พาราสาวะถีอรชุน
บทสรุปของกรธ.ที่ยกเอามาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญที่เป็นปัญหามาโดยตลอดไปไว้ในหมวดอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ อันถือเป็นการเพิ่มอำนาจให้กับองค์กรอิสระแห่งนี้ด้วยเหตุผลว่าจะเป็นองค์กรที่จะช่วยทำให้บ้านเมืองพ้นจากวิกฤติ กรณีที่เกิดความขัดแย้งไม่ลงรอยกันของคนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด คำถามตัวโตก็คือ จะช่วยแก้วิกฤติหรือสร้างปัญหาให้เพิ่มมากขึ้น
บทสรุปของกรธ.ที่ยกเอามาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญที่เป็นปัญหามาโดยตลอดไปไว้ในหมวดอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ อันถือเป็นการเพิ่มอำนาจให้กับองค์กรอิสระแห่งนี้ด้วยเหตุผลว่าจะเป็นองค์กรที่จะช่วยทำให้บ้านเมืองพ้นจากวิกฤติ กรณีที่เกิดความขัดแย้งไม่ลงรอยกันของคนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด คำถามตัวโตก็คือ จะช่วยแก้วิกฤติหรือสร้างปัญหาให้เพิ่มมากขึ้น
ความเป็นจริงที่ต้องยอมรับกันก็คือ บรรทัดฐานขององค์กรอิสระแห่งนี้มันไม่มี ตีความใช้อำนาจแบบมั่วซั่ว สีข้างเข้าถูจนถลอกปอกเปิกไปหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ในยุคของรัฐบาลเทพประทานแก้ไขเรื่องที่มาส.ส.เพื่อให้พรรคการเมืองหนึ่งได้ประโยชน์ทำได้ แต่พอมายุครัฐบาลยิ่งลักษณ์สมาชิกรัฐสภาเข้าชื่อแก้ไขเพื่อให้ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดกลับตีความเป็นการทำลายล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
ยังไม่นับรวมความเห็นอัปยศเรื่องให้ถนนลูกรังหมดไปก่อนค่อยสร้างรถไฟความเร็วสูง อันสะท้อนภาพความเป็นพวกทัศนะคับแคบ ไร้วิสัยทัศน์ เพราะหากโครงการดังกล่าวไม่ได้ช่วยทำให้ประเทศชาติพัฒนาจริง ก็คงต้องไปถาม พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา องค์รัฎฐาธิปัตย์ที่เร่งรัดให้มีการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วปานกลางและสูงจากจีนและญี่ปุ่นอยู่ในเวลานี้
การไร้มาตรฐานและบรรทัดฐานดังกล่าว เกิดจากอคติล้วนๆ เพราะเมื่อมองไปยังบุคคลที่ทำหน้าที่จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่ามีทัศนคติอย่างไรต่อนักการเมืองและพรรคการเมืองที่เป็นเครือข่ายของ ทักษิณ ชินวัตร เมื่อเลือกใช้คนที่มีธงอยู่ในใจแล้ว คงหวังที่จะแสวงหาความเป็นธรรมและยุติธรรมได้ยากเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้น กรณีมาตรา 7 ที่กรธ.ตัดสินใจเช่นนั้น จะเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคต
พูดถึงเรื่องนี้ก็มีกรณีเปรียบเทียบล่าสุดที่รัฐบาลคสช.อนุมัติให้ 8 กระทรวงจัดซื้อยางพาราจากชาวสวนยางในราคาที่สูงกว่าท้องตลาด ถามว่าแล้วต่างจากโครงการรับจำนำข้าวตรงไหน ถ้าเช่นนั้นคงต้องเรียกร้องไปยังป.ป.ช.ให้เข้าไปตรวจสอบด้วย เพราะการซื้อในลักษณะเช่นนี้รัฐบาลขาดทุนเห็นๆเหมือนเช่นที่กล่าวหา ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และคณะรัฐบาลเวลานั้นว่าทำให้รัฐเสียหาย
กลายเป็นว่าสิ่งที่เคยกล่าวหานักการเมืองไว้ก่อนหน้านั้นในวันนี้กลับมาเป็นประเด็นย้อนแย้งในการกระทำของรัฐบาลรัฐประหารแทบจะทั้งสิ้น ไม่เว้นแม้กระทั่งประชานิยมที่เปลี่ยนคำเรียกขานว่าเป็นประชารัฐ แต่ก็ดีกว่ารัฐบาลที่ไปตั้งในค่ายทหารอยู่หน่อย ที่รู้จักปรับเปลี่ยนให้มันดูเนียนตาขึ้นมา ไม่ใช่การไปลอกเขามาทั้งแท่ง
