BBGI สยายปีกธุรกิจ “เพาะเลี้ยงเซลล์” ปูทางแหล่งโปรตีนสู่โลกอนาคต
BBGI ลุ้นรายได้ปี 67 โต 30% ออลไทม์ไฮ รับดีมานด์และยอดขายน้ำมันเพิ่ม ชูจุดแข็งการผลิตวัตุดิบคุณภาพสูง เดินหน้าธุรกิจน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพอากาศยาน จากน้ำมันใช้แล้ว พร้อมผนึกพันธมิตรผลิตเพาะเลี้ยงเซลล์เนื้อสัตว์ในอาเซียน ตั้งเป้าหมายเป็นแหล่งโปรตีนใหม่แห่งโลกอนาคต
นายกิตติพงศ์ ลิ่มสุวรรณโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ BBGI เปิดเผยว่า แนวโน้มธุรกิจในปี 2567 ยังคงดีต่อเนื่อง ในส่วนของยอดขายและความต้องการที่เพิ่มขึ้นของกลุ่มธุรกิจ โดยคาดการณ์รายได้ในปีนี้จะเติบโต 30% ทุบสถิติรายได้รวมสูงสุดเป็นประวัติการณ์ (All Time High) อย่างต่อเนื่อง ซึ่งบริษัทได้เตรียมแผนบริหารการผลิตและบริหารการขายอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมรับความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มขึ้น
โดยบริษัทดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวังและมุ่งเน้นสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน โดนมีจุดแข็งคือ บริษัทมีผู้สนับสนุนทั้งต้นน้ำ และปลายน้ำ มีทั้งเอนทานอลและไบโอดีเซล ที่จะช่วยบาลานซ์ดีมานด์และซัพพลายได้ รวมถึงมีโรงงานมันสำปะหลัง และชานอ้อย เป็นธุรกิจคอมมูนิตี้รีไซเคิล และบริษัทมุ่งมั่นที่จะให้เป็นวัตถุดิบคุณภาพสูงมากขึ้น โดยใช้ความเชี่ยวชาญด้านการหมัก (ไบโอเทค เอททานอล) พัฒนาสารวัตถุดิบตั้ง และเพิ่มความหลากหลายด้านเทคโนโลยี
“บริษัทมุ่งมั่นที่จะสร้างผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่มีมูลค่าสูง (High Value) เพื่อรองรับเทรนด์สากล และเทคโนโลยีใหม่ๆที่เข้ามา โดยใช้ความเชี่ยวชาญในด้านการหมัก การทำเคมี เพิ่มนวัตกรรมเพื่อก้าวสู่การเป็นไบโอเทค” นายกิตติพงศ์ กล่าว
รวมถึงมีแผนดำเนินงานก่อสร้างโครงการ Second Gen เอมไซน์ ที่เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาช่วยย่อยไม้เนื้อแข็ง (Wood Chip) และชายอ้อย สกัดออกมาเป็นน้ำตาลที่เป็นส่วนผสมของเอทานอล เพื่อนำไปทำเป็นน้ำมันเครื่องบินในอนาคต และส่งออกไปยังอินเดีย ซึ่งจะช่วยลดทรัพยากรที่ใช้แล้ว และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอนาคต
นอกจากนี้ บริษัทพร้อมเดินหน้าสนับสนุนการก่อสร้างโรงงานผลิตและจัดจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพอากาศยานแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel – SAF) จากน้ำมันทอดอาหารใช้แล้ว โดยเป็นความร่วมมือกับบริษัท ธนโชคออยล์ ไลท์ จำกัด โดยบริษัทเป็นหน่วยแรกในประเทศไทยที่เป็นหน่วยผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน SAF และเป็นหน่วยแรกและหน่วยเดียวที่ผลิตจากน้ำมันใช้แล้วจากการปรุงอาหาร มีวัตถุดิบมาจากน้ำมันที่ใช้แล้วในครัวเรือนของประชาชนและภาคธุรกิจ
“การลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์นับเป็นภารกิจสำคัญของทุกภาคส่วน ขณะที่หน่วยผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน SAF เป็นก้าวสำคัญที่สะท้อนรูปธรรมที่ชัดเจนของ BBGI ในการก้าวไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2573 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ในปี 2593 ทั้งยังบูรณาการในการพัฒนาเศรษฐกิจในด้านเศรษฐกิจชีวภาพ, เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคม และการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุลและยั่งยืน” นายกิตติพงศ์ กล่าว
