ทาง 3 แพร่งเขตทับซ้อนฯ
พอรัฐบาลขยับเรื่อง นำพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล (OCA) ไทย-กัมพูชา มาใช้ประโยชน์ร่วมกัน ขบวนการ “คนรักชาติ” ทั้งหลายก็เริ่มขยับตัวเตรียมต่อต้าน
พอรัฐบาลขยับเรื่อง นำพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล (Overlapping Claim Area หรือ OCA) ไทย-กัมพูชา มาใช้ประโยชน์ร่วมกัน ขบวนการ “คนรักชาติ” ทั้งหลายก็เริ่มขยับตัวเตรียมต่อต้าน
ยังคงไม่มีผลสำรวจอย่างจริงจังในพื้นที่ทับซ้อนประมาณ 2.6 หมื่นตารางกิโลเมตรนี้ แต่ก็มีความเป็นไปได้สูงมากว่า จะมีปริมาณสำรองปิโตรเลียมทั้งก๊าซและน้ำมันในเชิงพาณิชยกรรมได้ เพราะอยู่ใกล้กับโครงการ G1/61 ในแหล่งเอราวัณของไทยเป็นอันมาก
ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน อ้างอิงข้อมูลเบื้องต้นทางธรณีวิทยาคาดว่า แหล่งนี้จะมีปริมาณก๊าซธรรมชาติ เท่ากับเอราวัณคูณสอง
ก๊าซธรรมชาติที่ขุดได้ทางฝั่งอ่าวไทยทั้งในอาณาเขตทะเลไทย และพื้นที่พัฒนาร่วม JDA ไทย-มาเลเซีย จะมีคุณลักษณะเป็น “ก๊าซเปียก” (Wet Gas)
สามารถนำไปเข้าโรงแยกก๊าซเป็นมีเทนเพื่อเชื้อเพลิงเผาไหม้ในสัดส่วน 25% เป็นอีเทนสารตั้งต้นของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งมีราคาแพงกว่าก๊าซปากหลุมเป็นอันมากในสัดส่วน 25% และโปรเพน+บิวเทนเพื่อก๊าซหุงต้ม LPG ในสัดส่วน 50%
ผิดกับก๊าซทางฝั่งพม่า มีคุณลักษณะเป็น ก๊าซแห้ง (Dry Gas) ขาดคุณสมบัติเข้าโรงแยกก๊าซ ต้องนำไปเผาสถานเดียว
ก๊าซธรรมชาติ ก็เป็นที่รู้กันดีว่า เป็นต้นทุนสำคัญในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งวันนี้ประเทศไทยต้องพึ่งพาการนำเข้า LNG ในราคา 542 บาท/1ล้านบีทียู แพงกว่า NGV จากโรงแยกก๊าซในประเทศ 50% และแพงกว่าก๊าซพม่าถึง 100%
ฉะนั้น หากจะมีแหล่งก๊าซในประเทศ หรือแหล่งก๊าซจากพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลเพิ่มขึ้น ก็จะช่วยให้ค่าไฟลดลงเป็นอันมาก รวมถึงอุตสาหกรรมปิโตรเคมีก็ไม่ได้รับผลกระทบ
ทะเลอ่าวไทยมีพื้นที่แคบมาก โดยเฉพาะพื้นที่ทะเลช่วงไทย-กัมพูชา เมื่อทั้งสองประเทศต่างก็ใช้สิทธิประกาศอาณาเขตน่านน้ำ 200 ไมล์ทะเล และประกาศเขตไหล่ทวีปที่ลึกที่สุดถึง 200 เมตร ในขณะที่ส่วนกว้างที่สุดของอ่าวไทยยังอยู่แค่ 206 ไมล์ทะเล และส่วนลึกที่สุดก็แค่ 82 เมตรเท่านั้น
ฉะนั้นเขตพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ไทย-กัมพูชา จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ จำต้องยอมรับข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ร่วมกัน และหาทางเจรจานำพื้นที่ทับซ้อนนี้มาใช้ประโยชน์ร่วมกันให้จงได้
โมเดล JDA พื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซียในเขตทับซ้อนทางทะเล ที่มีการแบ่งผลประโยชน์ปิโตรเลียม 50:50 ถือเป็นโมเดลที่ก้าวหน้าและก่อประโยชน์สูงสุด ไม่ต้องมาถกเถียงกันให้เสียเวลาเป็นปัญหา “โลกแตก” ว่าใครควรได้ประโยชน์มากกว่ากันอีกด้วย
แต่พื้นที่ OCA ไทย-กัมพูชา ยังมีรายละเอียดเรื่อง “เกาะกูด” ซึ่งโดยพฤตินัยก็เป็นดินแดนไทยมาช้านาน และได้รับการรับรองโดยสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ค.ศ. 1907 (2450) แต่สมัยนายพลลอนนอล (ก่อนเขมรแตก) ดันไปขีดเส้นเขตแดนฝ่ายเดียวให้พื้นที่ทะเลเกาะกูดเป็นของเขมร
MOU ปี 2544 สมัยดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย พยายามแบ่งพื้นที่ทับซ้อนเป็น 2 ส่วน ตอนบน 1.0 หมื่นตารางกิโลเมตร ซึ่งรวมเกาะกูดเข้าไปด้วย และตอนล่าง 1.6 หมื่นตร.กม. เพื่อให้การเจรจาเรื่องเขตแดนและการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ OCA ดำเนินการควบคู่กันไปได้
รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน คงต้องตัดสินใจแล้ว จะเลือกแนวทางใด ระหว่าง 1) เจรจาทั้งเรื่องเขตแดนทับซ้อนควบคู่กันไป 2) เรื่องเขตแดนเอาไว้ก่อน นำพื้นที่ฯ มาพัฒนาร่วมกัน หรือ 3) ไม่ทำอะไรสักอย่างเลยจนกว่าจะตกลงเรื่องเขตแดนกันได้ เพราะกลุ่มผู้รักชาติ–คลั่งชาติกดดัน
เป็นไปได้ไหมว่า นำพื้นที่ OCA มาทำประโยชน์ร่วมกันก่อน ส่วนเรื่องเขตแดนก็เจรจากันไปจนกว่าจะตกผลึก เพราะถึงอย่างไรเกาะกูดก็เป็นของไทยโดยพฤตินัย ยากที่ใครจะมาแย่งชิงอยู่แล้ว