AEONTS ‘ต้นทุน – คุณภาพหนี้’ กดดัน
AEONTS ผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อเช่าซื้อ ท่ามกลางสภาวการณ์การปล่อยสินเชื่อชะลอตัวลง
เส้นทางนักลงทุน
มีความกังวลต่อคุณภาพหนี้ของบริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) หรือ AEONTS ผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อเช่าซื้อ ท่ามกลางสภาวการณ์การปล่อยสินเชื่อชะลอตัวลง และปัญหาความสามารถในการผ่อนชำระของลูกหนี้ถดถอย ขณะที่ต้นทุนทางการเงินกลับเพิ่มขึ้น รวมทั้งยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากกฎเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อีกด้วย
คุณภาพสินทรัพย์ของ AEONTS จะได้รับแรงกดดันจากการปรับเพิ่มอัตราการชําระขั้นตํ่าบัตรเครดิตจาก 5% ในปี 2566 สู่ 8% ในปี 2567 และ 10% ในปี 2568
ขณะที่ AEONTS กำลังพยายามลดหนี้ด้อยคุณภาพ (NPL) และต้นทุนความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อ (Credit costs) ด้วยนโยบายการปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดน้อยลง โดยผ่อนคลายเกณฑ์การจัดชั้นลูกหนี้จากค้างชําระ 28 วัน เป็น 30 วัน แต่สิ่งนี้อาจสร้างปัญหาในอนาคตให้เกิดขึ้น เนื่องจากผลขาดทุนทางเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) และการตกชั้นของ NPL อาจจะเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ จะเห็นว่าส่วนต่างความสามารถในการทำกำไร หรือ Spread ของ AEONTS มีโอกาสจะปรับตัวลดลงจากต้นทุนในการกู้ยืม (Cost of funds) สูงขึ้น สวนทางกับผลตอบแทนในการปล่อยสินเชื่อที่ลดลง
ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) จะได้รับแรงกดดันจากต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น และมาตรการแก้หนี้เรื้อรัง (General PD) ของธปท. สําหรับลูกหนี้ที่มีรายได้ไม่เกิน 10,000 บาทต่อเดือน
ตั้งแต่เดือนเมษายน 2567 เป็นต้นไป ลูกหนี้ที่เข้าร่วมมาตรการ PD จะได้รับทางเลือกในการเปลี่ยนสินเชื่อหมุนเวียนมาเป็นแบบมีระยะเวลา (term loan) และคิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 15% ต่อปี (เทียบกับอัตราเพดาน 25%) โดยกําหนดให้การผ่อนชําระปิดจบภายใน 5 ปี ซึ่ง AEONTS คาดว่ามาตรการนี้จะส่งผลกระทบต่อรายได้ดอกเบี้ยของบริษัทราว 4-5 ล้านบาทต่อเดือน แต่ต้นทุนทางการเงินจะเพิ่มขึ้น 0.4-0.6% ในปี 2567/2568 นี้
ผลพวงนี้ส่งสัญญาณจากกำไรของ AEONTS ในงวดปี 2566/2567 ที่ออกมาตกลง 15% จาก 3,815.15 ล้านบาท งวดปีก่อน ร่วงลงสู่ 3,258.79 ล้านบาท ส่วนรายได้รวมลดลง 2% มาที่ 21,965 ล้านบาท เนื่องจากไม่มีรายได้จากการขายลูกหนี้ตัดจำหน่าย
สถานการณ์ปัจจุบัน ธุรกิจสินเชื่อเพื่อการบริโภคยังเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงจากทั้งมาตรการผ่อนปรนการจ่ายชำระขั้นต่ำที่หมดอายุลง รวมถึงทิศทางนโยบายของผู้คุมกฎอย่างธปท. ซึ่งมีเป้าหมายต้องการจำกัดการขยายตัวของสินเชื่อเพื่อการบริโภค ส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก ปัจจัยเหล่านี้กดดันต่อราคาหุ้น AEONTS
หากเจาะไปที่เนื้อในของ AEONTS ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จะเห็นว่าราคาหุ้นของ AEONTS ได้รับผลกระทบอย่างมาก โดยในรอบปี 2565 หุ้น AEONTS มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านราคาติดลบไป 3.45% ขณะที่ในรอบปี 2566 ติดลบอีก 12.09% ส่วนในช่วง 3 เดือนกว่า ๆ ของปี 2567 ที่ผ่านมา (4 มกราคม-11 เมษายน 2567) ตีบวกขึ้นมาได้ 2.18%
