COM7 ปนเปื้อนความเสี่ยง.!?
ปรากฏการณ์ความเคลื่อนไหวราคาหุ้น COM7 แบบหักหัวลง นับตั้งต้นปี 2566 มาจนถึงล่าสุดปรับลงกว่า 15.70 บาท หรือเกือบ 45%
ปรากฏการณ์ความเคลื่อนไหวราคาหุ้นบริษัท คอมเซเว่น จำกัด (มหาชน) หรือ COM7 แบบหักหัวลง นับตั้งต้นปี 2566 มาจนถึงล่าสุดปรับลงกว่า 15.70 บาท หรือเกือบ 45% จากเฉลี่ยที่ระดับ 35 บาท เหลือเพียง 19.30 บาท
ผนวกกับกรณี “นพ.พงศ์ศักดิ์ ธรรมธัชอารี” (ผู้ถือหุ้นอันดับ 2) คู่หูดูโอ้ “สุระ คณิตทวีกุล” ซีอีโอและผู้ถือหุ้นอันดับหนึ่ง COM7 มีการเจียดขายหุ้น COM7 ออกมากว่า 10.96 ล้านหุ้นหรือ 0.4598% แม้ด้วยปริมาณและสัดส่วนอาจดูไม่มาก..แต่การขายหุ้นของ “หมอพงษ์ศักดิ์” มันทำให้นักลงทุนหวาดระแวงหุ้น COM7 มากยิ่งขึ้นไปอีก
คำถามคือถ้าหุ้น COM7 ดีจริง..แล้วทำไม “หมอพงษ์ศักดิ์” ต้องขายด้วย..!!??
เมื่อสำรวจงบการเงิน COM7 ปี 2566 พบว่า “เจือปนความเสี่ยง” อยู่หลายจุด..ที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด..!!
เริ่มจากอัตราส่วนหมุนเวียนลูกหนี้การค้า (Receivables Turnover Ratio) ที่บ่งชี้ถึงจำนวนครั้งโดยเฉลี่ยในรอบปี ที่บริษัทเรียกเก็บเงินจากลูกหนี้การค้า พบว่า อยู่ที่ระดับ 19.36 เท่า ถือว่าลดลงอย่างมีนัยสำคัญจากช่วงปี 2561-2565 เฉลี่ยอยู่ที่กว่า 35 เท่า
นั่นหมายถึง “ประสิทธิภาพการแปรลูกหนี้การค้าเป็นเงินสด” ลดลง.!?
เช่นเดียวกับระยะเวลาเก็บหนี้เฉลี่ย (A/R day) หรือ ความสามารถในการเรียกเก็บหนี้ทางการค้า พบว่า เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 18.86 วัน เพิ่มขึ้นจากเฉลี่ยช่วงปี 2561-2565 อยู่ที่ 11 วัน
กรณีนี้อาจกระทบต่อสภาพคล่องได้ เนื่องจากระยะเวลาเก็บหนี้ได้ช้าลง..!
ขณะที่อัตราส่วนหมุนเวียนสินค้าคงเหลือ (Inventory Turnover) ที่บ่งบอกความคล่องตัวของบริษัทว่าสามารถจำหน่ายสินค้าได้เร็วเพียงใดอยู่ที่ระดับ 7 เท่า ลดลงจากช่วงปี 2561-2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 8 เท่า
นั่นหมายถึง “สินค้าคงเหลือในสต๊อกมีมากขึ้น” นั่นเอง
สอดคล้องกับระยะเวลาขายสินค้าเฉลี่ย (วัน) ที่บ่งชี้ความสามารถในการขายสินค้า มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 52.18 วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงปี 2561-2565 ที่มีค่าเฉลี่ย 45 วัน นั่นหมายถึงใช้ระยะเวลานานขึ้นในการขายสินค้า
สำหรับอัตราส่วนหมุนเวียนเจ้าหนี้การค้า (Account Payable Turnover Ratio) ที่ใช้วัดความสามารถในการชำระหนี้ทางการค้าเฉลี่ยอยู่ที่ 12.28 เท่า จากค่าเฉลี่ยช่วงปี 2561-2565 อยู่ที่ 9-10 เท่า บ่งบอกความถี่ในการชำระหนี้บ่อยขึ้น นั่นหมายถึงกระทบต่อกระแสเงินสดได้เช่นกัน
ส่วนระยะเวลาชำระหนี้เฉลี่ย (A/P day) ที่ชี้วัดความสามารถในการชำระหนี้ทางการค้า เช่นเดียวกับ Account Payable Turnover พบว่า เฉลี่ยอยู่ที่ 29.71 วัน จากค่าเฉลี่ยปี 2561-2565 อยู่ที่ 37 วัน นั่นหมายถึงความที่ต้องชำระหนี้ที่เร็วขึ้นนั่นเอง
จากตัวเลขทั้งหมดมาสู่ไฮไลต์ คือวงจรเงินสด (Cash cycle) ที่บ่งบอกถึงความสามารถในการบริหารเงินหมุนเวียนทั้งเจ้าหนี้ ลูกค้าและสินค้าคงเหลือ พบว่า เฉลี่ยอยู่ที่ 41.32 วัน ถือว่าเพิ่มขึ้นค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับช่วงปี 2561-2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 27 วัน
นั่นหมายถึง..จำนวนวันที่กิจการต้องรอเพื่อจะได้รับเงินสดลงทุนไปกับลูกหนี้และสินค้าคงคลัง เพื่อหมุนเวียนกลับมาเป็นเงินสดช้าลงค่อนข้างมากอย่างมีนัยสำคัญ..!!??
จากตัวเลขดังกล่าวน่าจะพอตอบโจทย์ได้ว่า..ทำไมราคาหุ้น COM7 ถึงปักหัวลงตลอดกว่า 1 ปีที่ผ่านมา..แต่จะเป็นการตอบโจทย์ว่าทำไม “หมอพงษ์ศักดิ์” ต้องขายหุ้นออกมาด้วยหรือไม่นั้น..
เรื่องนี้ทั้ง “เสี่ยสุระ” และ “หมอพงษ์ศักดิ์” น่าจะเป็นผู้ตอบโจทย์กับนักลงทุนด้วยตนเอง..!!??