พาราสาวะถี

การเลือกเอาช่วงเวลา 3 วันหยุดสุดท้ายของเดือนนี้ลงพื้นที่กับกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว “เที่ยวใต้สุดใจ” ของ เศรษฐา ทวีสิน ย่อมมีความหมายในการส่งสัญญาณต่อแนวทางการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้


การเลือกเอาช่วงเวลา 3 วันหยุดสุดท้ายของเดือนนี้ลงพื้นที่กับกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว “เที่ยวใต้สุดใจ” ณ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ระหว่างวันที่ 27-29 กุมภาพันธ์ของ เศรษฐา ทวีสิน ย่อมมีความหมายในการส่งสัญญาณต่อแนวทางการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ อันจะเห็นได้ว่าช่วงสามวันดังกล่าวนายกรัฐมนตรีมีภารกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว การทำมาหากินของประชาชน สร้างรายได้ ไม่ได้มีวาระงานเกี่ยวข้องกับความมั่นคงแม้แต่น้อย

นั่นหมายความว่า เป้าหมายต่อการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ของรัฐบาลเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่เน้นใช้การทหารนำ แม้จะอ้างเรื่องความสงบสุขและการพัฒนาตลอดระยะเวลาที่เกิดปัญหาความรุนแรง แต่ก็จะเห็นว่าไม่สามารถขจัดการก่อเหตุให้หมดไปได้ มิหนำซ้ำ ยังมีการเลือกที่จะก่อการในลักษณะหนักหน่วง ให้เกิดความเสียหายเป็นวงกว้างมากกว่าการก่อเหตุรายวันเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่น และสะเทือนต่อเศรษฐกิจ ชีวิต ความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่

ดังนั้น การที่เศรษฐาเลือกที่จะลงพื้นที่โดยเข้าร่วมในกิจกรรมทางศาสนา ไปตามแหล่งท่องเที่ยวที่เกี่ยวพันกับความเชื่อทางศาสนา และสถานที่ที่เป็นความร่วมมือของคนทุกเชื้อชาติ ศาสนา ย่อมเป็นการสื่อให้เห็นถึงความตั้งใจที่จะทำให้ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน มุ่งหวังที่จะยกระดับคุณภาพชีวิต และทำให้เศรษฐกิจในพื้นที่ดีขึ้น สอดรับกับการตั้งคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่นายกฯ เลือกใช้บริการพลเรือนคือ ฉัตรชัย บางชวด รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. เป็นหัวหน้า

การใช้พลเรือนเป็นหัวหน้าทีมเจรจา ช่วยสร้างบรรยากาศที่ดี ไม่มีการมองจากอีกฝ่ายว่าใช้เจ้าขุนมูลนาย หรือนายทหารที่มียศถาบรรดาศักดิ์ มาเป็นทีมต่อรอง ย่อมทำให้การพูดคุยเป็นไปในทิศทางที่ดี โดยมีทางการมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก ประกอบกับพรรคร่วมรัฐบาลที่มีพรรคประชาชาติที่ถือว่าเป็นผู้ซึ่งเข้าใจ เข้าถึงพี่น้องมุสลิมในพื้นที่มากระดับหนึ่ง จึงทำให้กระบวนการหารือมีแนวโน้มที่ดีขึ้นตามลำดับ อย่างน้อยก็คาดหวังว่าจะทำให้สถานการณ์ในพื้นที่สงบสุขได้มากขึ้น

สิ่งที่เหลือหลังจากนี้เป็นเรื่องของรายละเอียดที่จะไปลงลึกกันในแต่ละภาคส่วน ด้านความมั่นคงทั้งตำรวจและทหาร ยังมีโครงการไหนที่ได้ขอและอยู่ระหว่างการดำเนินการใช้จ่ายงบประมาณ ต้องประเมินกันว่ามีความจำเป็น คุ้มค่ากับเม็ดเงินที่ทุ่มลงไปหรือไม่ ตรงนั้นเป็นแง่ของการทำงานด้านการดูแลความเรียบร้อย ปลอดภัย แต่การจะได้ความร่วมมืออย่างจริงใจจากคนในพื้นที่นั้น ไม่ใช่มีแค่โครงการ แต่ต้องลงมือปฏิบัติและทำให้เห็นเป็นรูปธรรมในแง่ของชีวิตความเป็นอยู่ประชาชนที่ดีขึ้น

ในอดีตการต่อสู้ว่าด้วยระบอบการปกครองระหว่างประชาธิปไตยกับคอมมิวนิสต์นั้น สำเร็จได้ด้วยนโยบายการเมืองนำการทหาร แต่สำหรับในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้จะใช้การเมืองนำคงลำบาก การใช้เศรษฐกิจอันหมายถึงการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน สร้างงาน สร้างรายได้ให้ดีขึ้น ไม่ด้อยค่า ไม่แยกแยะเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา มุ่งมั่นในการลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเท่าเทียม ที่อาจจะเรียกว่าเศรษฐกิจปากท้องนำการทหาร น่าจะเป็นแนวทางที่มีโอกาสประสบผลสำเร็จ

