ถอดรหัส 4 เกณฑ์คุมโรบอท-ชอร์ตเซล
หลังเฝ้าจับตาแนวทางแก้ไขปัญหา..ที่ว่าด้วยเรื่อง “ธุรกรรมขายชอร์ต” หรือ Short Selling กับ “การใช้คอมพิวเตอร์ส่งคำสั่งซื้อขายหุ้น” หรือ Program Trading กันมาจนข้ามปี
หลังเฝ้าจับตาแนวทางแก้ไขปัญหา..ที่ว่าด้วยเรื่อง “ธุรกรรมขายชอร์ต” หรือ Short Selling กับ “การใช้คอมพิวเตอร์ส่งคำสั่งซื้อขายหุ้น” หรือ Program Trading กันมาจนข้ามปี
ล่าสุด..ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้ข้อผลสรุปการศึกษาเกี่ยวกับการเปรียบเทียบกฎระเบียบและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการ Short Selling และ Program Trading ที่มีเทียบเคียงตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ ทั้งกลุ่มตลาดที่พัฒนาแล้วและกลุ่มตลาดเกิดใหม่ โดยบริษัทที่ปรึกษาชั้นนำระดับสากล
อันประกอบด้วย 4 แนวทาง..ที่น่าถอดรหัสเป็นอย่างยิ่งว่า..แนวทางดังกล่าวหมายถึงอะไร..เพื่อให้ผลลัพธ์อย่างไร ที่สำคัญจะแก้ปัญหาตรงจุดได้อย่างไร.!?
เริ่มจากแนวทางแรก “การควบคุม” (Control) การเพิ่มกลไกการควบคุม program trading และลดความผันผวนของราคาหลักทรัพย์ ทั้งภาพรวมและกรณี short selling อาทิ การกำหนดแนวทางในการติดตามการทำธุรกรรม short selling หรือการมีกลไกควบคุมราคาเพื่อลดความผันผวนของราคาหลักทรัพย์
นั่นหมายถึง..ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเพิ่มกลไกควบคุม Program Trading ที่ใช้ซื้อขายหุ้นรายวัน รวมถึงการติดตามธุรกรรม Short Selling อย่างใกล้ชิด เพื่อตรวจสอบหาการกระทำผิดตามกฎหมายหลักทรัพย์
แนวทางที่สอง “การรายงาน” (Reports) การปรับปรุงรายงาน Short Selling เพื่อให้ทราบถึงรายละเอียดและการติดตามได้ง่ายขึ้น รวมถึงการเปิดเผยต่อสาธารณชน
นั่นหมายถึง..ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะให้โบรกเกอร์มีการอธิบายรายละเอียดการทำ Short Selling ในหุ้นรายตัว เพื่อให้ทราบรายละเอียดต่าง ๆ และเปิดเผยต่อผู้ลงทุนทั่วไป
แนวทางที่สาม “การติดตามและการบังคับใช้กฎเกณฑ์” (Monitoring & Enforcement) โดยการเน้นย้ำความคาดหวังต่อบริษัทสมาชิกในการดูแลให้ผู้ลงทุนปฏิบัติตามเกณฑ์ รวมทั้งปรับบทลงโทษให้มีความเข้มข้น
นั่นหมายถึง..ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเพิ่มบทลงโทษอย่างหนักกับบริษัทหลักทรัพย์ ที่ปล่อยปละละเลย หรือทำเป็นปิดตาข้างหนึ่ง เพื่อหวังผลประโยชน์จากค่าคอมมิชชั่น โดยไม่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์
หากมีลูกค้าโบรกเกอร์กระทำความผิดหรือละเมิดกฎข้อบังคับตามพ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ บทลงโทษจะหนักขึ้น
สืบเนื่องจาก บริษัทหลักทรัพย์ในฐานะที่เป็นด่านแรก ที่สามารถตรวจสอบลูกค้า แต่ถ้าหากปล่อยให้มีการรั่วไหล การสุ่มตรวจของทางการเป็นไปได้ยาก เนื่องจาก Program Trading ใน 1 วันต่อราย จะมีธุรกรรมมากกว่าแสนครั้งต่อวัน ทำให้การตรวจสอบเป็นได้ยากมาก
แนวทางที่สี่ “การแบ่งความรับผิดชอบ” (Responsibility) จะมีการนำเสนอกำหนดขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบของหน่วยงานกำกับดูแลและตลาดหลักทรัพย์ฯ ในการดูแลการทำ Short Selling และ Program Trading ให้สอดคล้องกับสากล เพื่อให้หน่วยงานกำกับดูแลสามารถลงโทษต่อผู้กระทำผิดได้โดยตรงและรวดเร็ว
นั่นหมายถึง..ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะดึงหน่วยงานกำกับดูแลเข้ามาช่วย โดยเฉพาะสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ที่มีอำนาจลงโทษหรือกล่าวโทษ, เปรียบเทียบปรับ ตลอดจนยึด-ถอนใบอนุญาต บรรดาพวกมาร์เก็ตติ้ง และบริษัทหลักทรัพย์ ที่มีความเกี่ยวข้องกับการปล่อยให้ลูกค้ากระทำความผิดกฎหรือเอาเปรียบผู้ลงทุนรายอื่น ๆ