เช็กลิสต์ “IPO” แกร่งกว่า “SET Index” ปรับลง 331 จุด

เปิด 15 หุ้นราคา “ไอพีโอ” แกร่งกว่าตลาดฯช่วงขาลง ตั้งแต่ต้นปี 66 จนถึงปัจจุบันแตะ 1,359.94 จุด ลดลง 331 จุดหรือ 19.6% พบ COCOCO ราคาปิดบวก “เหนือจอง” มากสุด 131% มูลค่าซื้อขายล่าสุด 459.14 ล้านบาท


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET Index) ปี 2566 ยังถือเป็นภาวะตลาดค่อนข้างผันผวน เพราะในช่วงต้นปี SET Index ยังทำระดับสูงสุดอยู่ที่ 1,691.41 จุด ในวันที่ 10 มกราคม 2566 จากนั้นเริ่มปรับตัวและกลายเป็นเทรนด์ขาลงรอบใหม่อย่างชัดเจนในช่วงปลายปี ก่อนจะปรับตัวลงมา 331.47 จุด หรือลดลง 19.59% สู่ระดับ 1,359.94 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขาย 40,183.94 ล้านบาท (ข้อมูลปิดตลาด ณ วันที่ 26 เม.ย. 67) สาเหตุจากความผันผวนของเศรษฐกิจทั่วโลก อาทิ เงินเฟ้อสหรัฐที่ยังคงสูง ความตึงเครียดสงครามตะวันออกกลาง รวมถึงปัจจัยต่างๆภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการเมือง นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศของภาครัฐที่อาจจะล่าช้า ตลอดจนภาคการส่งออกของไทยเรายังอ่อนแอ ส่งผลให้เป็นสิ่งกดดันต่อดัชนีตลาดหุ้นไทยได้

ทำให้ปี 2566 ถือเป็นปีที่มีความท้าทายสำหรับบริษัทจดทะเบียนที่เข้ามาระดมทุนทั้งในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และตลาด mai ซึ่งมีหลักทรัพย์เข้าทำการเสนอขายหุ้นไอพีโอทั้งสิ้นจำนวน 53 บริษัท มูลค่าการระดมทุนอยู่ที่ 46,366.87 ล้านบาท มูลค่าเสนอขายจำนวน 59,520.99 ล้านบาท และมีมูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคา IPO (ล้านบาท) อยู่ที่ 23,3814.63 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 26 เม.ย. 67)  ซึ่งภายหลังการเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ วันแรก มีทั้งราคาต่ำจองและเหนือจองปะปนกันไป เพื่อแสดงถึงความแข็งแกร่งของหลักทรัพย์ในแต่ละแห่ง

“ข่าวหุ้นออนไลน์” จึงได้ทำการคัดเลือกหลักทรัพย์ที่เสนอขายหุ้นไอพีโอที่มีราคาเติบโตแข็งแกร่งกว่าตลาดในช่วงขาลง โดยมีราคาปิดบวก หรือที่เรียกว่า “เหนือจอง” ตั้งแต่การซื้อขายวันแรกจนถึงราคาปิดล่าสุดได้ (ราคาขายไอพีโอ เทียบกับราคาปิด ณ วันที่ 26 เม.ย. 67) มีทั้งหมด 15 หลักทรัพย์

1. บริษัท มาสเตอร์ สไตล์ จำกัด (มหาชน) หรือ MASTER ได้กำหนดราคาเสนอขายหุ้นสามัญให้กับประชาชนทั่วไป (IPO) จำนวน 65 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 46 บาท รวมเงินระดมทุน 2,300 ล้านบาท โดยเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ในวันที่ 25 มกราคม 2566 ในหมวดธุรกิจบริการ ใช้ชื่อย่อในการซื้อขายคือ “MASTER”

สำหรับ MASTER ประกอบธุรกิจให้บริการโรงพยาบาลด้านศัลยกรรมเสริมความงาม ภายใต้ชื่อ “โรงพยาบาลมาสเตอร์พีช” ที่มีเป้าหมายสู่การเป็นผู้นำศัลยกรรมเสริมความงามครบวงจรของไทย โดยเปิดบริการเสริมความงามด้านการศัลยกรรม เช่น ศัลยกรรมเสริมจมูก, ศัลยกรรมยกคิ้วและกรอบหน้า, ศัลยกรรมหน้าอก, ศัลยกรรมดูดไขมันปรับรูปร่าง, ศัลยกรรมตา, ศัลยกรรมปรับโครงสร้างรูปหน้า เป็นต้น รวมถึงการปลูกผม ดูแลเส้นผม และให้บริการดูแลผิวพรรณและเลเซอร์

