4 หุ้นแบงก์ใหญ่วิ่ง! รับ “กนง.” คงดอกเบี้ย 2.50% ต่อปี

4 หุ้นแบงก์ใหญ่วิ่ง! BBL-KTB-SCB-KBANK รับมติคณะกรรมการนโยบายการเงินมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50% ต่อปี ขณะที่กรรมการ 2 ท่าน เห็นว่าควรปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ต่อปี


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (10 เม.ย.67) สำหรับราคาหุ้นกลุ่มแบงก์ปรับตัวขึ้น ขานรับที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 2.50% ต่อปี มติ 5 ต่อ 2 เป็นการคงอัตราดอกเบี้ย ส่งผลให้ราคากลุ่มแบงก์ปรับตัวขึ้น ณ เวลา 15:06 น. นำโดย ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL ราคาหุ้นอยู่ที่ระดับ 142.50 บาท บวก 1.50 บาท หรือ 1.06% สูงสุดที่ระดับ 143.00 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 140.00 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 740.11 ล้านบาท

ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB ราคาอยู่ที่ระดับ 16.90 บาท บวก 0.10 บาท หรือ 0.60% สูงสุดที่ระดับ 17.00 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 16.70 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 600.97 ล้านบาท

บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ราคาหุ้นอยู่ที่ระดับ 115.50 บาท บวก 0.50 บาท หรือ 0.43% สูงสุดที่ระดับ 115.50 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 114.50 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 712.69 ล้านบาท

ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK ราคาหุ้นอยู่ที่ระดับ 126.00 บาท บวก 0.50 บาท หรือ 0.40% สูงสุดที่ระดับ 126.00 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 124.50 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 971.07 ล้านบาท

ทั้งนี้ นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า วันนี้(10 เม.ย.67) ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 2.50% ต่อปี มติ 5 ต่อ 2 เป็นการคงอัตราดอกเบี้ย และปรับคาดการณ์จีดีพีปี 2567 อยู่ที่ 2.6% และ 2568 อยู่ที่ 3.0%

ขณะที่กรรมการ 2 ท่าน เห็นว่าควรปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ต่อปี เพื่อให้สอดคล้องกับศักยภาพเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่ำลงจากปัจจัยเชิงโครงสร้างที่ชัดเจนขึ้น และจะมีส่วนช่วยบรรเทาภาระของลูกหนี้ได้บ้าง

สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2567 มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่สูงขึ้นจากปีก่อน โดยได้รับแรงสนับสนุนต่อเนื่องจากการบริโภคภาคเอกชนและการท่องเที่ยว รวมทั้งมีแรงส่งจากการใช้จ่ายภาครัฐที่จะกลับมาเพิ่มขึ้นในช่วงที่เหลือของปี ขณะที่ภาคการส่งออกยังมีแรงกดดันจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง ด้านอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำจากปัจจัยด้านอุปทานและมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ โดยมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงปลายปี 2567

Back to top button