พาราสาวะถี

เสร็จสิ้นการประชุม ครม.เมื่อวันอาทิตย์ เช้าวันนี้ (4 มีนาคม) เศรษฐา ทวีสิน นำคณะบินไปร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-ออสเตรเลีย สมัยพิเศษ


เสร็จสิ้นการประชุม ครม.เมื่อวันอาทิตย์ เช้าวันนี้ (4 มีนาคม) เศรษฐา ทวีสิน นำคณะบินไปร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-ออสเตรเลีย สมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระครบรอบ 50 ปีความสัมพันธ์ ซึ่งจะประชุมกันระหว่างวันที่ 4-6 มีนาคม หลังจากนั้น ก็จะบินต่อไปเยือนเยอรมนีและฝรั่งเศส กลับประเทศไทย 14 มีนาคม เมื่อคิวยาวขนาดนี้ จึงน่าสนใจว่า ยังจะมีประเด็นการปรับคณะรัฐมนตรีให้ต้องพิจารณากันอีกหรือ ข่าวที่เกิดเป็นการโยนหินถามทางของพวกสร้างแรงกระเพื่อมหรือพวกอยากได้อยากเป็นมากกว่า

ด้วยเหตุนี้ ภูมิธรรม เวชยชัย ในฐานะผู้จัดการรัฐบาล จึงย้ำกับนักข่าวว่า จะไม่ขอพูดเรื่องการปรับ ครม.อีกต่อไป พร้อมกับยืนยันว่าไม่ได้พูดจะมีการปรับภายในเดือนมีนาคมหรือเมษายนนี้ สิ่งที่สื่อสารคือ เศรษฐาอยากให้โอกาสรัฐมนตรีได้แสดงฝีมือบริหารจัดการงบประมาณปี 2567 ที่คาดว่าจะนำมาใช้จ่ายได้ประมาณเดือนเมษายนหรือพฤษภาคมนี้ก่อน อย่างที่รู้กันทำงาน 6 เดือนที่ผ่านมา ครม.ยังไม่ได้ใช้งบประมาณ โดยเฉพาะงบลงทุนเพื่อการสร้างงานตามอำนาจหน้าที่ของแต่ละคน

เมื่อมองจากท่วงทำนองเช่นนี้ ความเป็นไปได้ที่จะเกิดการปรับ ครม.จึงอยู่ที่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป นั่นเป็นช่วงเวลาอย่างเร็วที่สุด อยู่ที่ว่าเศรษฐาจะให้โอกาสรัฐมนตรีโชว์ฝีมือ 3 หรือ 6 เดือนหลังจากได้ใช้งบประมาณไปแล้ว เพียงแต่ว่าช่วงนี้ที่มีกระแสแรงคงเป็นเรื่องการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จาก สุทิน คลังแสง แต่เปลี่ยนจากข่าวที่ว่านายกฯ จะนั่งควบ เป็นการดึงอดีตผู้บัญชาการทหารบกบางรายมานั่งแทน

เป็นธรรมดาของข่าวปล่อยที่มาจากทุกทิศทาง โดยเฉพาะกับกลุ่มอำนาจเก่าที่ยังทำทุกวิถีทางเพื่อหวังที่จะสั่นคลอนเสถียรภาพของรัฐบาลและเศรษฐาให้ได้ เป็นพวกที่ไม่ยอมรับหรือทำใจไม่ได้กับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทั้งที่ความจริงหากตระหนักถึงการเกิดขึ้นของรัฐบาลพลิกขั้ว จนเพื่อไทยถูกตราหน้าว่าตระบัดสัตย์ ก็จะเข้าใจกระบวนการเปลี่ยนผ่านอำนาจ ที่ไม่ได้ส่งคืนให้กับฝ่ายประชาธิปไตยตามครรลองที่ควรจะเป็น

นั่นย่อมทำให้เห็นว่า กลุ่มพลังอำนาจที่เคยอุ้มสมเผด็จการสืบทอดอำนาจทำให้เกิดขบวนการอยู่ยาวนั้น ได้มองเห็นปัญหาที่สร้างความเสียหายให้กับประเทศตลอดระยะเวลาเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา แต่ครั้นจะปล่อยมือไปให้นักการเมืองที่ผ่านการเลือกตั้งตามระบบแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ ก็เกรงว่าจะเกิดปัญหาหลายประการตามมา ยิ่งให้พรรคที่ชนะการเลือกตั้งเป็นแกนนำตั้งรัฐบาล รับประกันได้ว่าจะเกิดแรงสั่นสะเทือนกันไปทุกระบบ ทุกวงการ

ด้วยเหตุนี้ มันจึงเกิดการดึงจังหวะ ยื้อเวลา จนกระทั่งเกิดการพลิกขั้ว ความจริงตัวบ่งชี้ที่ชัดเจนถึงการปล่อยมือของอำนาจเก่าเริ่มตั้งแต่การประกาศวางมือของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ กระทั่งการเดินทางกลับประเทศไทยของ ทักษิณ ชินวัตร แล้วตามมาด้วยกระบวนการที่เกิดขึ้นเพื่อให้อดีตนายกฯ ได้รับการลดโทษ ล้วนแต่ดำเนินการโดยรัฐบาลสืบทอดอำนาจทั้งสิ้น นั่นหมายความว่า ทุกอย่างผ่านการเจรจา และตกผลึกร่วมกันเรียบร้อย

