จับตา CRC วิ่งต่อ! สะพัด “ซาอุ-เคอริ่ง” เตรียมลงทุน “เซลฟริดเจส”
จับตา CRC ราคาบวกต่อ! รับข่าวกองทุนรัฐบาลซาอุดีอาระเบีย (PIF)” และ “เคอริ่ง” เจ้าของแบรนด์หรูกุชชี่ (Gucci) กำลังสนใจเข้าซื้อกิจการ “เซลฟริดเจส” ปลดล็อกความกังวล! หลัง “ซิกน่า” พันธมิตรร่วมกิจการยื่นล้มละลาย ด้านโบรกแนะซื้อเป้า 40 บาท
เมื่อวันที่ 16 มี.ค. 2567 ที่ผ่านมา เว็บไซต์เดอะ เทเลกราฟ (The Telegraph) สื่อพิมพ์ใหญ่ของอังกฤษ รายงานว่า กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของซาอุดีอาระเบีย (PIF) และบริษัท เคอริ่ง (Kering) เจ้าของแบรนด์กุชชี่ (Gucci) ซึ่งเป็นของมหาเศรษฐีชาวฝรั่งเศสที่ชื่อ ฟร็องซัว ปิโนลต์ (Francois Pinault) กำลังให้ความสนใจเข้าซื้อกิจการเซลฟริดเจส (Selfridges) ห้างสรรพสินค้าหรูในอังกฤษ หลังซิกน่า (Signa) เจ้าของร่วมของเซลฟริดเจส ที่ประสบปัญหาจนต้องยื่นฟื้นฟูกิจการ
โดย The Telegraph รายงานโดยอ้างอิงแหล่งข่าวจากทางการที่ระบุว่า กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของซาอุดีอาระเบีย (PIF) และบริษัท เคอริ่ง (Kering) ยักษ์ใหญ่สินค้าแบรนด์หรู ซึ่งเป็นของมหาเศรษฐีชาวฝรั่งเศสที่ชื่อฟร็องซัว ปิโนลต์ (Francois Pinault) ทั้งสองคนนี้มีการคาดคิดว่าเป็นผู้สนใจในการเข้ามาลงทุนในเซลฟริดเจส
การยื่นฟื้นฟูกิจการของซิกน่า ส่งผลให้การถือครองหุ้นเซลฟริดเจสของซิกน่า พร้อมสำหรับการขาย แต่กระบวนการขายมีความยุ่งยาก เนื่องจากติดปัญหาทางกฎหมายในออสเตรีย นอกจากนี้กลุ่มเซ็นทรัลจากประเทศไทย ในฐานะเจ้าของร่วมในเซลฟริดเจส กำลังมองหาหุ้นส่วนรายใหม่ เนื่องจากอนาคตของซิกน่ายังอยู่ในความไม่แน่นอน
สำหรับกองทุน PIF ถือเป็นหนึ่งในกลุ่มทุนที่สนใจถือครองหุ้นซิกน่า ที่ครอบคลุมแบรนด์ค้าปลีกของเซลฟริดเจส และอสังหาริมทรัพย์บนถนนออกซ์ฟอร์ด โดยมีรายงานเพิ่มเติมว่า ซาอุดีอาระเบียเป็นผู้สนับสนุนทางการเงินภาคเอกชนในการขายเซลฟริดเจสเมื่อ 2 ปีก่อน ซึ่งดำเนินการภายหลังจากการประมูลของตระกูลเวสตัน
การมีส่วนร่วมของซาอุดีอาระเบีย เริ่มขึ้นหลังจากซาอุดีอาระเบียได้จัดหาเงินทุนสำหรับการลงทุนของซิกน่า ดังนั้นซาอุดีอาระเบียจึงถือว่ามีความได้เปรียบ หากมีการแข่งขันประมูลเซลฟริดเจสเกิดขึ้น
โดยช่วงที่ผ่านมาซาอุดีอาระเบียมีการยกระดับการทำข้อตกลงและทุ่มเม็ดเงินลงทุนจำนวนมากในต่างประเทศ รวมถึงอังกฤษ เช่น การเข้าซื้อทีมฟุตบอลนิวคาสเซิลยูไนเต็ด และอื่น ๆ อีกมากมาย
