ดิจิทัลวอลเล็ต จุดยืนที่แตกต่าง
ภายหลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 23 เม.ย.2567 เห็นชอบในหลักการโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet
เส้นทางนักลงทุน
ภายหลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 23 เม.ย.2567 เห็นชอบในหลักการโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ขณะที่แกนนำพรรครัฐบาลต่างออกมายืนเรียงแถวหน้ากระดานแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันร่วมสนับสนุน ทำให้หลายฝ่ายคาดว่าเรื่องนี้น่าจะจบสวย แต่คล้อยหลังไปไม่นาน “เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็โยนระเบิดใส่จนทำให้รัฐบาลนั่งไม่ติด
ธปท.ร่อนจดหมายด่วนถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ลงวันที่ 22 เม.ย. 2567 เสนอความเห็นล่วงหน้า 1 วัน เพื่อให้ครม.ใช้พิจารณาประกอบก่อนลงมติ
ธปท.ส่งหนังสือ เสนอประเด็นคัดค้านโครงการนี้ว่าเป็นโครงการขนาดใหญ่ เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน ใช้งบประมาณมาก และก่อให้เกิดภาระผูกพันต่อรัฐบาลในระยะยาว ดังนั้นจึงขอเสนอความเห็น ตั้งสังเกตสำคัญ รวมถึงข้อห่วงใยมาให้พิจารณา
โดยหยิบยกความจำเป็นของโครงการและผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการคลังประเทศ แนะนำให้ทำเฉพาะกลุ่มเป้าหมาย คือ กลุ่มเปราะบาง เพื่อแบ่งเบาภาระค่าครองชีพ เห็นว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างคุ้มค่า และใช้งบประมาณลดลง เนื่องจาก กลุ่มผู้มีรายได้น้อย หรือผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มีเพียง 15 ล้านคน เท่ากับใช้งบเพียง 150,000 ล้านบาท และควรแบ่งทำเป็นเฟสๆ เพื่อลดผลกระทบต่อเสถียรภาพการคลัง
ธปท.มองว่าโครงการนี้ก่อภาระทางการคลังจำนวนมากในระยะยาว หากรักษาเสถียรภาพภาระหนี้ภาครัฐไม่ได้ จะเพิ่มความเสี่ยงที่ไทยจะถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือ ส่งผลให้ต้นทุนการกู้ยืมภาครัฐ-เอกชนเพิ่มขึ้น และอาจกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนได้
รวมทั้งการใช้เงินงบประมาณสูงทำให้ความสามารถในการดำเนินนโยบายการคลังอื่นของรัฐบาลจะลดลง มีความเสี่ยงที่งบประมาณจะไม่เพียงพอรองรับในภาวะฉุกเฉิน การเพิ่มวงเงินกู้ปีงบประมาณ 2568 จนเกือบเต็มกรอบที่กฎหมายกำหนด ทำให้เหลือวงเงินกู้ได้อีกราว 5,000 ล้านบาท เทียบกับวงเงินคงเหลือเฉลี่ยในปีก่อน ๆ ที่มากกว่า 100,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ การใช้เงินงบประมาณปี 2567 ทำให้งบกลางสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นลดลงจนอาจไม่เพียงพอรองรับกรณีฉุกเฉิน โดยเฉพาะภายใต้สถานการณ์การเมืองโลกที่มีความไม่แน่นอนสูงและภาวะภัยธรรมชาติที่มีความรุนแรงมากขึ้น
ธปท.ชี้ว่า เงิน 500,000 ล้านบาท หากใช้ลงทุนแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างและยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว เช่น โครงการพัฒนาบุคลากรการแพทย์ โครงการ เรียนฟรี 15 ปี สำหรับนักเรียนทั่วประเทศ โครงการรถไฟทางคู่ช่วงนครปฐม – ชุมพร จะมีความคุ้มค่ามากกว่า