เมื่อเทียบกับดัชนีตลาดหุ้นไทยปิดในวันที่หุ้นซื้อขายวันแรกที่ 1,682.11 จุด โดยราคาหุ้น  MASTER ปิดเทรดวันแรกที่ระดับ 69 บาท บวก 23 บาท หรือ 50% สูงสุดที่ระดับ 72.25 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 61.2 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขาย 9.15 ล้านบาท ล้านบาท และราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 18 บาท หรือ 39.13% มาปิดล่าสุดที่ 64 บาท (วันที่ 26 เม.ย. 67) จากราคาเสนอขายหุ้นไอพีโออยู่ที่ 46 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 69.57 ล้านบาท

ทั้งนี้ MASTER มีบริษัท ไพโอเนีย แอดไวเซอรี่ จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน โดยเข้ามาระดมทุนเพื่อสนับสนุนการขยายธุรกิจ เพื่อรองรับปริมาณลูกค้าที่ให้ความไว้วางใจ มีมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง มุ่งสู่ผู้นำโรงพยาบาลศัลยกรรมชั้นนำของไทย

2. บริษัท เมพ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ MEB กำหนดราคาเสนอขายหุ้นต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวน 75,500,000 หุ้น ในราคาหุ้นละ 28.50 บาท มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท รวมเงินระดมทุน 2,151.75 ล้านบาท โดยเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566 ใช้ชื่อย่อในการซื้อขายว่า “MEB” ในกลุ่มอุตสาหกรรมบริการ

สำหรับ MEB ดำเนินธุรกิจจำหน่ายหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-Book) ผ่านเว็บไซต์ www.mebmarket.com และ www.readAwrite.com และแอปพลิเคชัน meb และ readAwrite บนระบบปฏิบัติการต่างๆ นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีธุรกิจอื่นๆ ได้แก่ การจัดจำหน่ายอุปกรณ์อ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-Reader) และธุรกิจให้บริการแพลตฟอร์มระบบห้องสมุดดิจิทัลสำหรับองค์กร (Hibrary) ซึ่งดำเนินงานผ่านบริษัทย่อยของบริษัทฯ ได้แก่ บริษัท ไฮเท็คซ์ อินเตอร์แอคทีฟ จำกัด

เมื่อเทียบกับดัชนีตลาดหุ้นไทยปิดในวันที่หุ้นซื้อขายวันแรกที่ 1,682.11 จุด โดยราคาหุ้น MEB ปิดตลาดวันแรกที่ระดับ 44.25 บาท บวก 15.75 บาท หรือ 55.26% สูงสุดที่ระดับ 49 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 42.25 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 3.06 พันล้านบาท และราคาหุ้นได้ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจำนวน 4 บาท หรือ 14.04% มาปิดล่าสุดที่ 32.50 บาท (วันที่ 26 เม.ย. 67) จากราคาเสนอขายหุ้นไอพีโออยู่ที่ 28.50 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 3.04 ล้านบาท

โดยมีบริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จํากัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน ระดมทุนเพื่อขยายธุรกิจที่อยู่ในแพลตฟอร์มปัจจุบันและธุรกิจใหม่ๆในต่างประเทศ รวมถึงใช้ในการปรับปรุงพัฒนาแพลตฟอร์มปัจจุบันให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้นและเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบกิจการ

3. บริษัท บลูเวนเจอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ BVG ได้กำหนดราคาเสนอขายหุ้นสามัญให้กับประชาชนทั่วไป (IPO) จำนวน 157.50 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 38.50 บาท รวมเงินระดมทุน 346.50 ล้านบาท โดยเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2566 ในหมวดธุรกิจเทคโนโลยีสื่อสารและสารสนเทศ ใช้ชื่อย่อในการซื้อขายคือ “BVG”

สำหรับ BVG ประกอบธุรกิจ Tech Company ที่นำเทคโนโลยีและ Big Data มาใช้พัฒนาเป็นแพลตฟอร์ม ยกระดับมาตรฐานการให้บริการตลอดห่วงโซ่คุณค่าให้แก่ลูกค้าในภาคธุรกิจประกันภัยรถยนต์และประกันสุขภาพ จะมุ่งรักษาความเป็นผู้นำในการให้บริการแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชันสำหรับการบริหารจัดการธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องจากประกันภัยรถยนต์ (ระบบ EMCS) และการให้บริการบริหารจัดการสิทธิประโยชน์ด้านการรักษาพยาบาลและสินไหมทดแทน ผ่านระบบแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชัน (บริการ TPA)

