IRPC คาด Q4/58 มีกำไร ตั้งเป้ากำไรปี 59 ดีกว่าปีก่อนตามมาร์จิ้น
IRPC คาด Q4/58 มีกำไร แม้ขาดทุนสต็อกฯราว 2 พันลบ. ตั้งเป้ากำไรปี 59 ดีกว่าปีก่อนตามมาร์จิ้น เผยโครงการ UHV แล้วเสร็จ Q1/59 หนุนมาร์จิ้นเพิ่ม 1-2 เหรียญฯ/บาร์เรล ตั้งงบลงทุนปี 59 ไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นลบ.
นายสุกฤตย์ สุรบถโสภณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้ากำไรสุทธิปี 59 สูงกว่าปีก่อน แม้อัตรากำไร (มาร์จิ้น) จากโครงการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ (UHV) ของโรงกลั่นน้ำมันอาจจะทำได้น้อยกว่าคาดหลังราคาโพรพิลีนตกต่ำลง แต่ยังเชื่อว่ามาร์จิ้นโดยรวมจะดีขึ้นจากราคาน้ำมันดิบที่ยังต่ำ
ประกอบกับจะมีมาร์จิ้นเพิ่มขึ้นจากโครงการ UHV ที่จะแล้วเสร็จในไตรมาส 1/59 และโครงการ EVEREST ซึ่งเป็นการเพิ่มขีดความสามารถองค์กรในทุกด้านจะเข้ามาในปีนี้ แม้จะมีการหยุดซ่อมบำรุงโรงกลั่นน้ำมันและโรงงานปิโตรเคมี ราว 30 วันในช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค.นี้ก็ตาม
“ปีนี้เราตั้งเป้าว่ากำไรจะพยายามไม่ให้น้อยกว่าปีที่แล้ว โครงการ UHV ที่แล้วเสร็จจะสร้างมาร์จิ้นให้เรา 1-2 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล สถานการณ์ตอนนี้เราต้องทบทวนใหม่ จากก่อนหน้านี้บอกว่าราคาเบนซิน (แก๊สโซลีน) ไม่ค่อยดี แต่ตอนนี้พลิกกลับเบนซินกลับดี กำลังดูใหม่และอาจต้องมีการปรับโหมดในการผลิตด้วยเพื่อทำอย่างไรให้ได้เบนซินเพิ่มมากขึ้น จริงๆเราเคยบอกมาร์จิ้นโครงการ UHV จะทำได้ 2-4 เหรียญฯ แต่ตอนนี้บอกแค่ 1-2 เหรียญฯเท่านั้นเอง เพราะสถานการณืโพรพิลีนไม่ค่อยดี เราต้องรอจนกว่าการขยายโพลีโพรพิลีน(PP) ของเราแล้วเสร็จ”นายสุกฤตย์ กล่าว
สำหรับโครงการ UHV ที่จะแล้วเสร็จจะทำให้โรงกลั่นน้ำมันของบริษัทมีความแข็งแรงขึ้น จากการกลั่นน้ำมันเตามาเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าเพิ่มได้มากขึ้น โดยตามแผนสัดส่วนการผลิตน้ำมันเตาจะลดลงเหลือ 8% จากเดิม 23% เนื่องจากจะเปลี่ยนเป็นโพรพิลีนเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต PP ซึ่งโครงการนี้จะทำให้ได้โพรพิลีนเพิ่มเป็นราว 6% จากเดิมที่มีน้อยมาก
อย่างไรก็ตาม ในส่วนนี้ก็จะได้น้ำมันเบนซินเพิ่มอีกราว 10% ซึ่งจะทำให้ได้ประโยชน์จากมาร์จิ้นของเบนซินที่สูงขึ้นที่คาดว่าจะยังต่อเนื่องในอีก 2-3 ปี เข้ามาชดเชยราคาโพรพิลีนที่น่าจะยังอยู่ในระดับต่ำไปอีก 2-3 ปีเช่นเดียวกัน ซึ่งบริษัทต้องเร่งการขยาย PP ให้แล้วเสร็จในกลางปี 60 เพื่อนำวัตถุดิบโพรพิลีนดังกล่าวมาผลิต PP ที่ยังมีมาร์จิ้นอยู่ในระดับสูง
