เส้นเขตแดนรอก่อน
ราคาก๊าซ LNG จากอ่าวไทย 206.39 บาท/1 ล้านบีทียู แต่ราคา LNG นำเข้าอยู่ที่ 542.51 บาท/1 ล้านบีทียู แพงกว่ากันถึง 162%
ราคาก๊าซ LNG จากอ่าวไทย 206.39 บาท/1 ล้านบีทียู แต่ราคา LNG นำเข้าอยู่ที่ 542.51 บาท/1 ล้านบีทียู แพงกว่ากันถึง 162%
การผลิตก๊าซเพิ่มในแหล่งเอราวัณ ซึ่งปัจจุบันผลิตได้เพียง 400 ล้านลูกบาศก์ฟุต ให้เป็น 800 ล้านลูกบาศก์ฟุต ตามสัญญาแบ่งปันผลผลิต ตั้งแต่ เมษายน 67 เป็นต้นไป
อีกทั้งการเจรจาแหล่งปิโตรเลียมในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชาให้เป็นผลสำเร็จโดยเร็ว จึงมีความจำเป็น และจะยังประโยชน์ทางเศรษฐกิจ 2 ประเทศเป็นอันมาก
มนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) เคยบอกว่า ถ้ารัฐบาลไทยเจรจานำพื้นที่ทับซ้อนมาทำประโยชน์ร่วมกันกับรัฐบาลกัมพูชาเป็นผลสำเร็จ ปตท.สผ.ก็สามารถจะเข้าดำเนินงานได้โดยใช้เวลาเพียง 5 ปี
ปริมาณปิโตรเลียมสำรองในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล (Overlapping Claim Area หรือ OCA) ดังกล่าว ยังไม่เคยมีการสำรวจอย่างจริงจังก็จริง แต่ก็น่าเชื่อว่าจะมีปริมาณก๊าซจำนวนมาก เนื่องจากมีที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงกับโครงการ G1/61 ในแหล่งเอราวัณของไทย
ท่อก๊าซใต้ทะเลและโรงแยกก๊าซก็มีอยู่พร้อมแล้ว การเข้าพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนฯ ไทย-กัมพูชา คงใช้เวลาไม่นานเท่าพื้นที่ทับซ้อนฯ ไทย-มาเลเซีย ซึ่งทุกอย่างต้องลงมือสร้างใหม่หมด
อันที่จริงประเทศไทยกับกัมพูชา มีบันทึก MOU ข้อตกลงปี 2544 ที่จะนำพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลมาหาประโยชน์ร่วมกัน ตั้งแต่ปี 2544 สมัยรัฐบาลทักษิณมาแล้ว เวลา 25 ปีล่วงเลยไปโดยเปล่าประโยชน์ เพราะไม่เกิดความคืบหน้าใด ๆ ทั้งสิ้น
อุปสรรคเกิดจากเส้นเขตแดนทางทะเลที่ไม่ชัดเจน เพราะประเทศที่อยู่รอบอ่าวไทยอันมีมาเลเซีย-ไทย-กัมพูชา-เวียดนาม ต่างก็ประกาศอาณาเขต 200 ไมล์ทะเลกันหมด ในขณะที่ส่วนกว้างที่สุดของอ่าวไทยกว้างแค่ 206 ไมล์ทะเลเท่านั้น
นอกจากนั้นอนุสัญญาสหประชาชาติยังอนุญาตให้สิทธิรัฐชายฝั่ง ประกาศเขตไหล่ทวีปจากขอบนอกทะเลอาณาเขตไปถึงจุดที่ลึกที่สุด 200 เมตร แต่อ่าวไทยลึกที่สุดก็แค่ 82 เมตรเท่านั้น
เมื่อทุกประเทศต่างก็อ้างอาณาเขต 200 ไมล์ทะเล และประกาศเขตไหล่ทวีปไปจนถึงระดับความลึกสูงสุดที่ 200 เมตรกันหมด ถึงได้เกิดพื้นที่โอเวอร์แลปทับซ้อนทางทะเลกว้างใหญ่ถึง 2.6 หมื่นตารางกิโลเมตร
จึงเป็นเรื่องยากที่จะกำหนดพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจร่วมกัน เพราะมีปัญหาการอ้างเส้นแบ่งเขตแดนและอำนาจอธิปไตยเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ยิ่งมีปัญหาการเมืองภายในจากกระแสชาตินิยม-คลั่งชาติของทั้งสองประเทศ ก็ยิ่งทำให้ยุ่งยากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีแบบอย่างที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลจากโมเดลไทย-มาเลเซียที่แบ่งปันผลประโยชน์ 50:50 และไทย-เวียดนาม ถึงแม้จะมีระบบการปกครองต่างกัน แต่ก็สามารถเจรจาแบ่งแดนให้ต่างคนต่างหากินโดยสันติกันได้
ส่วนโมเดลไทย-กัมพูชา เรื่องพื้นที่ทับซ้อนฯ มีแนวโน้มต่างคนต่างต้องการ คงจะตกลงกันได้ แต่ติดปัญหาเกาะกูดที่กัมพูชาขีดเส้นแดนฝ่ายเดียวและอ้างเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของอำเภอเกาะกง คงจะต้องทำการเจรจาไปพร้อมกัน
แต่หากปัญหายากเกินก็ควรต้องปล่อยไว้ก่อน จะได้เดินหน้าเรื่องเศรษฐกิจปากท้อง เพื่อไม่ให้ล้มเหลวเหมือนอดีตที่ผ่านมา ส่วนเรื่องเส้นเขตแดน เอาไว้บีบนวดกันในภายหลัง