข้อกล่าวหาหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับการสอบสวนอีกที

ขณะเดียวกันที่ทางอัยการมีคำสั่งให้สอบปากคำเพิ่ม ทาง DSI ก็มั่นใจว่าการสอบสวนมีความละเอียด รวมถึงได้ยืนยันว่ามีการออกหมายแดงจับนายชนินทร์แล้วจริง แต่การสั่งสอบเพิ่มนั้นมาจากทนายของนายวนรัตน์ และนางสาวยสบวร อำมฤต ได้ร้องขอความเป็นธรรม ซึ่งตามระเบียบของอัยการจะต้องให้ความเป็นธรรมด้วยการให้สอบในประเด็นที่มีการร้องขอเพิ่ม โดยประเด็นที่มีการให้สอบเพิ่มมีจำนวน 22 ประเด็น ปัจจุบัน DSI สอบไปแล้ว 20 ประเด็น และมีกรอบเวลาที่ต้องส่งข้อมูลให้อัยการคือภายในวันที่ 7 ก.พ.นี้ เนื่องจากทางอัยการนัดส่งฟ้องวันที่ 9 ก.พ.นี้ รวมถึงในวันที่ 21 มี.ค.2567 ก็จะมีการตัดสินว่าศาลจะรับพิจารณาคดีแบบกลุ่ม(Class Action) หรือไม่.

Back to top button