คัดเทรนด์หุ้นรับประโยชน์ “สงกรานต์” ชูกลุ่ม “ค้าปลีก-โรงแรม-สายการบิน-ปั๊มน้ำมัน”
มหาสงกรานต์ปี 2567 ฟากฝั่งททท.คาดการณ์ว่า ระหว่างวันที่ 12-16 เม.ย. 67 จะมีการเดินทางท่องเที่ยวและจับจ่ายใช้สอยอย่างคึกคัก ส่งผลให้เกิดรายได้รวมประมาณ 24,420 ล้านบาท ดังนั้นธีมหุ้นรับประโยชน์ ชูกลุ่มเด่น “ค้าปลีก-โรงแรม-สายการบิน-ปั๊มน้ำมัน”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สงกรานต์ในประเทศไทยถือว่าได้รับการประกาศจากองค์การ UNESCO ให้ขึ้นทะเบียนเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษย์ชาติ
นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมว.วัฒนธรรม เปิดเผยว่า สำหรับงาน “Maha Songkran World Water Festival 2024 เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2567” สำหรับในปี 2567 จะมีขบวนพาเหรดสงกรานต์ยิ่งใหญ่ นำเสนอวิจิตรตระการตา สะท้อนอัตราลักษณ์วัฒนธรรม Soft Power ไทย บริเวณถนนราชดำเนินกลาง และท้องสนามหลวง ระหว่างวันที่ 11-15 เม.ย. 2567 นี้
โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรมจึงได้สนับสนุนการจัดกิจกรรมสงกรานต์ในกรุงเทพฯ และส่วนภูมิภาค 5 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ขอนแก่น สมุทรปราการ ชลบุรี และภูเก็ต และจัดทำบทเพลงสงกรานต์ 4 ภาษา ได้แก่ ไทย อังกฤษ จีน และฝรั่งเศส เพื่อให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวต่างชาติรับรู้ถึงคุณค่าสาระของประเพณีสงกรานต์ไทย หนุนสร้างพลังสร้างสรรค์ Soft Power ให้สร้างมูลค่าและรายได้กับไทย
ด้านการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คาดการณ์ว่าในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ระหว่างวันที่ 12-16 เม.ย. 2567 จะมีการเดินทางอย่างคึกคักมากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา และคาดว่าจะส่งผลให้เกิดรายได้รวมประมาณ 24,420 ล้านบาท สำหรับตลาดในประเทศ คาดว่าจะมีจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ 4,299,500 คน-ครั้ง และใช้จ่ายสร้างรายได้หมุนเวียน 15,660 ล้านบาท
ขณะที่คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวประเทศไทย 510,000 คน สร้างรายได้ทางการท่องเที่ยวประมาณ 8,760 ล้านบาท เติบโตประมาณ 49 % จากปี 2566
ส่วนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร คาดว่าในช่วงการจัดกิจกรรมจะสร้างรายได้ทางการท่องเที่ยวประมาณ 3,690 ล้านบาท และมีจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย 653,590 คน-ครั้ง
ขณะที่นายกิตติ พรศิวะกิจ โฆษกและประธานฝ่ายประชาสัมพันธ์ สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) และบอร์ดการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในช่วงสงกรานต์ตลอด 21 วัน (ตั้งแต่วันที่ 1-21 เม.ย. 67) จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยไม่ต่ำกว่า 2.5 ล้านคน และทั้งเดือนเม.ย. คาดจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 3.2 ล้านคน
สำหรับไทยเที่ยวไทย คาดตลอดทั้งเดือนเม.ย. มีนักท่องเที่ยวประมาณ 30 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ประมาณ 102,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 18 ล้านคน-ครั้ง หรือ 60% เป็นนักท่องเที่ยวที่พักค้างคืน คาดสร้างรายได้ 90,000 ล้านบาท และอีก 12 ล้านคน-ครั้ง หรือ 40% เป็นนักทัศนาจร (1day trip) คาดสร้างรายได้ 12,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ดีในช่วงเทศกาลสงกรานต์ในปี 2567 คาดการณ์ว่าจะกลับมาคึกคัก ตามหน่วยงานต่างๆ ประเมินไว้ ผลดังกล่าวทาง “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” จึงได้ทำการสำรวจหุ้นที่มีแนวโน้มจะได้รับอานิสงส์จากเทศกาลดังกล่าว ทั้งกลุ่มโรงแรม, สายการบิน, ค้าปลีก, ปั๊มน้ำมัน เป็นต้น
ทั้งนี้เนื่องจากเข้าสู่เทศกาลสงกรานต์ คนจำนวนไม่น้อยออกเดินทาง ไม่ว่าจะกลับภูมิลำเนา หรือเดินทางท่องเที่ยว ส่งผลให้ธุรกิจระหว่างการเดินทางไม่ว่าจะเป็นปั๊มน้ำมันหรือค้าปลีก ต่างได้รับอานิสงส์จากการจับจ่ายช่วงเทศกาลสงกรานต์แบบเต็มๆ และเช่นเดียวกับกลุ่มธุรกิจสายการบินยังคงได้ประโยชน์ต่อเนื่อง
รวมไปถึงกลุ่มโรงแรมในกรุงเทพฯ และจังหวัดต่างๆ ตามที่ทางรัฐบาลรวมถึงภาคเอกชนได้จัดงานเทศกาลสงกรานต์ทำให้นักท่องเที่ยวเข้าไปพักเพิ่มมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นชาวไทยหรือชาวต่างชาติ
ขณะที่เดียวกันบรรดาค้าปลีกต่างๆทั้งห้าสรรพสินค้าและไฮเปอร์มาร์เกต ดิสเคานต์สโตร์ หรือสถานบันเทิงพักผ่อนหย่อนใจ อย่างเช่น โรงหนัง โบว์ลิ่ง ต่างก็งัดกิจกรรม อีเวนท์ที่หลากหลาย รวมไปถึงการลดราคาสินค้าแบบเซลส์โปรโมชั่นกันสุดแรงเหวี่ยง เพื่อหวังดึงดูดให้ประชาชนเข้ามาจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้นเช่นกัน
ดังนั้นจึงได้หยิบยกหรือคัดเลือกหุ้นที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จากช่วงเทศกาลสงกรานต์ อาทิ กลุ่มค้าปลีก ได้แก่ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC, บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CRC, บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL
กลุ่มโรงแรม ได้แก่ บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) หรือ CENTEL, บริษัท ดิ เอราวัณ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ERW, บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT, บริษัท เอส โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ SHR, และบริษัท วีรันดา รีสอร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ VRANDA
กลุ่มสายการบิน ได้แก่ บริษัท วีรันดา รีสอร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ AOT, บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV, บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA
รวมไปถึงกลุ่มเครื่องดื่ม ได้แก่ บริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ICHI, บริษัท ที.เอ.ซี. คอนซูเมอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TACC
อีกทั้งยังมีศูนย์การค้าอย่าง บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN รวมถึงร้านอาหาร อย่าง บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ M และโรงภาพยนตร์อย่าง บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) หรือ MAJOR
พร้อมกับปั๊มน้ำมัน ได้แก่ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR, บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PTG และบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP