TTW เขื่อน (บั่น) ทอนกำไร.!

ปรากฏการณ์เอลนีโญที่เกิดขึ้นในปี 2566 ซึ่งทำให้อากาศร้อนจัด แล้งจัด และมีฝนตกน้อยลง ถือเป็นตัวการสำคัญที่ฉุดให้กำไรของ CKP


ปรากฏการณ์เอลนีโญที่เกิดขึ้นในปี 2566 ซึ่งทำให้อากาศร้อนจัด แล้งจัด และมีฝนตกน้อยลง ถือเป็นตัวการสำคัญที่ฉุดให้กำไรของบริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKP ซึ่งเป็นหัวหอกด้านธุรกิจโรงไฟฟ้าในกลุ่มบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK ทรุดฮวบเหลือแค่ 1,462.1 ล้านบาท ลดลง 40% เมื่อเทียบกับปีก่อนที่ทำได้ 2,436.2 ล้านบาท

เมื่อ CKP ถูกภัยแล้งเผาผลาญกำไร…คนที่ซวยไปด้วยคงหนีไม่พ้นบริษัท ทีทีดับบลิว จำกัด (มหาชน) หรือ TTW ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 2 สัดส่วน 24.98%

โดยงบปี 2566 TTW รายงานกำไรสุทธิที่ 2,932.3 ล้านบาท ลดลง 1.2% เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 2,967 ล้านบาท ถ้าดูจากคำอธิบายงบระบุชัด สาเหตุหลักเกิดจากส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมลดลงเหลือแค่ 365.2 ล้านบาท ลดลง 40.0% เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมอยู่ที่ 608.6 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากบริษัทร่วมของ CKP มีผลการดำเนินงานที่ลดลงนั่นเอง

เท่ากับว่างบปี 2566 ของ TTW ถูกเขื่อน CKP บั่นทอนกำไรน่ะสิ..!!

ที่จริงถ้าไปดูธุรกิจหลักของ TTW ซึ่งผลิตและขายน้ำประปาให้กับการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ครอบคลุมพื้นที่ อ.นครชัยศรี อ.สามพราน อ.พุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม และ อ.เมืองสมุทรสาคร อ.กระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร และบางพื้นที่ในจังหวัดปทุมธานี…แม้รายได้โตไม่แรง แต่ก็ยังโตได้อยู่นะ

โดยในปี 2566 มีรายได้จากการขายน้ำประปาและการบริหารจัดการผลิตน้ำประปา 5,709 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.4% ส่วนรายได้จากการบริการอยู่ที่ 117.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.9% และมีรายได้อื่น 21.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 123.7% ส่งผลให้มีรายได้รวมอยู่ที่ 5,848.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.6% เมื่อเทียบกับปีก่อนที่ทำได้ 5,701.2 ล้านบาท

แหม๊…นี่ถ้าไม่ถูกเขื่อนบั่นทอนกำไร ก็น่าจะเห็นกำไรมากกว่านี้นะเนี่ย…น่าเสียดายจัง..!!

ขณะที่จุดแข็งของ TTW นั้น ถือเป็นบริษัทที่มีรายได้และกำไรที่มั่นคง เนื่องจากเป็นธุรกิจที่มีสัญญาขายน้ำให้กับกปภ.ระยะยาว ซึ่งโมเดลธุรกิจก็จะคล้ายคลึงกับธุรกิจโรงไฟฟ้าที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวเช่นกัน

ทำให้ที่ผ่านมาสามารถปั๊มกำไรได้อย่างต่อเนื่อง ดูได้จากผลประกอบการในช่วง 4 ปีย้อนหลัง…เริ่มที่ปี 2562 มีรายได้รวม 6,165.5 ล้านบาท กำไรสุทธิ 3,127.9 ล้านบาท อัตรากำไรสุทธิ 51.05% ถัดมาปี 2563 มีรายได้รวม 6,192.9 ล้านบาท กำไรสุทธิ 2,951.4 ล้านบาท อัตรากำไรสุทธิ 47.99% ส่วนปี 2564 มีรายได้รวม 5,704.8 ล้านบาท กำไรสุทธิ 3,103.9 ล้านบาท อัตรากำไรสุทธิ 53.59% และปี 2565 มีรายได้รวม 5,704.8 ล้านบาท กำไรสุทธิ 2,967 ล้านบาท อัตรากำไรสุทธิ 52.21%

ถ้าสังเกตจะเห็นว่า ธุรกิจของ TTW มีมาร์จิ้นที่ดี สะท้อนได้จากอัตรากำไรสุทธิที่อยู่ในระดับสูงเกิน 50% เกือบทุกปี เนื่องจากเป็นธุรกิจที่อาศัยการลงทุนหนัก ๆ แค่ครั้งเดียว ส่วนปีต่อ ๆ ไปจะมีเพียงค่าใช้จ่ายคงที่ หรือ Fixed cost เท่านั้น โอเค…บางปีอาจมีค่าใช้จ่ายจากการซ่อมบำรุงเพิ่มเติมบ้าง แต่ก็คงไม่มาก ทำให้เมื่อมีรายได้เพิ่มขึ้น ก็จะไหลไปเป็นกำไรมากขึ้นนั่นเอง

ส่วนในมุมของหุ้น…ก็ได้ชื่อว่าเป็นหุ้นปันผลงาม มีดิวิเดนด์ยีลด์เฉลี่ย 5-6% ต่อปี โดยแต่ละปีจะจ่ายปันผล 2 ครั้ง อย่างงวดปี 2566 เพิ่งประกาศจ่ายปันผลงวดครึ่งหลังปี 2566 ในอัตราหุ้นละ 30 สตางค์ หรือคิดเป็นดิวิเดนด์ยีลด์ที่ 3.06% (คำนวณ ณ ราคาปิดวันศุกร์ที่ 23 ก.พ. 2566) โดยจะขึ้นเครื่องหมาย XD วันที่ 8 มี.ค.นี้ เมื่อรวมกับงวดครึ่งแรกปี 2566 ที่จ่ายไปแล้ว 30 สตางค์ รวมเป็น 60 สตางค์ คิดเป็นดิวิเดนด์ยีลด์สูงถึง 6.12% เลยทีเดียว

เอาหน่า…แม้กำไรหย่อนไปบ้าง ส่วนราคาหุ้นไม่ไปไหน เวียนว่ายตายเกิดอยู่ที่ 8-9 บาทเศษมาแรมปี แต่มีปันผลงาม ๆ ปลอบใจอย่างนี้ ก็พอกล้อมแกล้มอะนะ..?

อ้อ…คงไม่ต้องบอกนะว่าใครเป๋าตุงสุด ถ้าไม่ใช่คนเป็นแม่อย่าง CK ที่ปันผลงวดล่าสุดได้ค่าขนมไป 232.22 ล้านบาท ถ้ารวมทั้งปีก็ได้เงินไป 464.44 ล้านบาท

เอ๊ะ..ชักอยากเห็นแล้วสิว่างบ CK จะปังหรือแป้กกันเนี่ย..??

…อิ อิ อิ…

Back to top button