มูลค่าการซื้อขายหุ้น AEONTS เฉลี่ยต่อวัน ลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน จากปี 2565 อยู่ที่ 67.27 ล้านบาท หดตัวลดลงเหลือ 54.18 ล้านบาท ในปี 2566 กระทั่งปี 2567 นี้ เฉลี่ยอยู่ที่ 26.21 ล้านบาทต่อวัน
ด้านอัตราปริมาณการซื้อขายหมุนเวียนในอดีตเคยอยู่ที่ 35.65% (ปี 2565) ลดเหลือ 29.17% (ปี 2566) ช่วงนี้ เหลือ 4.77% สะท้อนว่าหุ้น AEONTS ไม่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนเหมือนในอดีต
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นถือเป็นสาเหตุทำให้ความมั่งคั่งของ AEONTS สูญเสียไปหลักหลายพันล้านบาท เป็นการลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปี
โดย ณ สิ้นปี 2565 หุ้น AEONTS มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Cap) อยู่ที่ 4.55 หมื่นล้านบาท ต่อมามูลค่านี้ลดลงเหลือ 4 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นปี 2566 เป็นการสูญเสียความมั่งคั่งไปกว่า 5.5 พันล้านบาท ในรอบ 1 ปี กระทั่งปัจจุบัน (11 เมษายน 2567) มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดของ AEONTS อยู่ที่ระดับ 4.11 หมื่นล้านบาท
- โบรกเกอร์มีมุมมองต่อ AEONTS อย่างไร
บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส ปรับลดประมาณการกำไรปี 2567-2568 เพื่อสะท้อนแนวโน้มที่ไม่สดใส โดยปรับลดประมาณการกำไรสุทธิลง 6% ต่อปี ทั้งจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NII) และรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยสุทธิ (Non-NII) จะลดลง และสัดส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้ (Cost-to-income ratio) จะสูงขึ้น
หากเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้า มองกำไรสุทธิปี 2567/2568 เติบโตขึ้น 7.5% จากการเติบโตของสินเชื่อที่ฟื้นตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มสินเชื่อบุคคลและการเบิกเงินสดจากบัตรเครดิต และ 7.1% ในปี 2568/2569 ปรับลดราคาเป้าหมายปี 2567/2568 ลงเหลือ 164 บาท จาก 169 บาท
บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) มองว่าธุรกิจสินเชื่อเพื่อการบริโภคยังเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงจากทั้งมาตรการผ่อนปรนการจ่ายชำระขั้นต่ำ รวมถึงทิศทางนโยบายของธปท. ขณะที่แนวโน้มผลดำเนินงานยังไม่โดดเด่น ประเมินมูลค่าพื้นฐานปี 2567/2568 ที่ 170 บาท
บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี ระบุว่า AEONTS ถูกกดดันทั้งจากค่าใช้จ่าย ทั้งจากต้นทุนทางการเงิน ไปจนถึงค่าใช้จ่ายทางการตลาดและค่าใช้จ่ายบุคคล ภาพรวมคุณภาพสินทรัพย์ยังคงอ่อนแอ
ปรับกำไรสุทธิลดลง 2 ปีติดต่อกัน โดยปี 2567/2568 ลดลง 2% และปี 2568/2569 ลดลง 2% มาอยู่ที่ 3,264 ล้านบาท และ 3,441 ล้านบาท ตามลำดับ ปรับลดราคาเป้าหมายปีนี้ลงเหลือ 160 บาท จากเดิม 175 บาท
บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) เพิ่มราคาเป้าหมายเป็น 190 บาท จากเดิม 160 บาท เพิ่มประมาณการกำไรปี 2568-2569 ขึ้น 4-7% รายได้จากหนี้สูญได้รับคืนเร็วขึ้น ต้นทุนความเสี่ยงจากการให้สินเชื่อลดลง แต่ NPL จะเพิ่มขึ้นครึ่งแรกปีนี้ เพราะลูกหนี้ต้องจ่ายชำระขั้นต่ำเพิ่มขึ้น
ในวันนี้ บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) หรือ AEONTS กำลังปรับตัว พยายามลดหนี้ด้อยคุณภาพลง ภาพในระยะข้างหน้าจะเป็นอย่างไร รอติดตาม