สังคมคนดีหลังล้มรัฐบาลจากการเลือกตั้งได้วุ่นวายกันไม่เลิก ที่เห็นเด่นชัดสุดคือในองคาพยพของสสส. โดยเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาได้มีการประชุมเครือข่ายต่างๆไม่ต่ำกว่า 20 องค์กร ในนามขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชนหรือขสช. เพื่อประเมินผลกระทบจากการที่คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐหรือคตร. เข้ามาตรวจสอบการใช้งบประมาณของกองทุนสสส. ทำให้ภาคีเครือข่ายภาคประชาชน ซึ่งรับเงินสนับสนุนจากสสส.ตกอยู่ในสภาพกลืนไม่เข้าคายไม่ออก
เนื่องจากคตร.มีคำสั่งให้ระงับการอนุมัติโครงการที่วงเงินเกิน 5 ล้านบาท พร้อมทั้งขอกลั่นกรองการเบิกจ่ายงบประมาณเอง เป็นเหตุให้มีไม่ต่ำกว่า 4,000 โครงการได้รับผลกระทบ เจ้าหน้าที่กว่า 1 หมื่นชีวิต ได้รับความเดือดร้อน โดยข้อเรียกร้องจากที่ประชุมขสช.ก็คือหากโครงการที่งบประมาณเกิน 5 ล้านบาทยังถูกแช่แข็งต่อไป จะรวมตัวกันยื่นฟ้องสสส.ต่อศาลปกครอง
อีกประการที่ทำให้ภาคีเครือข่ายเดือดดาลเป็นพิเศษ เป็นการถูกไล่บี้ภาษีย้อนหลังรวมค่าปรับมากกว่า 800 ล้านบาท ท่ามกลางความคลุมเครือของการตีความ“ทำแทน”กับ“รับจ้าง” จนองค์กรต่างๆ ต้องรวมตัวกันเคลื่อนไหว แต่การขยับดังกล่าวก็ทำอะไรได้ไม่มากเนื่องจากมีคำขู่ว่า ถ้าเครือข่ายเคลื่อนไหวใหญ่ อาจทำให้ทหารไม่พอใจ สุดท้ายเขาก็จะล้างบางทั้งหมด
ไม่เพียงเท่านั้นยังมีคำพูดของขาใหญ่ผู้ทรงอิทธิพลในสสส.บอกด้วยว่า เครือข่ายมีสิทธิที่จะเคลื่อนไหว แต่ต้องไม่รุนแรง ต้องไม่ทำให้ทหารโกรธ การพูดในลักษณะเช่นนี้ถูกนำไปตีความว่าเป็นเพราะผู้ใหญ่กลุ่มนี้ ยังมีความเชื่อว่าสามารถต่อสายเคลียร์กับบรรดาบิ๊กทหารทั้งหลายได้ โดยมั่นใจว่าถ้าเคลียร์สำเร็จ จะช่วยให้คตร.ปลดล็อกโครงการเกิน 5 ล้านบาทได้ อันจะเป็นการต่อลมหายใจให้ภาคีเครือข่ายต่างๆต่อไป
อย่างไรก็ตาม ในการประชุมของขสช.นั้น นายแพทย์ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโสได้โผล่มาร่วมแจมด้วย โดยประกาศลั่นว่า การตัดสินใจของคสช.เป็นความผิดพลาดเชิงยุทธศาสตร์ และการบริหารประเทศเป็นเรื่องยาก คสช.ต้องรู้ว่าใครดีใครไม่ดี ใครตั้งใจทำงานเพื่อประเทศที่สำคัญคือต้องรักษามวลชน ทั้งหมดนี้ไม่แน่ใจว่าเป็นการส่งสัญญาณพร้อมชักธงรบหรือแค่ขู่เพื่อเปิดทางให้เกิดการรอมชอม
แต่อย่างที่รู้กันท่วงทำนองอันเป็นการกระทืบเท้าขู่หรือทวงบุญคุณนั้น ดูเหมือนว่าท่านผู้นำจะไม่ค่อยปลื้มเท่าไหร่ มิเช่นนั้น คงไม่เกิดวลี”ใครที่มาประท้วงผมจะไม่ทำตามทั้งนั้น” ด้วยท่าทีดังว่าจึงทำให้คนวงนอกไม่แน่ใจว่า ถนนสายคนดีนั้นผู้คนยังเดินไปในทิศทางเดียวกันอยู่หรือไม่ หรือว่าแตกกระสานซ่านเซ็นไปคนละทิศละทางกันแล้ว
เป็นแนวคิดที่ดีสำหรับสนช.กับการจะตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาเสริมสร้างสังคมสันติสุข โดยเตรียมที่จะดึงตัวแทนกลุ่มความขัดแย้งเข้าร่วมเป็นกรรมาธิการ แต่ที่จะต้องอธิบายกับสังคมให้ได้ก็คือ ในบางกลุ่มเช่นนปช.เท่าที่ปรากฏรายชื่อนั้น คนพวกนี้ไม่ได้มีความเกี่ยวโยงกับองค์กรนปช.ที่ขับเคลื่อนอยู่ในปัจจุบันแล้ว
สรุปให้ชัดก็คือบางคนทิ้งอุดมการณ์หนีเอาตัวรอดเพราะกลัวการถูกคุกคาม บางรายก็ใช้องค์กรแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวเพียงอย่างเดียว จึงต้องสะกิดไปยัง พีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสนช.คนที่สองซึ่งยืนยันหนักแน่นว่าจะมีตัวแทนนปช.เข้าร่วมแน่นอน ช่วยตรวจสอบให้รอบคอบว่าคนที่เชิญมานั้นสถานะในการนำที่แท้จริงเป็นอย่างไร ไม่อยากเห็นภาพทำงานกับแบบสุกเอาเผากินสุดท้ายจะกลายเป็นเสียของสูญเปล่าไปเสียฉิบ