สำหรับบริษัท Kering จดทะเบียนอยู่ในตลาดปารีสของฝรั่งเศส มีมูลค่าอยู่ที่ 5.2 หมื่นล้านยูโร และเป็นเจ้าของกลุ่มแบรนด์สินค้าหรูหลายแบรนด์ รวมทั้งกุชชี่ (Gucci), บาเลนซิเอก้า (Balenciaga), อีฟส์ แซงต์ โลรองต์ (Yves Saint Laurent) and อเล็กซานเดอร์ แม็คควีน (Alexander McQueen) โดย Kering ได้ซื้อพื้นที่ค้าปลีกแบรนด์หรูจำนวนมากขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ โดยเดือน ม.ค. 2567 บริษัทได้ซื้อพื้นที่จำนวน 115,000 ตารางฟุต ในตึก Fifth Avenue ซึ่งเป็นสำนักงานหลักร้านกุชชี่ ในนครนิวยอร์กของสหรัฐฯ มูลค่า 963 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ขณะเดียวกัน The Telegraph รายงานโดยอ้างอิงนายธนาคารรายหนึ่งที่คุ้นเคยกับเรื่องดังกล่าว ที่ได้อธิบายถึงกลุ่มเซ็นทรัลในฐานะที่เป็น “คิง เมกเกอร์” ในกระบวนการขาย โดยกลุ่มที่สนใจเชื่อว่าจะรอคอยผลลัพธ์ที่สมบูรณ์ จากการล้มละลายของซิกน่า ก่อนที่พวกเขาจะประกาศอย่างเป็นทางการ เรื่องความสนใจที่จะเข้าลงทุนซื้อหุ้น ที่มีมูลค่าประมาณ 20,000 ล้านปอนด์ เช่นเดียวกับกลุ่มเซ็นทรัล ที่กำลังเฝ้ารอการแก้ปัญหาของหุ้นส่วนซิกน่า ให้ดำเนินการจนเสร็จสิ้นก่อน
ผู้สื่อข่าวรายงานสำหรับกรณีปัญหาห้างสรรพสินค้าเซลฟริดเจส (Selfridges) ในประเทศอังกฤษ ที่เครือเซ็นทรัล (ในนามบริษัท ห้างเซ็นทรัล ดีพาทเมนท์สโตร์ จำกัด) และกลุ่มซิกน่าโฮลดิ้ง (Signa Holding) จากประเทศออสเตรีย ร่วมทุนเข้าซื้อกิจการห้างสรรพสินค้าเซลฟริดเจส มูลค่ากว่า 180,000 ล้านบาท สัดส่วนลงทุนฝ่ายละ 50% ช่วงปลายปี 2564 ที่ผ่านมา และเมื่อปลายปีที่ผ่านมา กลุ่มซิกน่าประสบปัญหาจนต้องยื่นขอเข้าแผนฟื้นฟูกิจการ ทำให้กลุ่มเซ็นทรัลมีความเสี่ยงอาจต้องใส่เงินลงทุนเพิ่ม หรือต้องหาพันมิตรใหม่เข้ามาทดแทนกลุ่มซิกน่า
โดย Cambridge Properties Holding Limited ซึ่งเป็นเจ้าของห้างสรรพสินค้า Selfridges และเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างกลุ่มเซ็นทรัลและกลุ่มซิกน่า กำลังร้องขอให้กลุ่มเซ็นทรัลเพิ่มเงินลงทุนใน Selfridges หลังจากกลุ่มซิกน่าประสบปัญหาทางการเงินและยื่นขอฟื้นฟูกิจการ เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 2566 ที่ผ่านมา
สำหรับเม็ดเงินลงทุนซื้อกิจการห้างเซลฟริดเจสดังกล่าว กลุ่มเซ็นทรัลมีการใช้เงินกู้จากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL จำนวน 1,700 ล้านปอนด์ (ประมาณ 73,610 ล้านบาท) อัตราดอกเบี้ย 3.5% ต่อปี และ EFG Bank 120 ล้านปอนด์ (ประมาณ 5,200 ล้านบาท) อัตราดอกเบี้ย 2.85% ต่อปี เบื้องต้นพบว่ากลุ่มเซ็นทรัล มีกำหนดจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับ BBL จำนวน 2,500 ล้านบาท ช่วงเดือน ส.ค. 2567
