SCB ตั้งสำรองลด ปันผลเด่น

SCB โครงสร้างพอร์ตสินเชื่อ ณ สิ้นปี 2566 1.ธุรกิจขนาดใหญ่ 34.77% 2.ธุรกิจ SME 17.03% 3.สินเชื่อบุคคล 41.04%


คุณค่าบริษัท

บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB โครงสร้างพอร์ตสินเชื่อ ณ สิ้นปี 2566 1.ธุรกิจขนาดใหญ่ 34.77% 2.ธุรกิจ SME 17.03% 3.สินเชื่อบุคคล 41.04% 4.สินเชื่อของบริษัทย่อย 7.16% ภายใต้สินเชื่อบุคคล 41.04% จำแนกต่อได้ดังนี้ 1.สินเชื่อเคหะ 31.39% 2.สินเชื่อเช่าซื้อ 7.11% 3.สินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน 1.65% 4.สินเชื่ออื่น ๆ 0.89% ภายใต้สินเชื่อของบริษัทย่อย 7.16% จำแนกต่อได้ดังนี้ 1.บริษัท คาร์ด เอกซ์ 4.75% 2.บริษัท ออโต้ เอกซ์ 1.4% 3.บริษัทย่อยอื่น ๆ 1.01%

SCB รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 4/2566 มีกำไรสุทธิ 10,994.73 ล้านบาท ขยายตัว 13.78% จากไตรมาส 4/2565 และเพิ่มขึ้น 53.93% จากไตรมาส 3/2566 ที่มีกำไรสุทธิ 7,142.6 ล้านบาท กำไรสุทธิไตรมาส 4 สูงกว่าที่ตลาดคาด 21% ส่วนใหญ่จากผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) และค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่ต่ำกว่าคาด ซึ่งช่วยชดเชยการลดลงของรายได้ค่าธรรมเนียม (โดยหลักจากธุรกิจขายประกันผ่านธนาคารและค่าธรรมเนียมด้านสินเชื่อ) และรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยสุทธิ (ส่วนใหญ่จากกำไรจากการตีมูลค่ายุติธรรมของเงินลงทุน) กำไรก่อนหักสำรองอยู่ที่ 2.3 หมื่นล้านบาท (ลดลง 7.4% จากไตรมาส 3/2566, เพิ่มขึ้น 32.3% จากไตรมาส 4/2565)

ส่วนงบปี 2566 ของ SCB มีกำไรสุทธิที่ 4.35 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.9% เมื่อเทียบปี 2565 จากอัตราดอกเบี้ยในตลาดที่สูงขึ้น ซึ่งช่วยผลักดันรายได้ดอกเบี้ยสุทธิและส่วนต่างดอกเบี้ย (NIM) ท่ามกลางการชะลอตัวของสินเชื่อ, รายได้ค่าธรรมเนียมที่อ่อนลง รวมถึง ECL และค่าใช้จ่ายสำรองหนี้สูญ (Credit cost) ที่สูงขึ้น รายได้ดอกเบี้ยรับสุทธิยังขยายตัวได้ดีที่ 6% จากไตรมาส 3/2566 แม้สินเชื่อรวมจะลดลง 1.1% จากไตรมาส 3/2566 แต่ชดเชยด้วย NIM ที่เพิ่มขึ้นได้ดีมาที่ 4% จาก 3.8% ในไตรมาส 3/2566 หลังมีสัดส่วนของสินเชื่อในธุรกิจ Consumer Finance มากขึ้น

คุณภาพสินทรัพย์ในไตรมาส 4/2566 ของ SCB อ่อนแอกว่าที่คาด โดยอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL) เพิ่มมาที่ 3.44% จาก 3.30% ในไตรมาส 3/2566 ส่วนมากจากสินเชื่อ SME และสินเชื่อรายย่อย การก่อตัวของ NPL เพิ่มขึ้นในไตรมาส 4/2566 คิดเป็นอัตราส่วน 0.69% จาก 0.56% ในไตรมาส 3/2566 ซึ่งทำให้ตัวเลขปี 2566 เพิ่มมาที่ 2.24% จาก 1.91% ในปี 2565 โดยหลักจากสินเชื่อ SME และที่อยู่อาศัยที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ECL ต่ำกว่าคาด โดยมี Credit cost อยู่ที่ 1.53% (บล.ฟินันเซีย ไซรัส คาดไว้ที่ 2.01%)

ขณะที่การตัดจำหน่ายหนี้เสียเพิ่มขึ้นเป็น 1.39 หมื่นล้านบาท จาก 7.7 พันล้านบาท ในไตรมาส 3/2566 การจำหน่าย NPL ลดลงเล็กน้อยเป็น 2.4 พันล้านบาท จาก 4.2 พันล้านบาท ในไตรมาส 3/2566 ส่งผลให้อัตราสำรองต่อหนี้สูญ (coverage ratio) ลดลงเหลือ 153% จาก 160% ในไตรมาส 3/2566 SCB ตั้งเป้าสินเชื่อปี 2567 เติบโต 3-5% โดยเป้าหมาย NIM ปี 2567 อยู่ที่ 3.7-3.9% บล.กสิกรไทย คงประมาณการกำไรปี 2567 ที่ 4.3 หมื่นล้านบาท คาดว่าสินเชื่อจะเติบโตเพียง 3% คาดว่า NIM ปี 2567 จะอยู่ที่ 3.81% ได้แรงหนุนจากอัตราผลตอบแทนสินเชื่อที่สูงขึ้น

ข้อมูลจาก Refinitiv Consensus สำหรับ SCB ระบุว่า ประมาณการรายได้รวมปี 2567 ที่ 180,182.40 ล้านบาท และประมาณการกำไรสุทธิปี 2566 ที่ 45,252.10 ล้านบาท โดยมีราคาเป้าหมายเฉลี่ยที่ 116.85 บาท จาก 19 โบรกเกอร์

บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) ระบุว่า ผลการดำเนินงานของ SCB ดีขึ้นทั้งเมื่อเทียบไตรมาส 3/2566 และเทียบไตรมาส 4/2565 ซึ่งจะทำให้ธนาคารสามารถตัดหนี้เสียที่เพิ่มเข้ามามากในไตรมาสก่อน (ส่วนใหญ่จากสินเชื่อปลอดหลักประกัน) ขณะเดียวกัน SCB บันทึกการชำระดอกเบี้ยพิเศษจากลูกค้าบางราย ซึ่งทำให้ NII และ NIM พุ่งสูงขึ้น สำหรับในระยะต่อไป ธนาคารมองว่าสินเชื่อจะเร่งตัวขึ้น 3-5% ในปี 2567 และ NIM จะดีขึ้น โดยคาดว่า credit cost จะอยู่ที่ 1.60-1.80% อย่างไรก็ตาม บล.เคจีไอ คิดว่าภาวะเศรษฐกิจอาจจะทำให้ NPL ของสินเชื่อผู้บริโภคผันผวน

สำหรับการประเมินมูลค่า (Valuation) หุ้น SCB ราคาปัจจุบัน (ราคาปิดวันที่ 2 ก.พ. 2567 ที่ 105 บาท) ซื้อขายกันที่ P/E 8.91 เท่า สูงกว่า P/E กลุ่มธนาคารที่ 7.53 เท่า ส่วนค่า P/BV ของหุ้น SCB อยู่ที่ 0.76 เท่า สูงกว่า P/BV กลุ่มธนาคารที่ 0.63 เท่า

Back to top button