ของมันเคยมือแฉทุกวัน ทันเกมหุ้น

นับแต่ปลายปี 2555 เป็นต้นมา อาลก โลเฮีย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ได้ประกาศพักยกชั่วคราวกับฐานะนักไล่ล่ากิจการชื่อดัง ของบริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) หรือ IVL โดยจะซื้อกิจการใหม่เท่าที่จำเป็น


นับแต่ปลายปี 2555 เป็นต้นมา  อาลก โลเฮีย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ได้ประกาศพักยกชั่วคราวกับฐานะนักไล่ล่ากิจการชื่อดัง ของบริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) หรือ IVL โดยจะซื้อกิจการใหม่เท่าที่จำเป็น

เหตุผลที่เอามาอ้างครั้งนั้นคือ “เรากินไปเยอะแล้ว ก็ต้องขอเวลาย่อย” 

เหตุผลดังกล่าว เป็นเรื่องที่นักลงทุนยอมรับได้ เพราะหลังจากที่จัดโครงสร้างกิจารใหม่ เพื่อให้ IVL เป็นโฮลดิ้งของกลุ่ม ปรากฏว่า ยุทธศาสตร์ขยายอาณาจักรอย่างก้าวกระโดดด้วยการไล่ล่าซื้อกิจการเพื่อสร้างเครือข่ายในระดับแนวตั้งและแนวนอนใน 3 ธุรกิจหลักในด้านปิโตรเคมีปลายน้ำของบริษัท ได้แก่ การผลิต PET,  PTA  และเส้นใยโพลีเอสเตอร์ ปรากฏผลในภายหลังว่ากำไรวิ่งสวนทางกับรายได้และการเติบโตอย่างชัดเจน

คำอธิบายว่า กำไรที่ลดลง เกิดจากผลสะเทือนจากการปรับตัวขาลงจากกำลังการผลิตที่ล้นเกินความต้องการ โดยเฉพาะจากการเพิ่มขึ้นของโรงงานในจีน และเศรษฐกิจสหภาพยุโรปที่ทรุดตัวตกต่ำ  ไม่เพียงพอสำหรับคำถามว่าด้วยความสามารถในการทำกำไรจากการทุ่มซื้อกิจการเพื่อขยายตัวอย่างรวดเร็วเมื่อหลายปีก่อน จึงเกิดขึ้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกำไรต่อหุ้นของบริษัท ซึ่งจะเป็นตัวชี้วัดที่แท้จริงของการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรของกิจการ เพราะดูเหมือนว่าครั้งหนึ่งของการโตอย่างรวดเร็ว

การปรับยุทธศาสตร์ธุรกิจใหม่เพราะว่า ผลพวงของการเติบโตทางลัดด้วยการไล่ล่าเทกโอเวอร์กิจการไม่สามารถทำงานได้ผลอีกต่อไปแบบสูตรสำเร็จ  โดยอ้างว่า “ฉลาดซื้อ” นั้น เริ่มไม่เป็นจริงเสียแล้ว ถือเป็นการทบทวนตัวเองที่ดีว่า มนุษย์นั้น พลาดกันได้…ไม่มีใครไม่เคยทำผิด

ผลพวงจากการปรับยุทธศาสตร์ที่ช้าลง แม้ไม่เลิกเสียทีเดียว เริ่มผลิดอกออกผลอย่างช้าๆ โดยเฉพาะในปี 2558 ที่ผ่านมา ที่แค่ 9 เดือนแรก ก็มีกำไรเกือบเท่ากับ 3 ปีย้อนหลังรวมกันด้วยซ้ำ

เมื่อกำไรเริ่มกลับมา พิสูจน์ว่า ที่เคย “ฉลาดซื้อ” และหมองมัวไปพักใหญ่นั้น เอาเข้าจริงก็เกิดผลจนได้ …มาช้าดีกว่าไม่มาก็แล้วกัน

