โบรกชู KBANK-TTB ท็อปพิก! รับสินเชื่อโตแกร่งเดือน ก.พ.
บล.ดาโอ (ประเทศไทย) มีมุมมองบวกต่อหุ้นกลุ่มธนาคาร รับสินเชื่อเดือน ก.พ.67 เพิ่มขึ้น 0.2% เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมาจากสินเชื่อรายใหญ่ และภาครัฐเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้ ชู KBANK-TTB ท็อปพิก! ลุ้นกำไรเติบโตแกร่ง
บริษัทหลักทรัพย์ ดาโอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ระบุในบทวิเคราะห์ (22 มีนาคม 2567) ว่าภาพรวมสินเชื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2567 รวมทั้ง 8 ธนาคารที่ทางฝ่ายวิจัยโคฟเวอร์ อยู่ที่ 10.8 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.2% จากเดือนก่อนหน้า มาจากสินเชื่อรายใหญ่ และภาครัฐเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้ดี ได้แก่ บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB, ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB, บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TISCO, ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL, ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TTB, ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ KKP และธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK
ทั้งนี้ ธนาคารที่มีสินเชื่อเพิ่มขึ้นมากที่สุดจากเดือนก่อนหน้า ได้แก่ SCB, KTB และ TISCO เพิ่มขึ้นเท่ากันที่ เพิ่มขึ้น 0.4% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดย SCB เติบโตมาจากสินเชื่อรายใหญ่ ส่วน KTB เติบโตมาจากสินเชื่อภาครัฐ และ TISCO เพิ่มขึ้นจาก SME ที่เป็น Floor Plan (วงเงินสินเชื่อหมุนเวียนเพื่อใช้ในการสั่งซื้อหรือจัดหารถ) รองลงมาเป็น BBL เพิ่มขึ้น 0.3% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าจากสินเชื่อรายใหญ่และต่างประเทศ
ขณะที่ธนาคารที่มีสินเชื่อเติบโตลดลงที่สุดคือ TTB ลดลง 0.4% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยเป็นไปตามนโยบายที่ต้องการปรับลดสินเชื่อรายใหญ่ลง เพื่อไปปล่อยสินเชื่อรายย่อยที่มีผลตอบแทนที่สูงกว่า ส่วนภาพรวมของเงินฝากในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 อยู่ที่ระดับ 12.3 ล้านล้านบาท ซึ่งทรงตัวเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา
โดยธนาคารที่มีเงินฝากลดลงมากที่สุดคือ KKP ลดลง 2.7% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้ามาจากเงินฝากออมทรัพย์และกระแสรายวัน (CASA) ที่ลดลง อย่างไรก็ตาม เงินฝากประจำยังคงเพิ่มขึ้น ส่วน BBL เพิ่มขึ้นมากที่สุดที่ 0.8% เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมาตามการเติบโตของสินเชื่อ
ขณะเดียวกันฝ่ายวิจัยมีมุมมองเป็นบวกต่อสินเชื่อในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ที่เริ่มกลับมาฟื้นตัวขึ้นได้ 0.2% เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมาจากเดือนมกราคม 2567 ที่ปรับลดลงเหลือ 0.4% เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา โดยการเพิ่มขึ้นมาจากสินเชื่อรายใหญ่ที่เพิ่งเริ่มกลับมาบ้างแล้ว ประกอบกับมีสินเชื่อภาครัฐเข้ามาช่วยหนุน
รวมถึงสินเชื่อ SME ที่เป็น Floor Plan ปรับตัวได้ดีจากใกล้งาน Moter Expo ตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม-2 เมษายน 2567 ขณะที่คาดการณ์ว่าสินเชื่อรายใหญ่และภาครัฐจะกลับมาเร่งตัวได้อย่างโดดเด่นตามการลงทุนของภาครัฐในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 โดยยังคงประมาณการการเติบโตของสินเชื่อรวมทั้งปี 2567 ของกลุ่มไว้ที่ 3% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน ด้าน NPL คาดว่ามีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตามฝ่ายวิจัยเชื่อว่าจะทยอยเพิ่มขึ้นไม่น่ากังวลมากนัก เพราะแต่ละธนาคารมีการตั้งสำรองฯ จำนวนมากมาอย่างต่อเนื่องในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และมีการทยอยขายหนี้เสียออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยคาดการณ์ NPL ในปี 2567 จะอยู่ที่ 3.17% จาก 2.92% ในปี 2566
สำหรับผลดังกล่าวยังคงน้ำหนักกลุ่มธนาคารเป็น “เท่ากับตลาด” เพราะแนวโน้มการเติบโตของกำไรปี 2567 จะเติบโตได้อย่างชะลอตัวเหลือ 5% เมื่อเทียบจากปี 2566 เพิ่มขึ้น 18% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน แต่อย่างไรก็ดีด้าน valuation ยังถูก เทรดที่ระดับเพียง 0.64 เท่าของ PBV โดยทำให้ฝ่ายวิจัยยังเลือก KBANK, TTB เป็นท็อปพิก ขณะที่ SCB, KTB, TISCO และ BBL จะได้รับผลบวกจากสินเชื่อที่เติบโตดีในเดือนกุมภาพันธ์ 2567
นอกจากนี้ประเมิน KBANK ให้ราคาเป้าหมาย 155.00 บาท อิงค่า PBV ในปี 2567 ที่ 0.65 เท่า เป็นผลมาจากคุณภาพของสินทรัพย์ที่ดูดีขึ้น ประกอบกับมี valuation ที่น่าสนใจ โดยปัจจุบันซื้อขายเพียง 0.55 เท่าของ PBV ซึ่งถูกกว่ากลุ่ม PBV ที่ 0.64 เท่า และถูกกว่า SCB อยู่ที่ 0.81 เท่าของ PBV
ขณะที่ TTB ให้ราคาเป้าหมาย 2.10 บาท อิงค่า PBV ปี 2567 ที่ 0.85 เท่า จากแนวโน้มกำไรสุทธิปี 2567 อยู่ที่ 2.1 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 13% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน ซึ่งดีที่สุดในกลุ่มธนาคาร โดยคาดการณ์กำไรไตรมาส 1/2567 จะเพิ่มขึ้นได้ทั้งเมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน และจากไตรมาสก่อนหน้า จากการรุกสินเชื่อรายย่อยที่มีผลตอบแทนสูง ด้านราคาหุ้นปัจจุบันเทรดที่ PBV ที่ 0.79 เท่า และยังมีอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล (Dividend yield) ที่ระดับราว 6%