“หุ้นเอเชีย” เปิดผันผวน หลังดัชนี PMI จีน ก.พ. หดตัวติดต่อ 5 เดือน

“ตลาดหุ้นเอเชีย” เช้านี้เปิดผันผวน หลังเปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเดือนก.พ.หดตัวลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 เพิ่มแรงกดดันต่อเจ้าหน้าที่กำหนดนโยบายในการพิจารณาออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม


ตลาดหุ้นเอเชีย เปิดภาคเช้าไร้ทิศทางในวันนี้ (1 มี.ค.67 ) หลัง สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) รายงานในวันนี้ว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเดือนก.พ.หดตัวลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 ซึ่งเพิ่มแรงกดดันต่อเจ้าหน้าที่กำหนดนโยบายในการพิจารณาออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ในขณะที่เหล่าเจ้าของโรงงานพยายามดิ้นรนแสวงหาคำสั่งซื้อสินค้า

รายงานของ NBS ระบุว่า ดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือนก.พ.ของจีนลดลงสู่ระดับ 49.1 ในเดือนก.พ. จากระดับ 49.2 ในเดือนม.ค. โดยตัวเลขต่ำกว่าระดับ 50 บ่งชี้ว่ากิจกรรมภาคการผลิตอยู่ในภาวะหดตัวและสอดคล้องกับการคาดการณ์มัธยฐานในผลสำรวจที่จัดทำโดยสำนักข่าวรอยเตอร์ที่ 49.1

โดยดัชนีฮั่งเส็งตลาดหุ้นฮ่องกงเปิดภาคเช้าที่ระดับ 16,390.89 จุด ลดลง 120.55 จุด หรือ -0.73% และดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตตลาดหุ้นจีนเปิดภาคเช้าที่ระดับ 3,013.82 จุด ลดลง 1.35 จุด หรือ -0.04% ขณะที่ดัชนีนิกเกอิเปิดตลาดที่ระดับ 39,254.69 จุด เพิ่มขึ้น 88.50 จุด หรือ +0.23% ดัชนี S&P/ASX 200 ของตลาดหุ้นออสเตรเลีย ปรับตัวขึ้น 0.1% ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ปิดทำการวันนี้ (1 มี.ค.) เนื่องในวันชาติ

อีกทั้ง ผลสำรวจแสดงให้เห็นในวันนี้ 1 มี.ค.67 เผยว่ากิจกรรมภาคการผลิตของญี่ปุ่นหดตัวเร็วที่สุดในรอบกว่า 3 ปีครึ่งในเดือนก.พ.67 เนื่องจากอุปสงค์ที่อ่อนแอลงได้บั่นทอนแนวโน้มเศรษฐกิจ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายจาก au Jibun Bank ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 47.2 ในเดือนก.พ.67 จาก 48.0 ในเดือนม.ค.67 ซึ่งถือเป็นการหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 9 นับตั้งแต่เดือนมิ.ย.66 และลดลงเร็วที่สุดนับตั้งแต่เดือนส.ค. 63  ทั้งนี้ ดัชนีที่ต่ำกว่าระดับ 50 บ่งชี้ว่ากิจกรรมภาคการผลิตอยู่ในภาวะหดตัว

ขณะที่ กระทรวงการค้า อุตสาหกรรม และพลังงานของเกาหลีใต้เปิดเผยในวันนี้ 1 มี.ค.67 ว่าการส่งออกของเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 ในเดือนก.พ. เนื่องจากยอดส่งออกชิปยังคงเป็นขาขึ้น

นอกจากนี้ สำนักข่าวยอนฮัปรายงานว่า ยอดส่งออกในเดือนก.พ.เพิ่มขึ้น 4.8% เมื่อเทียบเป็นรายปี แตะที่ระดับ 5.24 หมื่นล้านดอลลาร์ ส่วนยอดนำเข้าลดลง 13.1% เมื่อเทียบเป็นรายปี แตะที่ระดับ 4.81 หมื่นล้านดอลลาร์ ส่งผลให้เกาลีใต้มียอดเกินดุลการค้าอยู่ที่ 4.29 พันล้านดอลลาร์

Back to top button