ก.ล.ต. เพิ่มมาตรการคุมเข้ม “ขายชอร์ต-โรบอทเทรด” สร้างความเชื่อมั่น
ก.ล.ต. ปรับปรุงแนวทางกำกับดูแลขาย Short Selling เน้นขายชอร์ตกลุ่ม SET100 พร้อมเพิ่มมาร์เก็ตแคปเป็น 7.5 พันล้านบาท และเพิ่มสภาพคล่องของหุ้น ส่วน Program Trading เน้นคุมความผันผวน และตรวจสอบพฤติกรรมไม่เหมาะสม
นางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ก.ล.ต. เตรียมปรับปรุงแนวทางการกำกับดูแลการขายชอร์ต (short selling) และการใช้คอมพิวเตอร์ส่งคำสั่งซื้อขาย (program trading) เพื่อยกระดับการกำกับดูแลและเพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ลงทุนทุกประเภท โดยเป้าหมายคือการเพิ่มกลไกสร้างความเชื่อมั่นในการซื้อขาย ประกอบไปด้วย ดังนี้
มาตรการกำกับดูแลการขายชอร์ต (Short Selling) เพื่อเพิ่มกลไกสร้างความเชื่อมั่นในการซื้อขาย สำหรับแนวทางปรับปรุง ดังนี้
1.1 เพิ่มคุณภาพหุ้นที่สามารถ Short Selling โดยปริมาณ Short Selling อยู่ที่ประมาณ 5-7% ของมูลค่าซื้อขายรายวัน และจะต้องเป็นหุ้นที่อยู่ในกลุ่ม Non-SET100 ที่สามารถขายชอร์ตได้ รวมถึงได้เพิ่มมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด หรือมาร์เก็ตแคปเฉลี่ยย้อนหลัง 3 เดือน จากเดิมอยู่ที่ 5,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมาเป็น 7,500 ล้านบาท โดยมีหลักทรัพย์ทั้งหมด 292 หุ้น นอกจากนี้มีการเพิ่มเกณฑ์สภาพคล่องของหุ้น Turn Over มากกว่า 2 ต่อเดือน
1.2 ปรับปรุงเกณฑ์ซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์ (trading rules) เพื่อจำกัดความผันผวนของราคาหลักทรัพย์
1.2.1 เพิ่มการใช้ราคาขายชอร์ตที่ต้องสูงกว่าราคาซื้อขายครั้งสุดท้าย (Uptick Rule) เมื่อราคาหุ้นลดลงตั้งแต่ 10% ขึ้นไปของราคาปิดวันก่อนหน้า
1.2.2 กำหนดเพดานขายชอร์ตรายหลักทรัพย์รายวัน (daily Short Selling limit)
1.2.3 เปิดเผยยอดขายชอร์ตคงค้างรายวัน (Outstanding short position)
ป้องปรามการขายชอร์ตไม่เป็นตามเกณฑ์ (Naked Short Selling) โดยแนวทางปรับปรุง ดังนี้
2.1 เพิ่มคุณภาพการทำหน้าที่ตรวจสอบของตัวกลาง
2.1.1 บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ต้องดำเนินการดังต่อไปนี้ ทำความรู้จักระบบงานของลูกค้า (Know Your Process: KYP) กรณีลูกค้าที่เป็นตัวกลาง เพื่อให้ลูกค้าทราบและเข้าใจหลักเกณฑ์ และสื่อสารให้ลูกค้าในชั้นต่อไป และเพื่อสร้างความมั่นใจว่าลูกค้าตัวกลาง มีระบบควบคุม ติดตามการปฏิบัติตามเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
โดยมีข้อตกลงกับลูกค้ายินยอมปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงยินยอมให้ บล. ไล่เบี้ยค่าปรับกรณีที่ บล. ต้องชำระค่าปรับเนื่องจากลูกค้าไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ และ บล. ต้องบังคับตามข้อตกลงดังกล่าวด้วย