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะตั้งหน้าตั้งตาทำงานดีขนาดไหน เศรษฐาก็ยังไม่วายที่จะถูกพวกอนุรักษนิยมสุดโต่ง โดยเฉพาะพวกที่กำลังจะหลุดจากวงโคจรแห่งอำนาจ ตามเล่นงานด้วยวิธีการโสมมเหมือนเดิม เช่นกรณีมีการกล่าวหา โจมตีว่าผลพวงจากการที่สมเด็จฮุน เซน เข้าพบ ทักษิณ ชินวัตร เป็นการส่วนตัวที่บ้านจันทร์ส่องหล้า จะทำให้ผู้นำรัฐบาลและคณะเกิดการเจรจายกผลประโยชน์ทางทะเลรอบเกาะกูดให้แก่กัมพูชา

พวกที่หลับหูหลับตาเชียร์และเชื่อก็มั่นใจว่าจะเป็นเช่นนั้น ยิ่งประโคมกันต่อด้วยข่าวการตอบรับคำเชิญเยือนกัมพูชาของ แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เลยไปกันใหญ่ ทั้งที่ความจริงไอโอบ้องตื้นแบบนี้ หากคนไม่เขลาเบาปัญญาก็รู้ดีว่า ไม่มีทางที่จะเกิดเหตุการณ์เช่นนั้นได้ ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนของประเทศที่มีชายแดนติดกันนั้นต้องผ่านกระบวนการเจรจาหลายขั้นตอน ใช่ว่าฝ่ายการเมืองหรือฝ่ายบริหารยอม แล้วฝ่ายความมั่นคงอันหมายถึงกองทัพจะยินยอม เพราะมันหมายถึงอธิปไตยของประเทศด้วย

เมื่อมองไปยังท่าทีของเศรษฐาที่มีต่อบรรดาเหล่าทัพทั้งหลาย สายสัมพันธ์กับผู้นำกองทัพก็ย่อมจะเข้าใจกันดีว่า ปัญหาข้อพิพาทที่ต้องอาศัยการตัดสินใจร่วมกับฝ่ายความมั่นคงนั้น ฝ่ายการเมืองจะมีความรอบคอบเป็นพิเศษ ไม่อาจใช้อำนาจทางการบริหารทุบโต๊ะได้เหมือนเรื่องอื่น ๆ ที่เป็นการดำเนินการตามแนวนโยบายของรัฐบาล ประเด็นนี้ก็เช่นเดียวกัน สายสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างฮุน เซนกับทักษิณนั่นก็เรื่องหนึ่ง ไม่มีทางที่จะมาอยู่เหนืออำนาจการตัดสินใจในเรื่องสำคัญแบบนี้เป็นอันขาด

ไม่เพียงแต่เศรษฐาที่มั่นใจในเรื่องนี้ พรรคแกนนำรัฐบาลอย่างเพื่อไทยก็มีการยืนยันเป็นการภายในเช่นเดียวกัน โดยทุกคน ทุกฝ่าย มีความเข้าใจตรงกันว่าประเด็นหรือความเคลื่อนไหวใดก็ตามที่มีความเกี่ยวข้องทักษิณ ฝ่ายตรงข้ามจะลากเข้ามาเชื่อมโยงเพื่อให้เกิดผลกระทบต่อรัฐบาลทันที โดยเฉพาะกับตัวนายกฯ เพื่อสร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดความไม่ไว้วางใจต่อกัน ทั้งที่เวลานี้ไม่เพียงแต่เศรษฐา-ทักษิณ-อุ๊งอิ๊ง-เพื่อไทย เข้าใจในบริบทที่แต่ละคนแต่ละฝ่ายจะต้องดำเนินการเป็นอย่างดีเท่านั้น พรรคร่วมรัฐบาลก็รับรู้และเข้าใจบทบาทที่แต่ละพรรคจะก้าวเดินเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ความพยายามในลักษณะนี้ ต้องยอมรับว่าไม่ใช่เกิดจากความคิดของพวกที่กำลังจะหมดอำนาจที่ได้มาจากเผด็จการ คสช.ก่อนหน้านี้เท่านั้น ยังเป็นการรวมหัวของพวกที่ได้รับอานิสงส์ ผลประโยชน์ก้อนโตจากการประเคนให้ของขบวนการสืบทอดอำนาจ พอเปลี่ยนรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ทำให้เกิดผลกระทบต่อรายรับที่เคยได้ จนส่งผลถึงความมั่นคงขององค์กรของตัวเองเช่นเดียวกัน จึงต้องร่วมมือกันและทำทุกวิถีทางที่จะสั่นคลอนเสถียรภาพรัฐบาลให้ได้ โดยลืมไปว่าอำนาจที่เคยหนุนหลังนั้นไม่มีวันที่จะหวนคืนกลับมาได้อีกแล้ว น่าสนใจคนพวกนี้จะมีจุดจบกันแบบไหน

Back to top button