เมื่อเทียบกับดัชนีตลาดหุ้นไทยปิดในวันที่หุ้นซื้อขายวันแรกที่ 1,651.67 จุด โดยราคาหุ้น BVG ปิดตลาดวันแรกที่ระดับ 6.50 บาท บวก 2.65 บาท หรือ 68.83% สูงสุดที่ระดับ 6.50 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 5.10 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 2,583.35 ล้านบาทและราคาหุ้นได้ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจำนวน 0.97 บาท หรือ 25.19% มาปิดล่าสุดที่ 4.82 บาท (วันที่ 26 เม.ย. 67)  จากราคาเสนอขายหุ้นไอพีโออยู่ที่ 35.50 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 1.49 ล้านบาท

โดยมีบริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ที่ปรึกษาทางการเงิน ระดมทุนเพื่อพัฒนาระบบ AI และระบบสารสนเทศ เพื่อต่อยอดธุรกิจและการขยายธุรกิจไปยังกลุ่มประเทศในอาเซียน ส่วนที่เหลือจะนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานต่อไป

4. บริษัท เรดดี้แพลนเน็ต จำกัด (มหาชน) หรือ READY ได้กำหนดราคาเสนอขายหุ้นสามัญให้กับประชาชนทั่วไป (IPO) จำนวน 35,000,000 หุ้น ในราคาหุ้นละ 7.30 บาท มูลค่าที่ตราไว้ (Par) 0.50 บาทต่อหุ้น รวมเงินระดมทุน 109.50 ล้านบาท โดยเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 ในหมวดธุรกิจเทคโนโลยีสื่อสารและสารสนเทศ ใช้ชื่อย่อในการซื้อขายคือ “READY”

สำหรับ READY คือผู้ให้บริการแพลตฟอร์มการขายและการตลาดดิจิทัลแบบรวมเป็นหนึ่งเดียว หรือ Readyplanet All-in-One Platform ที่ครอบคลุมด้านเว็บไซต์ (Website), โฆษณาออนไลน์ , ระบบบริหารความสัมพันธ์ลูกค้า (CRM) และ ระบบจองโรงแรมโดยตรง (Hotel Direct Booking) โดยให้บริการผ่านแพลตฟอร์มที่บริษัทเป็นผู้พัฒนาขึ้นเอง

เมื่อเทียบกับดัชนีตลาดหุ้นไทยปิดในวันที่หุ้นซื้อขายวันแรกที่ 1,659.48 จุด โดยราคาหุ้น READY ปิดเทรดวันแรกที่ระดับ 15 บาท บวก 7.70 บาท หรือ 105.48% สูงสุดที่ระดับ 16 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 10.40 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 2.03 พันล้านบาทและราคาหุ้นได้ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจำนวน 2.65 บาท หรือ 36.30% มาปิดล่าสุดที่ 9.95 บาท (วันที่ 26 เม.ย. 67)  จากราคาเสนอขายหุ้นไอพีโออยู่ที่ 7.30 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 0.19 ล้านบาท

 โดยมีบริษัท เซจ แคปปิตอล จำกัดเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน ระดมทุนเพื่อพัฒนาซอฟต์แวร์ และขยายทีม หนุนการเติบโตแบบไร้ขีดจำกัด

5. บริษัท เคซีจี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KCG ได้กำหนดราคาเสนอขายหุ้นสามัญให้กับประชาชนทั่วไป (IPO) จำนวน 155 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 8.50 บาท มูลค่าที่ตราไว้ (Par) 1 บาทต่อหุ้น รวมเงินระดมทุน 1,317.50 ล้านบาท โดยเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในวันที่ 03 สิงหาคม 2566 ในหมวดธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ใช้ชื่อย่อในการซื้อขายคือ “KCG”

โดย KCG ป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เพื่อการบริโภค ซึ่งเน้นผลิตภัณฑ์ประเภทอาหารและขนมตะวันตก (Western foods) โดยมี 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์หลัก ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม (Dairy Products) กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับการประกอบอาหารและเบเกอรี่ (Food and Bakery Ingredients) และผลิตภัณฑ์อื่นๆ และกลุ่มผลิตภัณฑ์บิสกิต (Biscuits)

เมื่อเทียบกับดัชนีตลาดหุ้นไทยปิดในวันที่หุ้นซื้อขายวันแรกที่ 1,529.01 จุด โดยราคาหุ้น KCG ปิดเทรดวันแรกที่ระดับ 8.30 บาท ลบ 0.20 บาท หรือ 2.35% สูงสุดที่ระดับ 8.90 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 7.90 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 1,481.49 ล้านบาทราคาหุ้นได้พลิกปรับตัวขึ้นมาจำนวน 1.70 บาท หรือ 20% มาปิดล่าสุดที่ 10.20 บาท (วันที่ 26 เม.ย. 67) จากราคาเสนอขายหุ้นไอพีโออยู่ที่ 8.50 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 33.05 ล้านบาท

โดยมีบริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน ระดมทุนเพื่อใช้ขยายกำลังการผลิต รวมถึงเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจตามกลยุทธ์ของบริษัทฯ

6. บริษัท เจเนซีส เฟอร์ทิลีตี เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ GFC ได้กำหนดราคาเสนอขายหุ้นสามัญให้กับประชาชนทั่วไป (IPO) จำนวน 60,000,000 หุ้น ในราคาหุ้นละ 7.00 บาท รวมเงินระดมทุน 420 ล้านบาท โดยเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ในวันที่ 13 กันยายน 2566 ในหมวดธุรกิจบริการ ใช้ชื่อย่อในการซื้อขาย “GFC”

ทั้งนี้ GFC เป็นหนึ่งในผู้นำด้านการให้บริการทางการแพทย์ สำหรับผู้มีปัญหามีบุตรยากด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ของประเทศไทย ตั้งแต่ให้คำแนะนำและคำปรึกษา ลอดจนการเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมโดยทีมแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ผู้ชำนาญการที่มีประสบการณ์ด้านเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ โดยมีบริษัทย่อยคือ บริษัท จีโนโซมิกส์ จำกัด (GSM) และ บริษัท จีเอฟซี เฟอร์ทิลีตี กรุ๊ป จำกัด (GFCFG)

เมื่อเทียบกับดัชนีตลาดหุ้นไทยปิดในวันที่หุ้นซื้อขายวันแรกที่ 1,535.31 จุด โดยราคาหุ้น GFC ปิดเทรดวันแรกที่ระดับ 10.50 บาท บวก 3.50 บาท หรือ 50% สูงสุดที่ระดับ 10.90 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 9.05 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 2 พันล้านบาท และราคาหุ้นได้ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจำนวน 3.60 บาท หรือ 51.43% มาปิดล่าสุดที่ 10.60 บาท (วันที่ 26 เม.ย. 67) จากราคาเสนอขายหุ้นไอพีโออยู่ที่ 7.00 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 3.03 ล้านบาท

โดยมีบริษัท แคปปิตอล วัน พาร์ทเนอร์ จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน ระดมทุนเพื่อนำเงินมาใช้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องและโอกาสในธุรกิจใหม่ๆ ในอนาคต และเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ

7. บริษัท ไทย โคโคนัท จำกัด (มหาชน) หรือ COCOCO ได้กำหนดราคาเสนอขายหุ้นสามัญให้กับประชาชนทั่วไป (IPO) จำนวน 370 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 5.50 บาท มีมูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท รวมเงินระดมทุน 2,035 ล้านบาท เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) วันที่ 14 กันยายน 2566 ในหมวดธุรกิจ (Sector) อาหารและเครื่องดื่ม และใช้ชื่อย่อในการซื้อขาย “COCOCO”

โดย COCOCO ประกอบธุรกิจผลิต-จำหน่าย และส่งออกผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมะพร้าวรายใหญ่ของไทย ช่น กะทิบรรจุกระป๋อง กะทิบรรจุกล่องยูเอชที (UHT) กะทิพาสเจอร์ไรส์ น้ำมะพร้าวบรรจุกระป๋อง น้ำมะพร้าวกล่องยูเอชที (UHT) น้ำมะพร้าวพาสเจอรไรส์ ขนมมะพร้าว และอาหารสำเร็จรูป ภายใต้ตราสินค้า Thaicoco และ Cocoburi

เมื่อเทียบกับดัชนีตลาดหุ้นไทยปิดในวันที่หุ้นซื้อขายวันแรกที่ 1,545.14 จุด โดยราคาหุ้น COCOCO ปิดเทรดวันแรกอยู่ที่ระดับ 7.90 บาท บวก 2.40 บาท หรือเพิ่มขึ้น 43.64% ราคาสูงสุดที่ระดับ 8.40 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 7.70 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 3,080.30 ล้านบาท และราคาหุ้นได้ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจำนวน 7.20 บาท หรือ 130.91% มาปิดล่าสุดที่ 12.70 บาท (วันที่ 26 เม.ย. 67) จากราคาเสนอขายหุ้นไอพีโออยู่ที่ 5.50 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 459.14 ล้านบาท

โดยมีบริษัท ฟิน พลัส แอดไวเซอรี่ จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน ระดมทุนเพื่อขยายกำลังการผลิต ผลิตภัณฑ์จากมะพร้าว COCOCO โดยซื้อเครื่องจักรและอุปกรณ์เพื่อผลิตน้ำมะพร้าว รวมถึงขยายคลังสินค้าเพื่อรองรับการจัดเก็บผลิตภัณฑ์น้ำมะพร้าว นอกจากนี้ ยังซื้อเครื่องจักรและอุปกรณ์เพื่อขยายประเภทสินค้าในผลิตภัณฑ์ขนมกินเล่นสัตว์ นอกจากนี้ ยังซื้อเครื่องจักรและอุปกรณ์เพื่อขยายประเภทสินค้าในผลิตภัณฑ์ขนมกินเล่นของสุนัขและแมว รวมถึงซื้อเครื่องจักรและอุปกรณ์เพื่อขยายประเภทสินค้าในไอศรีม

