คัด 5 หุ้นเด่น เก็ง “กนง.” ลดดอกเบี้ย

บล. กรุงศรี พัฒนสิน คัดเลือก 5 หุ้น “หนี้สูง-โรงไฟฟ้า” นำโดย CPALL- MINT-TRUE-GPSC-GULF ยังมีความเชื่อมั่นในโอกาสที่ดอกเบี้ยจะลดลงระยะถัดไป


สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนก.พ.67 เท่ากับ 107.22 ลดลง 0.77% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ว่าจะลดลง 0.80%

ขณะเดียวกันเงินเฟ้อยังลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 อีกด้วย สาเหตุสำคัญยังคงเป็นราคาอาหารสด ทั้งเนื้อสัตว์และผักสด ที่ปริมาณผลผลิตเข้าสู่ตลาดจำนวนมาก รวมทั้งราคาน้ำมันดีเซล และค่ากระแสไฟฟ้าที่ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปี 66 จากผลของมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ ประกอบกับฐานที่สูงในช่วงเดียวกันของปี 66 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เฉลี่ย 2 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.พ.67) ลดลง 0.94%

ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) หรือเงินเฟ้อพื้นฐาน เดือนก.พ.67 เพิ่มขึ้น 0.43% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเงินเฟ้อพื้นฐาน เฉลี่ย 2 เดือนแรกของปีนี้ อยู่ที่ 0.47%

ด้านนายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการ สนค. ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในไตรมาส 1/67 ยังมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องไปจนถึงเดือนเม.ย. โดยคาดการณ์ว่าจะเริ่มเห็นอัตราเงินเฟ้อกลับมาเป็นบวกได้ในเดือนพ.ค. หลังจากที่มาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ จะทยอยสิ้นสุดลงในเดือนเม.ย. นี้

ส่วนนายศราวุธ เตโชชวลิต ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.อาร์เอชบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า จากกระทรวงพาณิชย์รายงานตัวเลขเงินเฟ้อเดือน ก.พ.ใกล้เคียงกับที่ตลาดคาด แต่ยังติดลบติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 โดยเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) เพิ่มขึ้นน้อยกว่าคาด สะท้อนว่าประเทศไทยยังอยู่ในช่วงเศษฐกิจไม่ดี อีกทั้งราคาอาหารสด เนื้อสัตว์ ค่าไฟ และราคาน้ำมัน ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วทำให้เงินเฟ้อลดลง

พร้อมกับควาคาดหวังว่าช่วงครึ่งปีหลังคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจปรับลดดอกเบี้ยลง 2 ครั้ง สอดคล้องไปกับการคาดการณ์ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะลดดอกเบี้ยครั้งแรกเดือนมิ.ย. 67

ขณะที่บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) ระบุว่า จากการที่กระทรวงพาณิชย์รายงานเงินเฟ้อทั่วไปเดือนก.พ.67 ลดลง 0.77% ต่ำว่าที่ตลาดคาดการณ์ ส่วนเงินเฟ้อเงินเดือนก.พ.67 เพิ่มขึ้น 0.43% นั้น ส่งผลให้เพิ่มโอกาสที่ดอกเบี้ยนโยบายไทยจะมี Downside Risk จากระดับปัจจุบันที่ 2.50% หลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ตรึงดอกเบี้ยมาติดต่อกัน 7 เดือนและ Real yield ของไทย (อัตราดอกเบี้ยนโยบาย หักเงินเฟ้อ) เป็นบวกติดต่อกัน 11 เดือน จะช่วยสนับสนุนโอกาสในการลดดอกเบี้ยได้

โดยจากการศึกษาพบว่า ทุกๆ ดอกเบี้ยที่ลดลง 0.1% จะเป็นผลบวกต่อตลาดหุ้นราว 25 จุด และภาพวงจรดอกเบี้ยที่จะกลับทิศระยะถัดไป ซึ่งฝ่ายวิเคราะห์มีมุมมองเป็นบวกต่อกลุ่มหนี้สูง กลุ่มจำนำทะเบียนรถ (เน้นหุ้นที่มีคุณภาพสินทรัพย์ดี) และหุ้นโรงไฟฟ้า อาทิ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC และ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF

สำหรับกลยุทธ์การลงทุนฝ่ายวิเคราะห์ยังมีความเชื่อมั่นในโอกาสที่ดอกเบี้ยจะลดลงระยะถัดไป ซึ่งส่งผลให้ตลาดหุ้นไทยเริ่มฟื้นตัว ในกรอบแนวต้านระยะสั้นบริเวณ 1,3711,375 จุด ขณะที่หุ้นได้ประโยชน์ดอกเบี้ยขาลงจะเป็นชุดกลุ่มหลักนำตลาด อาทิ กลุ่มหนี้สูง ได้แก่ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL ราคาเป้าหมายที่ 76 บาท และบริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT ราคาเป้าหมายที่ 41.50 บาท และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE ราคาเป้าหมายที่ 7.70 บาท รวมถึงกลุ่มโรงไฟฟ้าอย่าง GPSC ราคาเป้าหมายที่ 65 บาท และ GULF ราคาเป้าหมายที่ 50 บาท

Back to top button