KTC รวบยอด ‘เคทีซี พรีเพด’

ภาพจำของ บมจ.บัตรกรุงไทย หรือ KTC เกิดและโตมาจากธุรกิจบัตรเครดิต แต่ด้วยโจทย์ทางธุรกิจ ทั้งเรื่องตลาดบัตรเครดิตที่เริ่มอิ่มตัว


ภาพจำของบริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC เกิดและโตมาจากธุรกิจบัตรเครดิต แต่ด้วยโจทย์ทางธุรกิจ ทั้งเรื่องตลาดบัตรเครดิตที่เริ่มอิ่มตัว จำนวนผู้ใช้บัตรใหม่โตถดถอยลง ในขณะที่ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรก็ไม่เยอะเหมือนเก่า ประกอบกับการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น นอกจากมีกลุ่มนอนแบงก์เป็นผู้เล่นหลักแล้ว ยังมีแบงก์ต่าง ๆ กระโดดมาร่วมชิงเค้กก้อนนี้อีก

ทำให้ KTC ต้องเป็นมากกว่าบัตรเครดิต…ต้องพยายามแสวงหาธุรกิจใหม่เข้ามาเสริมอย่างต่อเนื่อง..!?

ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ และธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ โดยร่วมกับบริษัทแม่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB ตั้งบริษัท เคทีซีนาโน จำกัด และบริษัท เคทีซี พิโก (กรุงเทพฯ) ขึ้นมาดำเนินการ ส่วนธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ดำเนินการภายใต้ชื่อ KTC พี่เบิ้ม” รวมทั้งการไปรวบหัวรวมหางธุรกิจลีสซิ่ง (บริษัท กรุงไทย ลีสซิ่ง จำกัด) มาจากธนาคารกรุงไทย เพื่อหารายได้ใหม่ ๆ ชดเชยส่วนที่หายไป

ล่าสุดก็รวบหัวรวบหางธุรกิจบริการการชำระเงิน (Prepaid) ด้วยการซื้อหุ้นบริษัท เคทีซี พรีเพด จำกัด (KTC PREPAID) สัดส่วน 24.95% มูลค่า 25.40 ล้านบาท จากธนาคารกรุงไทย…ส่งผลให้ KTC ถือหุ้นใน “เคทีซี พรีเพด” เพิ่มเป็น 100% จากเดิมถืออยู่ 75.05%

ถ้าย้อนไปดูแบ็กกราวด์ของ “เคทีซี พรีเพด” เป็นบริษัทร่วมทุนที่จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2563 มีทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท โดยมี  KTC ถือหุ้น 75.05% และธนาคารกรุงไทยถือ 24.95% วัตถุประสงค์เพื่อประกอบธุรกิจบริการการชำระเงินภายใต้การกำกับ ได้แก่ 1)การให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ 2)การให้บริการโอนเงินด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ และ 3)การให้บริการแก่ผู้รับบัตร และการให้บริการรับชำระเงินแทน

ก็น่าสนใจ เมื่อ KTC รวบหัวรวบหางธุรกิจพรีเพดมาอยู่ในมือ อันดับแรก ทำให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการมากขึ้น จากเดิมหากจะทำอะไรใหม่ ๆ ต้องขอที่ประชุมธนาคารกรุงไทย ในฐานะผู้ร่วมถือหุ้น “เคทีซี พรีเพด” แต่ต่อไปสามารถดำเนินการได้เลย ไม่ต้องรอความเห็นชอบจากแม่ (ธนาคารกรุงไทย) อีกแล้ว

ขณะเดียวกัน สามารถนำบริการของ “เคทีซี พรีเพด” ไป synergy กับบริการอื่น ๆ ของ KTC ได้เลย ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสะดวกสะบายให้กับลูกค้ามากขึ้น เป็นการเพิ่มแวลูให้กับบัตรเคทีซีไปโดยปริยาย

ส่วนในมุมธนาคารกรุงไทย ก็ไม่จำเป็นต้องถือหุ้น “เคทีซี พรีเพด” อีกต่อไป เพราะเตรียมจะทำเวอร์ชวลแบงก์อยู่แล้ว ขายไปเลยดีกว่า

ครั้นไปส่องผลประกอบการของ “เคทีซี พรีเพด” ก็ไม่ขี้หร่นะ แม้รายได้และกำไรยังไม่มาก แต่เป็นบริษัทที่มีกำไรตั้งแต่ปีแรก โดยปี 2563 มีรายได้รวม 170,944 บาท กำไรสุทธิ 22,174 บาท ปี 2564 มีรายได้รวม 734,025 บาท กำไรสุทธิ 243,149 บาท ปี 2565 มีรายได้รวม 862,186 บาท กำไรสุทธิ 197,474 บาท และปี 2566 มีรายได้รวม 2.08 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1.35 ล้านบาท

จะเห็นว่าแนวโน้มของ “เคทีซี พรีเพด” มีโอกาสเติบโตต่อเนื่อง ที่สำคัญ มาร์จิ้นก็ดีด้วยนะ สะท้อนได้จากอัตรากำไรสุทธิที่อยู่ในระดับสูง ปี 2563 มีอัตรากำไรสุทธิ 12.97% ถัดมาปี 2564 อัตรากำไรสุทธิเพิ่มเป็น 33.13% ส่วนปี 2565 อัตรากำไรสุทธิย่อลงมาอยู่ที่ 22.90% และปี 2566 อัตรากำไรสุทธิกระโดดไปเป็น 64.90%

เอาล่ะ…แม้ยังไม่รู้ว่าปฏิบัติการรวบหัวรวบหาง “เคทีซี พรีเพด” ครั้งนี้ จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับ KTC ได้อย่างที่หมายมั่นปั้นมือไว้หรือไม่..?? เป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป

แต่ว่าไปแล้ว KTC ในยุคแม่ทัพหญิง “พิทยา วรปัญญาสกุล” ก็จี๊ดจ๊าดไม่เบานะ..??

ส่วนจะแซ่บจัดจ้านเหมือนในยุค “ระเฑียร ศรีมงคล” อ๊ะป่าว..??

อีกไม่นานคงได้รู้กัน…

…อิ อิ อิ…

Back to top button