ขณะที่บริษัทมุ่งผลักดันเทคโนโลยีและเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ จึงได้ร่วมมือกับ Aleph Farms และ Fermbox Bio โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะเพิ่มกำลังผลิตเนื้อจากการเพาะเลี้ยงเซลล์ (Cultivated Meat) ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเพิ่มประสิทธิภาพต้นทุนของแพลตฟอร์มการเพาะเลี้ยงเซลล์ ซึ่งสอดคล้องกับแผนกลยุทธ์ของ บีบีจีไอ ที่กำลังจะTransform ธุรกิจไปยังผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่มีมูลค่าสูง โดยมุ่งเน้นการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ (New S-Curve) ด้านเทคโนโลยีชีวภาพ โดยความร่วมมือเป็นพันธมิตรนี้แสดงถึงความก้าวหน้าที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาระดับโลก
โดยบริษัทได้เตรียมความพร้อมด้านโรงงาน เมื่อช่วงปลายปี 2566 ที่ผ่านมาได้ Ground Breaking Ceremony ของโครงการก่อสร้างโรงงานเทคโนโลยีชีวภาพ (Contract Development and Manufacturing Organization :CDMO) ด้วยถังหมักผลิตขนาดใหญ่ โดยระยะแรกจะผลิตเอนไซม์ และขยายการผลิตไปยังผลิตภัณฑ์ด้านชีววิทยาสังเคราะห์ (Synbio) ที่ล้ำสมัยที่สุด ซึ่งจะเป็นโรงงานเทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูงเชิงพาณิชย์แห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยคาดการณ์ว่าจะจำหน่ายเชิงพาณิชย์ในปลายปี 2567 ถึงปี 2568
สำหรับ Aleph Farms เป็นบริษัทฯ ที่ดำเนินธุรกิจทำการเพาะเลี้ยงเซลล์ (Cellular Agriculture) สำหรับเนื้อเพาะเลี้ยงนั้น มาจากการเพาะเซลล์ของสัตว์ และเพาะในสภาพแวดล้อมที่ถูกควบคุมโดยไม่ต้องพึ่งพาสภาพภูมิอากาศและไม่ต้องใช้พื้นที่ในการเลี้ยงสัตว์ ด้วยวิธีการค้นพบใหม่นี้ได้นำไปสู่ห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ที่ไม่กระจุกตัว รัดกุม คาดการณ์ได้ และสะดวกในการเข้าถึงผู้บริโภค ซึ่งความก้าวหน้านี้ได้สนับสนุนความมั่นคงทางอาหารอย่างยิ่งยวดด้วยการลดความเปราะบางของห่วงโซ่อุปทาน และขับเคลื่อนความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ อีกทั้ง ด้วยความต้องการโปรตีนและไขมันที่มาจากสัตว์พุ่งขึ้นทั่วโลก ทั้งนี้ด้วยการเพิ่มความสามารถในการผลิตเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงเพื่อช่วยเสริมความยั่งยืน ความร่วมมือนี้ได้ช่วยให้บรรดาประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีทางเลือกอาหารที่มาจากเนื้อสัตว์ที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงอย่างมั่นคง สำหรับประชากรในประเทศ
รวมถึง Fermbox Bio เป็นบริษัทพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ โดยบริษัทมุ่งมั่นในการที่จะขับเคลื่อนนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีชีวภาพ เสริมความแข็งแกร่งให้กับความยั่งยืนของโลก และเอื้อต่ออนาคตในการดำรงอยู่ของมนุษย์ ด้วยประสบการณ์ของบริษัทที่มีอย่างยาวนานในการออกแบบและปฏิบัติการโรงงานผลิตทางชีวภาพขนาดใหญ่ โดยบริษัทมีความพร้อมในการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ร่วมกันของความร่วมมือครั้งนี้ เพื่อสร้างโรงงานผลิตเนื้อเพาะเลี้ยงขนาดใหญ่แห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้