ตามประสาคนขยันทำงาน มองหาโอกาสไปข้างหน้าเรื่อยๆ ไม่มีหยุด อาโลกจึงเชื่อว่า ได้เวลาของ IVL1 ครั้งใหม่แล้ว ในยามที่มี “ของถูก” เกลื่อนตลาด จากการที่ธุรกิจปิโตรเคมีเป็นขาลงตามธุรกิจน้ำมัน และเศรษฐกิจจีน

ด้วยเหตุนี้ คนที่ช่ำชองกับการไล่ล่าซื้อกิจการเป้าหมาย อย่าง อาลก โลเฮีย ย่อมมองเห็นช่องทางอยู่เสมอ เพราะสภาพคล่องทางการเงินของ IVL ไม่เคยมีปัญหา ที่สำคัญ หนี้สินต่อส่วนผู้ถือหุ้นหรือ D/E ล่าสุด อยู่แค่ 1.6 เท่า ยังก่อหนี้ได้อีกเยอะแยะ

การไล่ล่ากิจการระลอกใหม่จึงเกิดขึ้น ในยามที่ธุรกรรม M&A ในธุรกิจพลังงานปิโตรเคมีเป็นขาลง ซึ่งจะต้องมีการควบรวมกิจการหรือซื้อขายกิจการมากขึ้นเป็นกระแส

อาลก โลเฮีย ไม่เคยตกกระแสเรื่องนี้อยู่แล้ว

ปลายเดือนพฤศจิกายนปีก่อน  IVL รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์ฯว่าได้เข้าซื้อกิจการผลิตขวด PET ของ Micro Polypet Pte.Ltd(MicroPet) ในอินเดีย และบริษัทย่อยอีก 2 แห่งคือ Sanchit Polymers Pte.Ltd. และ Eternity Infrabuild Pte. Ltd. โดยผ่านทางบริษัทย่อยของตนเอง

โรงงานดังกล่าว จะผลิต PET จำนวนปีละ 2.16 แสนตันต่อปี…แต่ไม่ยอมบอกราคาซื้อขาย

ล่าสุดเมื่อวานนี้ IVL แจ้งเพิ่มเติมอีกว่า ได้เข้าซื้อกิจการอีกแห่งหนึ่งในสหรัฐฯ ของกลุ่ม BPในสหรัฐฯชื่อ BP Amoco Chemical Company  ในสหรัฐฯตอนใต้ ซึ่งอยู่ติดกับโรงงาน AlphaPet ของ IVL อยู่แล้วพอดี โดยโรงงานที่ซื้อมาใหม่นี้ ผลิต พาไรไซรีน (PX) ปีละ 7.2 แสนตันต่อปี PTA ปีละ 1.02 ล้านตันต่อปี และ NDC อีกจำนวนหนึ่ง โดยผ่านบริษัทย่อยที่ตั้งขึ้นมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะ

โดยไม่ยอมบอกมูลค่าอีกเช่นกัน เพียงแต่แจ้งว่า ราคาต่ำกว่า 15% ของทรัพย์สินเดิมที่กิจการมีอยู่ จึงไม่ต้องเข้าข่ายรายงาน

เรียบง่ายและฉับไวตามประสา อาลก โลเฮีย จริงๆ…ห้ามลอกเลียนแบบ เพราะผลลัพธ์อาจจะไม่เหมือนกัน

ทั้งหมดนี้ เป็นไปตามสูตรเดิมคือ ซื้อกิจการที่พร้อมจะบันทึกรายได้กลับทันทีโดยไม่สะดุดเพื่อทำให้ยอดขายและกำไรก้าวกระโดดไปข้างหน้า

ส่วนจะทำได้จริงมากน้อยแค่ไหน ต้องดูกันยาวๆ…

ซื้อของถูกมาแล้ว จะปั้นกำไรได้ดีแค่ไหน …ไม่ใช่ซื้อมาถูกแล้ว แต่มีถูกกว่าภายหน้า

จริงไหมจ๊ะ …นายจ๋า

Back to top button