แบงก์ชาติกับสูตรแก้หนี้ครัวเรือน

ปัญหาเรื่องหนี้ครัวเรือนที่พุ่งทะยานขึ้นจนกระทั่งสภาพัฒน์และแบงก์ชาติต้องออกมาพูดถึง น่าจะเป็นปัญหาที่แบงก์ชาติจะต้องออกมาตรการขั้นเด็ดขาด


ปัญหาเรื่องหนี้ครัวเรือนที่พุ่งทะยานขึ้นจนกระทั่งสภาพัฒน์และแบงก์ชาติต้องออกมาพูดถึง น่าจะเป็นปัญหาที่แบงก์ชาติจะต้องออกมาตรการขั้นเด็ดขาดในการลดปัญหาหนี้ครัวเรือนให้เบาบางลงด้วยการใช้มือที่มองเห็น ซึ่งเราพอจะคาดเดาได้ถึงสูตรการแก้ปัญหา ซึ่งมีอยู่ 2 แนวทางให้เลือก คือ 1) การปรับลดเป้าหมายเงินเฟ้อ และ 2) การปรับลดพฤติกรรมการกู้ยืมเงินของประชาชนที่ทำตัวเป็นราชาเงินผ่อน ซึ่งทั้งสองแนวทางล้วนเป็นทางที่แทบยากเย็นแสนเข็ญ

การปรับลดเป้าหมายเงินเฟ้อของแบงก์ชาตินั้นกระทำได้ 2 ทางเลือก เพราะว่าแบงก์ชาติได้ตั้งเป้าหมายเงินเฟ้อให้เป็นหลักในระบบอัตราแลกเปลี่ยนของไทยมาตั้งแต่ปี 2541 เพื่อให้อัตราค่าเงินบาทมีเสถียรภาพสูงสุดตามที่กองทุนระหว่างประเทศกำหนดไว้

แบงก์ชาติจะกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อโดยกำหนดให้เงินเฟ้อสูงสุดในแต่ละปีไม่เกินอัตราที่กำหนดไว้ และจะไม่เข้าไปแทรกแซงตลาดอัตราแลกเปลี่ยน

วิธีการนี้แบงก์ชาติอ้างว่าจะทำให้อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทกับเงินสกุลหลักของโลกอย่างดอลลาร์สหรัฐหรือค่าเงินยูโรของสหภาพยุโรปและค่าเงินเยนของญี่ปุ่นไม่ผันผวนมากเกินไป

เป้าหมายเงินเฟ้อดังกล่าวแบงก์ชาติได้ทำการแบ่งเงินเฟ้อออกเป็น 2 ส่วนด้วยกัน คือ เงินเฟ้อพื้นฐานและเงินเฟ้อทั่วไป โดยยึดถือเงินเฟ้อพื้นฐานเป็นหลักในการจะเข้าแทรกแซงตลาดอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินและยินยอมให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปแกว่งไกวได้มากกว่า เพราะอัตราเงินเฟ้อทั่วไปได้คำนวณค่าพลังงานและอาหารเข้าไปด้วย

วิธีการนี้จะเห็นได้ว่าแบงก์ชาติจะมีข้ออ้างเสมอในยามที่เสียงโอดครวญว่าราคาพลังงานและอาหารผลักดันอัตราเงินเฟ้อทั่วไปให้ขึ้นสูงอย่างมากดังเช่น 2 ปีที่ผ่านมา จนกระทั่งเงินเฟ้อทั่วไปพุ่งสูงขึ้นถึง 7% และแบงก์ชาติก็อ้างเสมอว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของไทยยังไม่เปลี่ยนแปลงจนกระทั่งต้องเข้าแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินในตลาด และยังอ้างอีกว่าค่าเงินบาทยังคงเปลี่ยนแปลงสอดรับกับค่าเงินในภูมิภาคเอเชีย ทั้ง ๆ ที่อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐได้ขยับขึ้นจาก 33 บาทมาอยู่ที่ระดับ 35 บาทต่อดอลลาร์  ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเป็นการเสื่อมค่าของเงินบาทอย่างชัดเจน

ในการเสื่อมค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐดังกล่าว แบงก์ชาติก็ยังกล่าวอ้างเหตุเสมอว่า เมื่อเทียบกับค่าเงินเยนของญี่ปุ่นและเงินหยวนของจีนก็ถือว่าค่าเงินบาทยังมีเสถียรภาพต่อไป  ซึ่งการกล่าวอ้างเช่นนี้แม้จะดูขัดแย้งกับข้อเท็จจริงแต่ก็หาคนเถียงด้วยลำบากเพราะแบงก์ชาติมีเกราะกำบังป้องกันตัวเองเหนียวแน่นโดยเฉพาะจากสื่อที่พากันเชื่อว่าแบงก์ชาติทำอะไรไม่เคยผิด

การที่อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ยังคงเดินหน้าเป็นขาขึ้นต่อไปหลังจากที่ตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ยังคงไม่ลดลงตามที่ตลาดคาดเดา ทำให้การปรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของไทยเพิ่มขึ้นตามสหรัฐฯ ซึ่งสวนทางกับความเป็นจริงของเศรษฐกิจไทยที่อยู่ในภาวะเปราะบาง ทำให้แบงก์ชาติจำต้องยอมรับข้อเท็จจริงด้วยการปรับลดอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของไทยด้วยการปรับอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานลง ซึ่งยังผลให้เกิดผลสะเทือน 2 ด้าน คือ 1) เงินทุนต่างชาติหรือ fund flow จะไหลออก ทำให้ค่าเงินบาทลดลง  2) ส่งผลให้จีดีพีของไทยลดลงตามไปด้วย

วิธีการนี้ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์โดยตรงคือแบงก์ชาติเอง เพราะค่าเงินบาทที่อ่อนลงทำให้แบงก์ชาติมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มขึ้นอย่างมาก (แบงก์ชาติจะมีกำไรจากค่าเงินบาทที่อ่อนลง และขาดทุนจากค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นอย่างไร ดูได้จากบทความเก่า ๆ ของผู้เขียน ในหัวข้อ “เหตุที่แบงก์ชาติใกล้ล้มละลายจากเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น” เมื่อหลายปีก่อน

ส่วนแนวทางที่สองในการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน คือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชนที่ทำตัวเป็นราชาเงินผ่อนแบบหักดิบด้วยมาตรการควบคุมบัตรเครดิตและธุรกิจไมโครไฟแนนซ์ในการปล่อยสินเชื่อให้เข้มงวดมากขึ้น ซึ่งเป็นมาตรการที่แบงก์ชาติมีอำนาจทำได้แต่ไม่กล้าทำ นับเป็นเรื่องที่พูดง่ายแต่ทำยากเพราะอะไรก็รู้กันดีอยู่

Back to top button