ดังนั้น ความพยายามที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงด้วยการทำใจไม่ได้ ไม่ยอมรับคนในเครือข่ายของระบอบอุปโลกน์อย่างระบอบทักษิณ จึงอาจมองได้ว่าเป็นความพยายามของพวกโง่แต่ขยัน หรือไม่ก็พวกที่ยังจมปลักอยู่กับอำนาจจอมปลอมที่เคยได้รับการปูนบำเหน็จมาจากเผด็จการ คสช. แล้วถูกยกหางต่อโดยเผด็จการสืบทอดอำนาจ เมื่อจะต้องสูญเสียและหลุดไปจากวงโคจรแห่งอำนาจจึงเป็นเรื่องที่รับกันไม่ได้ ทั้งที่ในแง่ของการบริหารประเทศได้เปลี่ยนมือไปแล้ว

ส่วนการปรับ ครม.นั้น หากมองจากสภาพการเมืองภายในแต่ละพรรคก็จะเห็นว่าที่จะเกิดความคึกคักคงเป็นเฉพาะในส่วนของพรรคแกนนำอย่างเพื่อไทยเท่านั้น ด้วยเหตุที่มีฝ่ายที่ต้องการเก้าอี้เพื่อสร้างบารมีกันจำนวนมาก แต่จากสถานการณ์ตั้งต้นของการตั้งรัฐบาล มีความจำเป็นต้องใช้บุคคลที่ทุ่มเททำงานการเมืองให้พรรคอย่างจริงจังสมัยเป็นฝ่ายค้าน ประกอบกับเลือกผู้ที่มีภาพลักษณ์ไม่มัวหมองทางการเมือง รวมทั้งตัวแทนของกลุ่มอำนาจเก่า มาสร้างความสมดุลทางการเมือง ภาพจึงออกมาอย่างที่เห็น

เหตุอีกประการที่ข่าวเรื่องการปรับ ครม.ถูกโหมประโคมหลังจากที่ผ่านการบริหารงานของรัฐบาลมาแล้วครึ่งปี เป็นเพราะความเชื่อเดิม ๆ ของสมาชิกพรรคแกนนำรัฐบาลเองที่เคยเห็นทักษิณใช้การปรับ ครม.ทุก 6 เดือนในอดีต จึงคิดว่าน่าจะเป็นจังหวะเวลาช่วงนี้ ประกอบกับการได้รับการพักโทษของอดีตนายกฯ ที่คนส่วนใหญ่เชื่อว่าเป็นผู้มีอำนาจตัวจริงของพรรค จึงน่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของ ครม. โดยลืมไปว่าทุกอย่างได้เปลี่ยนไปหมดแล้ว

นับตั้งแต่การพูดคุย จนกระทั่งเกิดการตกลงร่วมกันที่เศรษฐาจะกระโจนเข้าสู่สนามการเมือง หากได้ขึ้นเป็นผู้นำประเทศ เรื่องอำนาจบริหารจะปล่อยให้คนที่เป็นนายกฯ ได้ตัดสินใจอย่างเต็มที่ แม้จะมีความเป็นตัวเองสูงอย่างไร แต่ด้านหนึ่งเศรษฐาก็ยังมีความเกรงใจ และคอยปรึกษากับผู้มีอำนาจอยู่ไม่ขาด โชคดีที่ว่านายใหญ่ได้ผ่านประสบการณ์การเหลิงอำนาจ บริหารอำนาจผิดพลาดจนต้องระหกระเหินในต่างแดนมาแล้ว จึงทำให้หลายเรื่องไม่เข้าไปยุ่ง วุ่นวาย

เหมือนที่เศรษฐาบอกกับนักข่าว หลายเรื่องในอดีตอาจเคยทำได้ แต่ยุคสมัยเปลี่ยน วิธีการก็ต้องเปลี่ยน ด้านหนึ่งอาจจะเกิดจากความเป็นรัฐบาลผสมที่ไม่สามารถตัดสินใจแบบเด็ดขาดเหมือนความเป็นรัฐบาลพรรคเดียว หรือมีพรรคร่วมแค่เป็นส่วนประกอบเหมือนยุคของไทยรักไทย เหนือสิ่งอื่นใดคือพลังที่มีอำนาจซึ่งไม่ใช่พรรคการเมืองทั้งหลายที่อยู่ในรัฐบาล ต้องการเห็นการก้าวข้ามความขัดแย้ง อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่แค่ทำให้คุณภาพชีวิตประชาชนดีขึ้น แต่หมายถึงประโยชน์ที่เคยเสียไปก่อนหน้าจะได้กลับมาเต็มเม็ดเต็มหน่วยด้วย นี่จึงเป็นอีกแรงหนุนสำคัญให้เศรษฐาไม่วอกแวกหวั่นไหว

Back to top button