โดยเบื้องต้นกลุ่มเซ็นทรัลต้องมีการเตรียมเงินสด 2,500 ล้านบาท เพื่อจ่ายดอกเบี้ยตามกำหนดข้างต้น และนี่ยังไม่รวมความเสี่ยงว่ากลุ่มเซ็นทรัลอาจต้องใส่เงินลงทุนในห้างเซลฟริดเจสแทนกลุ่มซิกน่าหรือไม่ แต่ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนจากกลุ่มเซ็นทรัลว่าจะมีแนวทางแก้ปัญหาอย่างไร
สำหรับเซลฟริดเจส (Selfridges) เป็นห้างสรรพสินค้าชั้นนำในยุโรป ประกอบด้วย ห้างสรรพสินค้าในอังกฤษ เนเธอร์แลนด์ ไอร์แลนด์รวม 18 แห่ง รวมทั้งอสังหาริมทรัพย์ 7 แห่ง และดิจิทัลแพลตฟอร์มทั้งหมด มีการประเมินเบื้องต้นว่า หากการซื้อกิจการเป็นไปตามแผน จะทำให้ปี 2567 กลุ่มเซ็นทรัลมียอดขายรวม 260,000 ล้านบาท และถือเป็นการสร้างรายได้มหาศาล ทำให้กลุ่มเซ็นทรัลกลายเป็นผู้นำด้านธุรกิจห้างสรรพสินค้าของโลก
อย่างไรก็ดี การเข้าซื้อกิจการเซลฟริดเจส (Selfridges) มิได้เกี่ยวข้องหรือมีภาระผูกพันกับบริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CRC และบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN แต่อย่างใด เพียงแต่ว่าบริษัท ห้างเซ็นทรัล ดีพาทเมนท์สโตร์ จำกัด เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่สุดใน CRC สัดส่วนกว่า 35.06%
ด้านนายกรภัทร วรเชษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) หรือ KCS ระบุว่า สำหรับราคาหุ้น CRC ที่ปรับตัวขึ้นได้นั้น ตอบรับข่าวดังกล่าว โดยห้าง Selfridges ในส่วนของ Signa (ถือหุ้น 50% ในส่วนการบริหารพื้นที่และ 35% ในส่วนการบริหารห้างสรรพสินค้า) ที่ปัญหาทางการเงิน
โดยในเชิงจิตวิทยาการลงทุนหุ้น CRC เพราะคาดการณ์ตลาดจะคลายความกังวลเกี่ยวกับประเด็นเครือเซ็นทรัล (ผู้ถือหุ้นใหญ่ CRC ราว 35%) อาจต้องการแหล่งเงินทุนเพื่อร่วมพยุงกิจการห้างในยุโรปที่เกิดขึ้นช่วงก่อนหน้าได้ โดยคงคำแนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 40 บาท เพราะโมเมนตัมกำไรไตรมาส 1/67 ค่อยๆดีขึ้น ตามทิศทางยอดขายสาขาเดิม (SSSG) ส่วนช่วงที่เหลือปีนี้คาดกำไรปกติจะโตเร่งขึ้นตามการฟื้นตัวของธุรกิจในเวียดนาม
ทั้งนี้ ราคาหุ้นบริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CRC ปิดตลาดวันนี้ (18 มี.ค.67) อยู่ที่ระดับ 37.25 บาท บวก 1.00 บาท หรือ 2.76% สูงสุดที่ระดับ 37.50บาท ต่ำสุดที่ระดับ 36.50 .บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 477.87 ล้านบาท