สรุปปัจจัยสำคัญตลาดทุน-การเงิน-เศรษฐกิจวันนี้

สรุปปัจจัยสำคัญตลาดทุน-การเงิน-เศรษฐกิจประจำวันที่ 13 ม.ค.59


– เงินเยนอยู่ที่ระดับ 118.26/30 เยน/ดอลลาร์ จากช่วงเช้าที่ระดับ 118.22 เยน/ดอลลาร์

– เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.0821/0822 ดอลลาร์/ยูโร จากช่วงเช้าที่ระดับ 1.0816 ดอลลาร์/ยูโร

– ดัชนี SET ปิดวันนี้ที่ระดับ 1,278.61 จุด เพิ่มขึ้น 23.31 จุด หรือ 1.86% มูลค่าการซื้อขาย 59,258.13 ล้านบาท

– สรุปปริมาณการซื้อขายรายกลุ่ม ต่างชาติซื้อสุทธิ 308.37 ล้านบาท (SET+MAI)

 

– นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ในช่วง 3 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2559 (ต.ค.-ธ.ค.58) รัฐบาลจัดเก็บรายได้รวม 581,306 ล้านบาท หรือจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 64,545 ล้านบาท เป็นผลจากการประมูลคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิร์ตซ์ หรือ คลื่น 4G ที่นำส่งรายได้รอบแรก 40,300 ล้านบาท โดยเชื่อว่าการจัดเก็บรายได้ทั้งปีจะยังเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 2.33 ล้านล้านบาท

– กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ตั้งเป้าหมายที่จะมีธุรกิจจัดตั้งใหม่จำนวน 60,000-65,000 ราย ในปี 59 ซึ่งเป็นเป้าท้าทายในการทำงาน แม้จะมีปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจจีนชะลอตัว การก่อร้ายทั่วโลก ความขัดแย้งระหว่างอิหร่านและซาอุดิอาระเบีย ที่จะกระทบต่อการส่งออกของไทย แต่เชื่อว่ามาตรการเร่งรัดก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล มาตรการลดภาษีเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (SMEs) และภาคการท่องเที่ยว

– นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า จากการติดตามสถานการณ์ทิศทางราคาน้ำมันของกระทรวงพลังงาน พบว่า ในช่วงปัจจุบันและจนอาจถึงสื้นไตรมาส 1 ของปี 2559 นี้ ราคาน้ำมันขายปลีกของไทยมีแนวโน้มที่ราคาจะอยู่ในระดับทรงตัว และหากไม่มีกรณีฉุกเฉิน เช่น การเกิดสงครามในกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันอย่างรุนแรง

ซึ่งคาดว่าราคาน้ำมันขายปลีกในไทยอาจยังมีโอกาสที่ราคาปรับตัวลดลงได้เล็กน้อย ทั้งในกลุ่มราคาน้ำมันเบนซิน แก๊สโซฮอล์ และน้ำมันดีเซลซึ่งถือเป็นเชื้อเพลิงสำคัญในภาคขนส่งและต่อภาคอุตสาหกรรม โดยส่วนหนึ่งอาจจะส่งผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการจะกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง แต่จะส่งผลให้ยอดใช้น้ำมันขายปลีกของไทย โดยเฉพาะกลุ่มเบนซิน-แก๊สโซฮอล์ เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

– นายเหลียง ชุน หยิง ผู้ว่าการเขตปกครองพิเศษฮ่องกง กล่าวแถลงนโยบายฉบับที่ 4 ในวันนี้ว่า รัฐบาลแห่งเขตปกครองพิเศษฮ่องกง (SAR) กำลังพิจารณาการสร้างเกาะฮ่องกงให้เป็น “Smart City”

– นายจัสติน ยี่ฟู หลิน ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจจีน และศาสตราจารย์กิตติมศักดิ์ของมหาวิทยาลัยเพคิง ระบุจีนยังคงเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกอย่างต่อเนื่อง เพราะจีนมีโอกาสด้านการลงทุนและทรัพยากรภายในประเทศที่เพียงพอ โดยจะส่งเสริมการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องและเป็นกลไกขับเคลื่อนที่สำคัญของการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก เนื่องจากเศรษฐกิจจีนมีสัดส่วน 14% ของเศรษฐกิจโลกในปี 58 และมีสัดส่วนประมาณ 1 ใน 3 ของอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก

– คณะกรรมการกำกับภาคธนาคารจีน (CBRC) เตรียมหาแนวทางบรรเทาความเสี่ยงภาคการเงินในปี 2559 รวมถึงความพยายามในการควบคุมความเสี่ยงเกี่ยวกับกลไกการกู้ยืม นอกจากนี้ CBRC จะเดินหน้าแก้ปัญหาความเสี่ยงของสินเชื่อที่เกี่ยวข้องกับผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ประสบปัญหาการเงินผ่านทางการทำงานเพื่อป้องกันผลกระทบจากปฏิกิริยาลูกโซ่ของการผิดนัดชำระหนี้และป้องกันการเพิ่มขึ้นของความเสี่ยงทางการเงิน

– สถาบัน Ifo ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยเศรษฐกิจของเยอรมนี, สำนักงานสถิติของฝรั่งเศส (Insee) และสำนักงานสถิติของอิตาลี (Istat) คาดการณ์เศรษฐกิจในเขตยูโรโซนจะยังคงฟื้นตัวปานกลางแม้มีความเสี่ยง โดยสถาบันทั้ง 3 แห่งประเมินว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่แท้จริง (Real GDP) จะขยายตัว 1.5% ในปี 2558 และจะเพิ่มขึ้น 0.4% ในไตรมาส 1 และ 2 ของปีนี้ เทียบกับหลายไตรมาสก่อนหน้า

นอกจากนี้คาดว่าอัตราเงินเฟ้ออาจเพิ่มขึ้นปานกลางและแตะระดับ 0.4% ในไตรมาส 2 ของปีนี้ โดยอิงกับสมมติฐานที่ว่าราคาน้ำมันจะอยู่ที่ 35 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินยูโรและเงินดอลลาร์มีเสถียรภาพที่ 1.08 ดอลลาร์ในหลายไตรมาสข้างหน้า

 

ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์

Back to top button