KBANK มองกรอบบาทสัปดาห์หน้า 35.70 – 36.30 บ. จับตาจีดีพี Q4 – “ฟันด์โฟลว์” ต่างชาติ
KBANK มองกรอบบาทสัปดาห์หน้าเคลื่อนไหว 35.70-36.30 บาท จับตาตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไตรมาส 4/66 ไทย และทิศทาง “ฟันด์โฟลว์” ขณะที่ตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐสูงกว่าคาดการณ์ หนุน “เฟด” ไม่ลดดอกเบี้ยเร็วๆ นี้
ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK มองกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในสัปดาห์หน้า (19 – 23 ก.พ. 67) ไว้ที่ระดับ 35.70-36.30 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คือ ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไตรมาส 4/66 ของไทย, ทิศทางเงินลงทุนต่างชาติ (Flow) และถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่ (เฟด)
ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ คือ ดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคบริการ (เบื้องต้น) เดือน ก.พ., ยอดขายบ้านมือสองเดือน ม.ค., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และบันทึกการประชุม (เฟด) เมื่อวันที่ 30 – 31 ม.ค.67 นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดี (LPR) ของธนาคารกลางจีน, ข้อมูลอัตราเงินเฟ้อเดือน ม.ค.ของยูโรโซน และ PMI (เบื้องต้น) เดือน ก.พ.ของญี่ปุ่น อังกฤษ และยูโรโซนด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ ทิศทางเงินบาทยังคงอ่อนค่า โดยทำสถิติอ่อนค่าสุดในรอบ 3 เดือนครึ่งที่ระดับ 36.20 บาท/ดอลลาร์ ก่อนจะฟื้นตัวกลับมาบางส่วนช่วงปลายสัปดาห์ เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้เล็กน้อยในช่วงต้นสัปดาห์สอดคล้องกับสกุลเงินเอเชียอื่นๆ ท่ามกลางแรงขายเงินดอลลาร์ เพื่อปรับโพสิชั่นของตลาด ก่อนจะพลิกกลับมาอ่อนค่าลงสวนทางเงินดอลลาร์
อีกทั้ง บอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ที่ปรับตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่ง หลังตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐฯ ออกมาสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของตลาด ซึ่งหนุนการคาดการณ์ว่า (เฟด) อาจต้องยืนอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับสูงเป็นเวลานาน และจังหวะการปรับลดดอกเบี้ยคงไม่เกิดขึ้นเร็วในรอบการประชุม FOMC ใกล้ๆ นี้ (ดัชนีราคาผู้บริโภคสหรัฐ เพิ่มขึ้น 3.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ในเดือน ม.ค.สูงกว่าตลาดคาดที่ เพิ่มขึ้น 2.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน)
นอกจากนี้ เงินบาทที่อ่อนค่ายังสอดคล้องกับสถานะขายสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ และสถานการณ์ราคาทองคำในตลาดโลกที่ร่วงหลุดระดับ 2,000 ดอลลาร์/ออนซ์ลงมาด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ดี กรอบการอ่อนค่าของเงินบาทชะลอลงบางส่วน และเงินบาทฟื้นตัวกลับมาได้เล็กน้อยช่วงปลายสัปดาห์ตามจังหวะการกลับมาซื้อสุทธิพันธบัตรและหุ้นไทยของต่างชาติ ขณะที่เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงมาตามการปรับตัวลงของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ หลังตัวเลขยอดค้าปลีกของสหรัฐฯ หดตัวลงมากกว่าที่ตลาดคาดในเดือน ม.ค.
โดยในวันศุกร์ที่ 16 ก.พ. 67 (ก่อนช่วงตลาดนิวยอร์ก) เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 36.04 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับ 35.92 บาท/ดอลลาร์ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (9 ก.พ. 67) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 12-16 ก.พ.67 นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 3,343 ล้านบาท และมีสถานะเป็น Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตรไทย 6,113 ล้านบาท (ขายสุทธิพันธบัตร 5,963 ล้านบาท และตราสารหนี้หมดอายุ 150 ล้านบาท)