สำหรับแหล่งเงินที่นำมาใช้ จะต้องสอดคล้องกับกฎหมายและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง คำนึงถึงความเสี่ยง ต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นอย่างรอบด้าน ไม่ขัดแย้งกับการควบคุมระบบเงินตรา โดยมูลค่าสิทธิใช้จ่ายที่รัฐบาลกำหนดขึ้น จะต้องมีงบประมาณรองรับเต็มจำนวน (fully earmarked) และมีแหล่งที่มาของเงินที่เจาะจงชัดเจนในวันเริ่มโครงการ
ส่วนการให้ ธ.ก.ส. ร่วมสนับสนุนโครงการนี้ ควรมีความชัดเจนทางกฎหมายว่าการดำเนินการดังกล่าวอยู่ภายใต้หน้าที่และอำนาจและอยู่ภายในขอบแห่งวัตถุประสงค์ของ ธ.ก.ส. ตามมาตรา 9 และมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ. 2509 ประกอบกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง
ต้องกำหนดกลไกการเติมเงินให้เกษตรกรแยกส่วนจากการเติมเงินให้ประชาชนทั่วไปอย่างชัดเจน ทั้งอาจต้องจำกัดขอบเขตการใช้จ่ายให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของ ธ.ก.ส. ด้วย เพื่อไม่ให้เกิดการใช้งบประมาณผิดประเภท โดยเสนอให้ครม.มอบหมายให้กระทรวงการคลังหารือคณะกรรมการกฤษฎีกาก่อน
ธปท. ข้อกังวลว่า การที่รัฐบาลจะมอบหมายให้ ธ.ก.ส. สนับสนุนโครงการนี้ โดยยังมีภาระหนี้คงค้างกับ ธ.ก.ส. ถึงประมาณ 800,000 ล้านบาท อาจทำให้เกิดความเสี่ยงด้านสภาพคล่องและความเสี่ยงต่อฐานะการดำเนินงานของ ธ.ก.ส. และกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ฝากเงิน
ขณะเดียวกันก็แสดงความห่วงใยในการพัฒนาและดำเนินการระบบเห็นว่าควรใช้ระบบโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินที่มีอยู่ในปัจจุบัน เช่น ระบบพร้อมเพย์ และ Thai QR Payment เพื่อลดต้นทุนในการพัฒนาระบบ ควรคำนึงถึงมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยของระบบและข้อมูล ความถูกต้องเชื่อถือได้ของระบบงานและข้อมูลความต่อเนื่องของการให้บริการ การจัดการการเข้าถึงข้อมูลธุรกรรม การป้องกันภัยไซเบอร์ที่เข้มงวด มีกระบวนการพิสูจน์และยืนยันตัวตน ตลอดจน เห็นว่า
หน่วยงานที่รับผิดชอบควรกำหนดกลไกลดความเสี่ยงต่อการรั่วไหลหรือทุจริต ในขั้นตอนต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรม
จะว่าไปแล้วโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ถือเป็นการมองในจุดยืนที่แตกต่าง โดย ธปท.มุ่งไปที่การรักษาเสถียรภาพ วินัยทางการเงิน การคลัง ขณะที่รัฐบาลภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทยมองไปในด้านการเติบโตของเศรษฐกิจและการดำเนินนโยบายตามที่ได้หาเสียงไว้
ธปท.มองว่าความจำเป็นที่จะต้องกระตุ้นการบริโภคในวงกว้างมีไม่มาก ยกตัวอย่างปี 2566 การบริโภคภาคเอกชนของไทยขยายตัวได้ 7.1 % เทียบกับค่าเฉลี่ยช่วงปี 2553 – 2565 ที่ขยายตัวเฉลี่ย 3 %ต่อปี เป็นตัวเลขที่ดีขึ้น
ขณะที่รัฐบาลมองหากเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 2.2-3.2 % โดยมีค่ากลาง อยู่ที่ 2.7% (ประมาณการสภาพัฒน์)เป็นตัวเลขที่ต่ำและจำเป็นต้องกระตุ้น
รัฐบาลยืนยันโครงการนี้จะไม่สะดุด พร้อมเดินหน้าโครงการตามแผนงานที่วางไว้ เนื่องจากได้ผ่านการเห็นชอบในหลักการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
แต่ข้อกังวลและความห่วงใยของธนาคารแห่งประเทศไทยก็เป็นสิ่งที่รัฐบาลไม่ควรมองข้ามนะ!