8. บริษัท เจนก้องไกล จำกัด (มหาชน) หรือ JPARK ได้กำหนดราคาเสนอขายหุ้นสามัญให้กับประชาชนทั่วไป (IPO) จำนวน 110 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 3.80 มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท รวมเงินระดมทุน 418 ล้านบาท เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) วันที่ 3 ตุลาคม 2566 ในหมวดธุรกิจบริการ และใช้ชื่อย่อในการซื้อขาย “JPARK”

สำหรับ JPARK ให้บริการที่เกี่ยวข้องกับการบริหารพื้นที่จอดรถ โดยแบ่งเป็น 3 ธุรกิจหลักคือ 1.ธุรกิจให้บริการที่จอดรถ (Parking Service Business: PS) 2.ธุรกิจรับจ้างบริหารจัดการพื้นที่จอดรถ (Parking Management Service Business: PMS) และ 3.ธุรกิจให้คำปรึกษา และรับติดตั้งระบบบริหารจัดการพื้นที่จอดรถ (Consultant and Installation Parking System Business: CIPS)

เมื่อเทียบกับดัชนีตลาดหุ้นไทยปิดในวันที่หุ้นซื้อขายวันแรกที่ 1,447.30 จุด โดยราคาหุ้น  JPARK ปิดเทรดวันแรกอยู่ที่ระดับ 4.66 บาท บวก 0.86 บาท หรือเพิ่มขึ้น 22.63% ราคาสูงสุดที่ระดับ 5.35 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 5.44 บาท และราคาหุ้นได้ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจำนวน 2.10 บาท หรือ 55.26% มาปิดล่าสุดที่ 5.90 บาท (วันที่ 26 เม.ย. 67) จากราคาเสนอขายหุ้นไอพีโออยู่ที่ 3.80 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 13.54 ล้านบาท

โดยมีบริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ จำกัด หรือ APM ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน ระดมทุนเพื่อขยายโครงการอาคารจอดรถและใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ

9. บริษัท ธนจิรา รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TAN ได้กำหนดราคาเสนอขายหุ้นสามัญให้กับประชาชนทั่วไป (IPO) จำนวน 77.50 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 16.50 มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1.00 บาท รวมเงินระดมทุน 1,278.50 ล้านบาท เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) วันที่ 18 ตุลาคม 2566 ในหมวดธุรกิจบริการ และใช้ชื่อย่อในการซื้อขาย “TAN”

โดย TAN เป็นผู้ฝห้บริการค้าปลีกสินค้าไลฟ์สไตล์และแฟชั่น อาทิ สินค้าแบรนด์แพนดอร่า (Pandora) เครื่องประดับเงินชั้นนำจากประเทศเดนมาร์ก, แบรนด์มารีเมกโกะ (Marimekko) สินค้าไลฟ์สไตล์ที่โดดเด่นด้านลายพิมพ์และสีสันจากประเทศฟินแลนด์ และแบรนด์แคท คิดสตัน (Cath Kidston) สินค้าไลฟ์สไตล์กลิ่นอายโมเดิร์นวินเทจจากประเทศอังกฤษ รวมถึงการนำเข้าและจัดจำหน่ายแบรนด์ Cath Kidston ในประเทศเวียดนาม

นอกจากนี้ กลุ่มบริษัท ยังเป็นเจ้าของแบรนด์ในกลุ่มหาญ (HARNN) และธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม ภายใต้ชื่อ Marimekko pop-up cafe และ Cath Kidston Tearoom

เมื่อเทียบกับดัชนีตลาดหุ้นไทยปิดในวันที่หุ้นซื้อขายวันแรกที่ 1,437.85 จุด โดยราคาหุ้น TAN ปิดเทรดวันแรกที่ 16.40 บาท ลดลง 0.10 บาท หรือลดลง 0.61% ราคาสูงสุด 17.40 บาท ราคาต่ำสุด 14.00 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 2,244.66 ล้านบาทอย่างไรก็ตาม ราคาหุ้นได้พลิกปรับตัวขึ้นจำนวน 0.10 บาท หรือ 0.61% มาปิดล่าสุดที่ 16.60 บาท (วันที่ 26 เม.ย. 67) จากราคาเสนอขายหุ้นไอพีโออยู่ที่ 16.50 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 24.61 ล้านบาท

โดยมีบริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน ระดมทุนเพื่อขยายระบบนิเวศทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง สร้างการเติบโตให้แก่แบรนด์ภายใต้พอร์ตโฟลิโอและต่อยอดสู่กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง รวมทั้งการเพิ่มแบรนด์สินค้าใหม่

10. บริษัท เซฟ เฟอร์ทิลิตี้ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ SAFE ได้กำหนดราคาเสนอขายหุ้นสามัญให้กับประชาชนทั่วไป (IPO) จำนวน 76,748,600 หุ้น ในราคาหุ้นละ 21 บาท มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 1 บาท รวมเงินระดมทุน 502.90 ล้านบาท เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) วันที่ 2 พฤษจิกายน 2566 ในหมวดธุรกิจการแพทย์ และใช้ชื่อย่อในการซื้อขาย “SAFE”

สำหรับ SAFE ประกอบธุรกิจ ให้บริการด้านการรักษาผู้มีบุตรยากด้วยเทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ ตั้งแต่ให้คำแนะนำและคำปรึกษาตลอดจนติดตามผลการปฏิบัติการโดยผู้ดูแลลูกค้าส่วนบุคคล(personal assistant) โดยใช้เทคโนโลยีที่นำสมัย มีมาตรฐานและความปลอดภัย

เมื่อเทียบกับดัชนีตลาดหุ้นไทยปิดในวันที่หุ้นซื้อขายวันแรกที่ 1,403.99 จุด โดยราคาหุ้น SAFE ปิดเทรดวันแรกอยู่ที่ระดับ 17.80 บาท ลบ 3.20 บาท ลดลง 15.24% ราคาสูงสุดที่ระดับ 18.60 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 15.80 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 866.23 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ราคาหุ้นได้พลิกปรับตัวขึ้นจำนวน 2 บาท หรือ 9.52% มาปิดล่าสุดที่ 23 บาท (วันที่ 26 เม.ย. 67) จากราคาเสนอขายหุ้นไอพีโออยู่ที่ 21 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 53.58 ล้านบาท

โดยมีบริษัท ออพท์เอเชีย แคปิตอล จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน ระดมทุนเพื่อนำเงินมาลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องและสร้างโอกาสในการขยายธุรกิจในอนาคต ลงทุนขยายสาขา และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในธุรกิจ

11. บริษัท แอดไวซ์ ไอที อินฟินิท จำกัด (มหาชน) หรือ ADVICE ได้กำหนดราคาเสนอขายหุ้นสามัญให้กับประชาชนทั่วไป (IPO) จำนวน 170 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 3.24 บาท มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท รวมเงินระดมทุน 550.80 ล้านบาท ข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) วันที่ 31 มกราคม 2567 ในหมวดธุรกิจกลุ่มธุรกิจบริการ/พาณิชย์ และใช้ชื่อย่อในการซื้อขาย “ADVICE”

ทั้งนี้ ADVICE เป็นผู้ค้าปลีก และ ค้าส่ง สินค้าไอทีรายใหญ่ ของประเทศ ประกอบธุรกิจจำหน่าย ปลีก-ส่ง สินค้าและให้บริการด้าน ไอทีแบบครบวงจร บริษัทฯ จำหน่ายสินค้าไอทีที่มีความหลากหลายตั้งแต่ คอมพิวเตอร์ประกอบ (D.I.Y) คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค (Notebook) คอมพิวเตอร์เดสก์ท็อป (Desktop) และ อุปกรณ์ต่อพ่วงต่างๆ รวมถึงสินค้ากลุ่มดิจิทัลไลฟ์สไตล์

เมื่อเทียบกับดัชนีตลาดหุ้นไทยปิดในวันที่หุ้นซื้อขายวันแรกที่ 1,364.52 จุด โดยราคาหุ้น ADVICE ปิดเทรดวันแรกที่ระดับ 5.25 บาท บวก 2.01 บาท หรือ 62.04% สูงสุดที่ระดับ 6.20 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 4.54 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 2.68 พันล้านบาทและ ราคาหุ้นได้ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจำนวน 0.88 บาท หรือ 27.16% มาปิดล่าสุดที่ 4.12 บาท (วันที่ 26 เม.ย. 67) จากราคาเสนอขายหุ้นไอพีโออยู่ที่ 3.24 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 17.07 ล้านบาท

 โดยมี บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน ระดมทุนเพื่อการลงทุนขยายธุรกิจของบริษัท ซึ่งรวมถึงการขยายสาขาและการปรับปรุงสาขาเดิมของบริษัทฯ , ชำระคืนเงินกู้ยืมสถาบันการเงิน, เป็นเงินทุนหมุนเวียนในธุรกิจ ตลอดจนลงทุนปรับปรุงระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ

12. บริษัท แบงคอกจีโนมิกส์อินโนเวชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BKGI ได้กำหนดราคาเสนอขายหุ้นสามัญให้กับประชาชนทั่วไป (IPO) จำนวน 160,000,000 หุ้น ในราคาหุ้นละ 1.63 บาท มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท รวมเงินระดมทุน 260.80 ล้านบาท เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) วันที่ 20 มีนาคม 2567 ในหมวดธุรกิจบริการและการแพทย์และใช้ชื่อย่อในการซื้อขาย “BKGI”

โดย BKGI ดำเนินธุรกิจห้องปฏิบัติการ และให้บริการตรวจวิเคราะห์ทางการแพทย์ เริ่มต้นจากการให้บริการตรวจคัดกรองความผิดปกติของโครโมโซมทารกในครรภ์จากเลือดมารดาด้วยวิธี Non-Invasive Prenatal Testing (NIPT) ภายใต้แบรนด์ NIFTY และขยายขอบข่ายให้บริการตรวจวิเคราะห์อย่างครบวงจรที่เกี่ยวข้องกับพันธุกรรม รวมถึงการตรวจหามะเร็ง

เมื่อเทียบกับดัชนีตลาดหุ้นไทยปิดในวันที่หุ้นซื้อขายวันแรกที่ 1,373.18 จุด โดยราคาหุ้น BKGI ปิดเทรดวันแรกที่ระดับ 4.40 บาท บวก 2.77 บาท หรือ 169.94% สูงสุดที่ระดับ 4.40 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 2.14 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 3.23 พันล้านบาท และราคาหุ้นได้ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจำนวน 1.55 บาท หรือ 95.09% มาปิดล่าสุดที่ 3.18 บาท (วันที่ 26 เม.ย. 67) จากราคาเสนอขายหุ้นไอพีโออยู่ที่ 1.63 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 287.66 ล้านบาท

โดยมีบริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน ระดมทุนเพื่อขยายธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์จีโนมิกส์ (Genomics) ที่ช่วยสนับสนุนผลงานและกำไรให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง

13. บริษัท เอเชียนน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน) หรือ APO ได้กำหนดราคาเสนอขายหุ้นสามัญให้กับประชาชนทั่วไป (IPO) จำนวน 100 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 0.99 บาท มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท บาท รวมเงินระดมทุน 99 ล้านบาท เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) วันที่ 2 เมษายน 2567 ในหมวดธุรกิจเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร (AGRO) โดยใช้ชื่อย่อในการซื้อขายหลักทรัพย์ว่า “APO”

โดย APO ธุรกิจสกัดน้ำมันปาล์มดิบเพื่อจำหน่ายให้แก่กลุ่มโรงกลั่นน้ำมันปาล์มดิบในประเทศเป็นส่วนใหญ่ มีโรงงานตั้งอยู่ที่อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่

เมื่อเทียบกับดัชนีตลาดหุ้นไทยปิดในวันที่หุ้นซื้อขายวันแรกที่ 1,379.46 จุด โดยราคาหุ้น APO ปิดตลาดวันแรกที่ระดับ 2.12 บาท บวก 1.13 บาท หรือ 114.14% ราคาสูงสุดที่ระดับ 2.86 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 1.74 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 2,565.43 ล้านบาท และราคาหุ้นได้ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจำนวน 0.84 บาท หรือ 84.85% มาปิดล่าสุดที่ 1.83 บาท (วันที่ 26 เม.ย. 67) จากราคาเสนอขายหุ้นไอพีโออยู่ที่ 0.99 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 48.38 ล้านบาท

โดยมีบริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ จำกัด หรือ APM ในฐานะที่ปรึกษาการเงิน ระดมทุนเพื่อนำเงินมาปรับปรุงกระบวนการผลิต เปลี่ยนเครื่องจักรหม้อนึ่งจากแนวนอนเป็นแนวตั้ง เพิ่มประสิทธิภาพระบบการผลิตน้ำมันปาล์ม เพื่อให้ได้น้ำมันที่มีคุณภาพดี และลดต้นทุนนระบบผลิตน้ำมันปาล์ม ส่วนเงินระดมทุนที่เหลือจะเป็นเงินทุนหมุนเวียนสำหรับขยายธุรกิจในอนาคต

14. บริษัท บีพีเอส เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ BPS ได้กำหนดราคาเสนอขายหุ้นสามัญให้กับประชาชนทั่วไป (IPO) จำนวน 120,000,000 หุ้น ในราคาหุ้นละ 0.90 บาท มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท รวมเงินระดมทุน 108 ล้านบาท เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) วันที่ 3 เมษายน 2567 ในหมวดธุรกิจธุรกิจวัสดุอุตสาหกรรมและเครื่องจักร โดยใช้ชื่อย่อในการซื้อขายหลักทรัพย์ว่า “BPS”