ทั้งนี้ โครงการ UHV จะทำให้บริษัทสามารถกลั่นน้ำมันมากขึ้นเป็นราว 2 แสนบาร์เรล/วัน ซึ่งเป็นระดับที่ทำกำไรได้ดีที่สุด จากกำลังกลั่นรวมที่ 2.15 แสนบาร์เรล/วัน ขณะที่ระดับการกลั่นปกติที่ทำกำไรได้ดีที่สุดก่อนหน้านี้จะอยู่ที่ราว 1.7-1.8 แสนบาร์เรล/วันเท่านั้น แต่ในปีนี้คาดว่าจะกลั่นน้ำมันได้ในระดับเฉลี่ย 1.9 แสนบาร์เรล/วันเท่านั้น เพราะมีการหยุดซ่อมบำรุงในช่วงปลายปี ซึ่งจะทำให้กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย,ภาษี,ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย(EBITDA) หายไปราว 10% แต่ก็จะได้มาร์จิ้นจากการผลิตของกลุ่ม(GIM)เพิ่มขึ้นมาจากโครงการ UHV ราว 1-2 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และโครงการ EVEREST ราว 1.5 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล
นอกเหนือจากระดับ GIM ปกติที่ในปีนี้คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วเป็นผลจากภาพรวมของธุรกิจปิโตรเคมีและโรงกลั่น ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดีตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังเติบโตมากกว่าปีที่แล้วราว 0.5% ขณะที่เศรษฐกิจของจีนและอินเดียเติบโตในระดับเกิน 6% อีกทั้งราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับต่ำทำให้เกิดความต้องการใช้มากขึ้นด้วย โดยประเมินราคาน้ำมันดิบดูไบปีนี้จะอยู่ที่ราว 40-50 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ขณะที่ผลิตภัณฑ์เบนซินมีแนวโน้มจะขาดแคลน ท่ามกลางความต้องการใช้ที่ขยายตัวอย่างมาก ก็จะผลักดันให้มาร์จิ้นของธุรกิจการกลั่นอยู่ในระดับสูง และมาร์จื้นของธุรกิจปิโตรเคมีก็จะยังอยู่ในระดับสูงเช่นกัน จากวัตถุดิบหลักคือแนฟทา ที่มาจากผลิตภัณฑ์น้ำมันนั้นยังอยู่ในระดับต่ำเช่นเดียวกัน
ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจจีนที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงส่งผลต่อความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีลดลงด้วย ทำให้บริษัทได้ทยอยลดการส่งออกไปจีน และหันมาส่งออกผลิตภัณฑ์ไปยังอาเซียน และตลาดอื่นๆทั่วโลกมาขึ้น ขณะที่ปัจจุบันมีการส่งออกผลิตภัณฑ์ราว 45% ของการผลิต ซึ่งในส่วนนี้เป็นการส่งออกไปจีนราว 40% จากเดิมที่มีการส่งออกไปจีนราว 60% ของการส่งออกทั้งหมด
ทั้งนี้บริษัทกำหนดงบลงทุนในช่วง 5 ปี (ปี 59-63) ที่ราว 2.5 หมื่นล้านบาท โดยจะใช้เงินลงทุนในปีนี้ราว 1 หมื่นล้านบาทเพื่อลงทุนในโครงการต่อเนื่องของ UHV และ โครงการขยายกำลังการผลิต PP อีก 3 แสนตัน/ปี โดยจะยังไม่มีการลงทุนขนาดใหญ่ในช่วง 2 ปีนี้ เพื่อต้องการนำเงินที่ได้จากการลงทุนดังกล่าวไปใช้ชำระคืนเงินกู้เพื่อลดภาระหนี้สินลง เพื่อให้บริษัทมีความแข็งแรงมากขึ้นพร้อมลงทุนในโครงการใหม่ต่อไป จากปัจจุบันมีภาระหนี้สินระยะยาว 5.1-5.2 หมื่นล้านบาท และหนี้สินระยะสั้น 2-3 หมื่นล้านบาท