อีกทั้งมีระบบงานรับส่งคำสั่งที่มีประสิทธิภาพ และกลั่นกรองคำสั่งโดยตรวจสอบเอกสารเพื่อยืนยันว่าลูกค้ามีหลักทรัพย์ตามคำสั่ง และมีระบบ post trade monitoring สุ่มตรวจธุรกรรม short หรือ long sell และรายงานให้ regulator ทราบโดยไม่ชักช้า เมื่อพบเหตุที่น่าสงสัย
ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) มีหน้าที่ ดังนี้
2.1.2 พัฒนาระบบกลาง ให้ บล. ตรวจสอบหลักทรัพย์ได้
2.1.3 เพิ่มอัตราโทษ บล. ที่ไม่ทำตามเกณฑ์ให้เทียบเท่าต่างประเทศ อาทิ กรณีพบ Naked Short Selling จะปรับ 3 เท่าของกำไร (ขั้นต่ำ 1 ล้านบาท) กรณีการทำธุรกรรม Short Selling ไม่ทำตามเกณฑ์ จะปรับไม่เกิน 0.3 ล้านบาทต่อครั้ง
2.2 แก้กฎหมายเพิ่มความรับผิดตลอดสาย โดยลงโทษหรือบังคับใช้กฎหมายกับผู้ลงทุนที่ไม่ทำตามเกณฑ์ขายชอร์ต และสร้างกลไกที่ทำให้ทราบถึงผู้รับผลประโยชน์ที่แท้จริง (End-Beneficial Owner)
2.3 เพิ่มการทำหน้าที่ผู้เก็บรักษาทรัพย์สิน (Custodian) ในฐานะ Gatekeeper: โดยให้ custodian แจ้งวัตถุประสงค์การโอน เพื่อการสอบยันการทำรายการยืม
แนวทางปรับปรุงการกำกับดูแลการใช้คอมพิวเตอร์ส่งคำสั่งซื้อขาย (Program Trading) / การส่งคำสั่งด้วยความเร็วสูง (High Frequency Trading : HFT) โดยมี HFT อยู่ที่ 15% และไม่ใช่ HFT อยู่ที่ 18% ส่วนการส่งคำสั่งปกติอยู่ที่ 67%
เป้าหมาย : เพิ่มกลไกสร้างความเชื่อมั่นในการซื้อขายโดยรวม
- ตลท. ดำเนินการให้สามารถรู้ตัวตนลูกค้าและตรวจสอบได้ ขึ้นทะเบียน (Register) ผู้ลงทุนประเภท HFT กับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เพื่อให้สามารถติดตามการซื้อขายของผู้ลงทุน HFT ได้
- ทบทวนพฤติกรรมไม่เหมาะสม
2.1 เพิ่มลักษณะคำสั่งซื้อขายไม่เหมาะสมให้ครอบคลุมพฤติกรรมการซื้อขายในปัจจุบัน
2.2 จัดทำระบบกลางคัดกรองคำสั่งไม่เหมาะสม (Central Order Screening)
2.2 กำหนดระยะเวลาขั้นต่ำของคำสั่งที่เข้ามา ก่อนที่จะสามารถยกเลิกคำสั่งนั้นได้ (Order Resting Time) เพื่อป้องกันคำสั่งใส่ถอนถี่เกินไป (spoofing)
- ควบคุมความผันผวนของราคาหลักทรัพย์
3.1 ใช้กลไกการเพิ่มเพดานการเคลื่อนไหวของราคาระหว่างวัน (Dynamic Price Band) นอกเหนือจากเกณฑ์ราคาสูงสุด-ต่ำสุด (Ceiling and Floor) โดยพักการซื้อขายชั่วคราวถ้าหุ้นมีราคาขึ้นหรือลง 10% ของราคาซื้อขายล่าสุด
3.2 ใช้วิธีการซื้อขายแบบประมูล (Auction) กรณีหุ้นอยู่ในมาตรการกำกับการซื้อขาย
- ผู้ลงทุนที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม
4.1 สมาคม บล. ทบทวนเกณฑ์การดำเนินการ (sanction) กับลูกค้าที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม
4.2 ตลท. เปิดเผยรายชื่อลูกค้าที่ส่งคำสั่งไม่เหมาะสมให้ทุก บล. ทราบ เพื่อให้ดำเนินการตามที่กำหนด