โดย BPS ธุรกิจเป็นผู้จำหน่ายอุปกรณ์เชื่อมต่อไฟฟ้าภายในอาคาร ที่ครอบคลุมทั้งท่อร้อยสายไฟและอุปกรณ์ต่อสาย สายไฟ สวิตซ์ไฟ ปลั๊ก เบรคเกอร์ สายล่อฟ้า สินค้าเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง และอุปกรณ์โซลาร์เซล รวมถึงบริการจัดหา ออกแบบ ติดตั้ง โครงการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์บนหลังคา รวมทั้งสินค้าเทคโนโลยีและการสื่อสาร

เมื่อเทียบกับดัชนีตลาดหุ้นไทยปิดในวันที่หุ้นซื้อขายวันแรกที่ 1,375.69 จุด โดยราคาหุ้น BPS ปิดเทรดวันแรกที่ระดับ 1.23 บาท บวก 0.33 บาท หรือ 36.67% สูงสุดที่ระดับ 2.20 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 1.20 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 1.85 พันล้านบาทและราคาหุ้นได้ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจำนวน 0.03 บาท หรือ 3.33% มาปิดล่าสุดที่ 0.93 บาท (วันที่ 26 เม.ย. 67) จากราคาเสนอขายหุ้นไอพีโออยู่ที่ 0.90 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 13.58 ล้านบาท

โดยมีบริษัทหลักทรัพย์ ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน  ระดมทุนเพื่อนำเงินมาโครงการขยายธุรกิจการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา (Solar rooftop), ขยายการขายหรือการบริการติดตั้งระบบไฟฟ้า Solar Rooftop

15. บริษัท นีโอ คอร์ปอเรท จำกัด (มหาชน) หรือ NEO ได้กำหนดราคาเสนอขายหุ้นสามัญให้กับประชาชนทั่วไป (IPO) จำนวน 87,500,000 หุ้น ในราคาหุ้นละ 39 บาท มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท รวมเงินระดมทุน 3,042 ล้านบาท เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) วันที่ 9 เมษายน 2567 ในหมวดธุรกิจธุรกิจหมวดธุรกิจของใช้ส่วนตัวและเวชภัณฑ์ โดยใช้ชื่อย่อในการซื้อขายหลักทรัพย์ว่า “NEO”

สำหรับ NEO ประกอบธุรกิจทำการตลาด ผลิต และจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภค (Consumer Products) ซึ่งประกอบด้วย กลุ่มผลิตภัณฑ์ของใช้ในครัวเรือน (Household Products) ผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนบุคคล (Personal Care Products) และกลุ่มผลิตภัณฑ์ของใช้สำหรับเด็ก (Baby and Kids Products)

เมื่อเทียบกับดัชนีตลาดหุ้นไทยปิดในวันที่หุ้นซื้อขายวันแรกที่ 1,401.11 จุด โดยราคาหุ้น NEO ปิดตลาดวันแรกที่ระดับ 46.25 บาท บวก 7.25 บาท หรือ 18.59% ราคาสูงสุดที่ระดับ 48.50 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 42.75 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 3,518.20 ล้านบาท และราคาหุ้นได้ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจำนวน 4.25 บาท หรือ 10.90% มาปิดล่าสุดที่ 43.25 บาท (วันที่ 26 เม.ย. 67) จากราคาเสนอขายหุ้นไอพีโออยู่ที่ 39 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 81.40 ล้านบาท

โดยมีบริษัท หลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน ระดมทุนเพื่อนำเงินมาใช้โครงการขยายกำลังการผลิตสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์ของใช้ในครัวเรือน (Household Products) ซึ่งรวมถึงการขยายคลังวัตถุดิบ บรรจุภัณฑ์ และระบบบริหารจัดการคลังชำระคืนเงินกู้ที่มีกับสถาบันการเงิน รวมทั้งใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าหลักทรัพย์ทั้ง 15 แห่งล้วนมีราคาปิด ( ณ วันที่ 26 เม.ย. 67 ) ยังสามารถยืนเหนือจองในที่ตลาดปรับตัวลงมาอยู่ในระดับ 1,359.94 จุด หากพูดง่ายๆ หุ้น IPO ทั้ง 15 บริษัท ยังอยู่ในความสนใจของนักลงทุนที่มองเห็นทิศทางการเติบโต และเชื่อมั่นว่าบริษัททั้ง 15 แห่งยังสามารถเดินหน้าต่อไป แม้สภาวะตลาดทุนไทยจะปรับตัวลงมาถึงจุดต่ำสุดก็ตาม

Back to top button