สภาพัฒน์ จี้ “ธปท.” ลดดอกเบี้ย – จ่ายขั้นต่ำ “บัตรเครดิต” 5% พยุงหนี้ครัวเรือน
“สภาพัฒน์” จี้ “ธนาคารแห่งประเทศไทย” ปรับลดอัตราดอกเบี้ย แนะจ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิตเหลือ 5% พร้อมกระตุ้นกำลังใช้จ่ายภาคเอสเอ็มอี หวังให้เกิดการชำระหนี้ครัวเรือนดีขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (19 ก.พ. 67) นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ในปัจจุบันหนี้ครัวเรือนยังมีปัญหาระดับสูง รวมทั้งช่วงที่ผ่านมาจะมีสินเชื่อที่ต้องกล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) เริ่มเป็นหนี้ด้อยคุณภาพ หรือ หนี้เสีย NPL ระดับหนึ่ง ซึ่งทางฝั่งรัฐบาลได้ใช้มาตรการต่างๆ อาทิ มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว มาตรการช่วยเกิดการลงทุนใหม่ๆในประเทศเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว รวมไปถึงเร่งงบประมาณปี 67 เพื่อเบิกจ่ายที่เป็นงบและรัฐวิสาหกิจเพื่อลงทุนต่อเนื่อง
โดยสิ่งที่พิจารณาในช่วงถัดไปอย่างจริงจัง คือ มาตรการด้านการเงินที่ต้องเข้ามามีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจไทย เพื่อขับเคลื่อนไปข้างหน้า โดยเฉพาะการลดภาระครัวเรือนและเอสเอ็มอี อาทิ อย่างมาตรการอัตราดอกเบี้ยต่างๆ ต้องพิจารณาจริงจัง ไม่ว่าจะอัตราดอกเบี้ยหรือส่วนต่างดอกเบี้ย ซึ่งเน้นลงไปภาครัวเรือนและเอสเอ็มอี เพื่อให้ส่วนต่างดอกเบี้ยแคบลง เพราะตัวธุรกิจขนาดใหญ่ไม่ประสบปัญหา แต่ปัญหาคือภาคครัวเรือนและเอสเอ็มอี
อีกส่วนคือมาตรการผ่อนคลายสินเชื่อบัตรเครดิต ธุรกิจเอสเอ็มอีหลายธุรกิจใช้บัตรเครดิตทำธุรกิจ ในช่วงโควิดที่ผ่านมามีมาตรการผ่อนคลายเรื่องนี้ การชำระขั้นต่ำบัตรเครดิตเหลือ 5% ของวงเงินใช้จ่าย ซึ่งมาตรการสิ้นสุดแล้วตั้งแต่เดือน ธ.ค.66 พอมาเดือน ม.ค.67 ขยับเป็น 8%
ทั้งนี้ สถานการณ์เศรษฐกิจและปัญหาหนี้ครัวเรือนรวมทั้งตัวเลข SM ต้องการให้ปรับการจ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิตเหลือ 5% อีกระยะ เพื่อให้ภาคเอสเอ็มอีที่ใช้สินเชื่อบัตรเครดิต ให้มีกำลังการใช้จ่ายมากขึ้น
ขณะที่มาตรการสินเชื่อบัตรเครดิตต้องทำควบคู่กับการที่ธนาคารพาณิชย์เข้าไปดูกลุ่มที่ใช้การชำระขั้นต่ำเป็นเวลานาน เพื่อดึงมาปรับโครงสร้างหนี้ ให้มีภาระดอกเบี้ยลดลงและช่วยให้เกิดการชำระหนี้ดีขึ้น พร้อมทั้งให้สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ในครัวเรือน โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีปัญหาผ่อนที่อยู่อาศัย เพราะเป็นเรื่องสำคัญในการดำรงชีวิต จึงอยากฝากให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พิจารณาตรงนี้อย่างจริงจัง
“โดย สศช. ให้ ธปท. เป็นผู้พิจารณาว่าเวลาเมื่อไรถึงจะเหมาะสม แต่ถ้าทำได้เร็วจะมีส่วนช่วยพอสมควร คงต้องดูประกอบกัน เพราะว่าต้องดูในแง่อัตราแลกเปลี่ยนด้วย แต่ในมุมลดภาระจะช่วยได้ ซึ่งเรื่องดอกเบี้ยอาจพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วนในช่วงถัดไป และให้ ธปท.เป็นผู้พิจารณา” นายดนุชา กล่าวว่า
อย่างไรก็ตาม การลดดอกเบี้ยจะได้ผลจริงและจะเกิดการกระตุ้นให้ก่อหนี้เพิ่มขึ้นหรือไม่นั้น ซึ่งมองว่าในแง่ภาระภาคครัวเรือน ถ้าดำเนินการควบคู่กันไปกับกำกับสินเชื่อส่วนบุคคล หรือสินเชื่อต่างๆ ให้เข้มข้น จะป้องกันไม่เกิดก่อหนี้เกินตัว ซึ่งต้องมีหลายมาตรการที่จะเข้าไป เพื่อกำกับไม่ให้เกิดผลกระทบเชิงลบด้วย