ส่วนการลงทุนขนาดใหญ่ต่างๆก็จะชะลอออกไปก่อน เช่น โครงการพาราไซลีน (PX) ขนาด 1.8 ล้านตัน/ปี ขณะที่การควบรวมกิจการกับบมจ..พีทีที โกลบอล เคมิคอล(PTTGC) นั้นก็ต้องรอความพร้อมจากทั้งสองฝ่ายจึงจะเริ่มศึกษาร่วมกันว่าจะมี Synergy ร่วมกันได้หรือไม่ ซึ่งหากยังไม่พร้อมทั้งสองฝ่ายก็จะยังไม่มีการศึกษาในเรื่องดังกล่าว
สำหรับโครงการร่วมทุนที่บริษัทมีอยู่ 2 โครงการนั้น ก็มีโอกาสที่จะขยายความร่วมมือเพิ่มเติม โดยในส่วนของโครงการผลิตพลาสติก ABS นั้น กำลังเจรจากับบริษัท นิปปอน เอแอนด์แอล ซึ่งเป็นผู้ร่วมลงทุนในบริษัท ไออาร์พีซี เอแอนด์แอล เพื่อขยายความร่วมมือไปยังอาเซียนมากขึ้น จากเดิมที่มีการขายแค่ในไทย แต่ทางนิปปอนฯต้องการทีจะเพิ่มกำลังการผลิตจาก 5 แสนตัน/ปีเป็นอีกเท่าตัวภายใน 5 ปีเพื่อรองรับความต้องการของอุตสาหกรรมยานยนต์ในอาเซียน แทนที่จะนำ ABS จากโรงงานในญี่ปุ่นซึ่งมีต้นทุนสูงมาจำหน่าย ซึ่งบริษัทพร้อมที่จะให้นิปปอนฯเพิ่มสัดส่วนถือหุ้นเป็น 49% จากเดิมที่ถืออยู่ 35% ในอนาคต
โดยโครงการร่วมทุนอีก 1 โครงการ ซึ่งเป็นการผลิตโพลิออลนั้น บริษัทกำลังเจรจากับ PCC Rokita SA(Poland) ผู้ผลิตโพลิออลชั้นนำ เพื่อให้ช่วยด้านการตลาดและเทคโนโลยี โดยโปแลนด์สนใจที่จะเข้ามาถือหุ้นในโรงงานดังกล่าวราว 50% หรือราว 250 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยผลักดันให้บริษัทสามารถผลิตโพลิออลได้มากขึ้นจากปัจจุบันที่ผลิตได้ไม่มากจากกำลังการผลิตเต็มที่ 2.5 หมื่นตัน/ปี โดยคาดว่าการเจรจาจะสรุปได้ภายในไตรมาส 2/59
สำหรับการลงทุนของบริษัทในระยะต่อไปจะเน้นการผลิตผลิตภัณฑ์เกรดพิเศษ เพิ่มเป็น 60% ในปี 63 จากปัจจุบันที่มีการผลิตอยู่ในระดับ 35% ขณะนี้ โดยจะใช้เงินลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนา (R&D) มากขึ้นในอนาคต
ด้าน นางรัชดาภรณ์ ราชเทวินทร์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายบัญชีและการเงิน IRPC กล่าวว่า ผลการดำเนินงานในไตรมาส 4/58 ของบริษัทยังสามารถทำกำไรสุทธิได้ แม้ว่าจะขาดทุนจากสต็อกผลิตภัณฑ์ราว 2 พันล้านบาท เนื่องจากราคาน้ำมันดิบที่ลดลงในช่วงปลายปีมาที่ 31.65 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ทำให้ทั้งปี 58 จะมีผลขาดทุนสต็อกฯราว 4 พันล้านบาท ขณะที่คาดว่า GIM อยู่ที่ราว 14 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล