กลุ่มผู้เสียหาย STARK ลุ้นศาลรับฟ้องแบบ Class action ปลายปีนี้

ผู้เสียหาย STRAK รอลุ้นศาลแพ่งพิจารณารับฟ้องคดีแบบกลุ่ม consumer class action ปลายปีนี้ จ่อยื่นจำเลย 24 รายฟ้องประกอบ หวังเอาเงินมาช่วยเยียวยาผู้เสียหาย


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 3 พ.ค. 67 นายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากผู้เสียหายกลุ่มรวมพลังหุ้นกู้ STARK เปิดเผยว่า จากกรณีธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK ในฐานะผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ ฟ้องร้องบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK และชนะคดี โดยศาลได้มีการวินิจฉัยและตัดสินว่า STARK การกระทำผิดสัญญาและผิดนัดชำระหนี้ โดยต้องคืนเงินให้กับธนาคารกสิกรไทยในฐานะผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ ของหุ้นกู้ ได้แก่ 1. หุ้นกู้ ครั้งที่ 1/2564 ชุดที่ 1 ครบกำหนดไถ่ถอนปี พ.ศ. 2566 (STARK239A), 2. หุ้นกู้ ครั้งที่ 1/2564 ชุดที่ 2 ครบกำหนดไถ่ถอนปี พ.ศ. 2567 (STARK249A) , 3. หุ้นกู้ ครั้งที่ 1/2565  ชุดที่ 2 ครบกำหนดไถ่ถอนปี พ.ศ. 2567 (STARK245A) และ 4. หุ้นกู้ ครั้งที่ 1/2565 ชุดที่ 3 ครบกำหนดไถ่ถอนปี พ.ศ. 2568 (STARK255A)

โดยค่าเสียหายรวมดอกเบี้ยประมาณ 5,300 ล้านบาท และมีการกำหนดค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มเติม 25% หรืออีกประมาณกว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีที่ศาลเห็นว่า STRAK มีบทบาทที่ไม่ใช่แค่ผิดนัดธรรมดาแต่จงใจเอาเปรียบผู้บริโภคที่ไปซื้อหุ้นกู้

นายวีรพัฒน์ ระบุว่าสำหรับคดีนี้ ทีมทนายความประเมินว่า ค่าเสียหายและดอกเบี้ย รวมถึงค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มเติม STRAK ไม่อยู่ในสถานะที่สามารถชำระหนี้ทั้งหมดได้ จึงต้องมีการฟ้อง บุคคลที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมจำนวน 24 ราย อาทิ  บริษัท STARK ผู้ออกหุ้นกู้  นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ ผู้บริหารและผู้ถือหุ้นใหญ่  ผู้บริหารและผู้ร่วมมือรายสำคัญ อาทิ นายชนินทร์ เย็นสุดใจ และนายชินวัฒน์ อัศวโภคี รวมถึงบริษัทที่ร่วมมือกับสตาร์ค และเกี่ยวข้องกับการขายหุ้นกู้

นอกจากนี้ในส่วนค่าเสียหายก็จะมีการเรียกตามฐานข้อเท็จจริงของผู้เสียหายประมาณกว่า 4,600 ราย มูลค่าความเสียหายกว่า 9,000 ล้านบาท แต่กฎหมายเปิดช่องให้สามารถเรียกค่าเสียหายได้มากกว่ามูลค่าความเสียหายจำนวน 3 เท่าได้ หากศาลเห็นว่ามีเจตนาตั้งใจเอาเปรียบหลอกลวงประชาชน ทำให้จากมูลค่ากว่า 9,000 อาจกลายเป็นกว่า 27,000 ล้านบาท ซึ่งเรื่องนี้อาจจะกลายเป็นคดีประวัติศาสตร์เกี่ยวกับผู้บริโภค และการลงทุน คดีแรก ที่ศาลอาจจะมีการปรับใช้กฎหมายให้สมกับการกระทำผิด

สำหรับการดำเนินคดีแบบกลุ่มดังกล่าวเพิ่งเริ่มต้นขึ้น ศาลจะต้องมีการวินิจฉัยก่อนว่าจะให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม (consumer class action) หรือไม่ หากฟ้องแบบกลุ่มได้ก็จะดำเนินคดีแทนผู้เสียหายทั้งหมดที่มีประมาณ 4,600 คนได้ คาดว่าน่าจะใช้ระยะเวลาถึงช่วงปลายปีนี้น่าจะได้คำตอบว่าจะดำเนินคดีแบบกลุ่มได้หรือไม่

หลังจากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาต่อไป สอดคล้องกับคดีอาญาที่เริ่มดำเนินคดี เมื่อคดีอาญาที่อัยการฟ้องเริ่มเดินหน้า พยานหลักฐานก็จะเริ่มออกมาเรื่อยๆ ก็จะพยายามดึงหลักฐานจากภาคอัยการมาฟ้องร้องในคดีแพ่งต่อไป โดยการยื่นฟ้องแบบกลุ่มดังกล่าวได้มีการดำเนินการฟ้องตั้งแต่ช่วงแลายเดือน มี.ค.2567 ศาลได้มีการนัดไต่สวนรอบแรกไปแล้ว ซึ่งทางศาลทราบดีว่าคดีนี้กระทบต่อผู้เสียหายจำนวนมาก และครั้งต่อไปน่าจะมีการไต่สวนไม่เกินสัปดาห์แรกของเดือน มิ.ย.นี้ ส่งผลให้คดีเดินหน้าได้เร็วขึ้น

ขณะเดียวกันในส่วนของผู้เสียหายในกลุ่มผู้ถือหุ้นกู้ ครั้งที่ 2/2565 ครบกำหนดไถ่ถอนปี พ.ศ. 2567 (STARK242A) ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ คือ บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด หรือ ASPS ซึ่งได้มีการฟ้องร้องแล้วนั้นก็คาดว่าจะมีการจะได้รับคำพิพากษาในช่วงเดือน มิ.ย.นี้เช่นกัน และเชื่อว่าศาลจะมีการตัดสินไปในทางเดียวกันกับคดีของธนาคารกสิกรไทย

ในส่วนของความคืบหน้าการติดตามการยึดทรัพย์ ล่าสุดทางสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ได้เดินหน้าสืบหาทรัพย์ของ STARK และพวก เพื่อยึดมาคืนให้กับผู้เสียหาย หลังจากที่ได้มาแล้วประมาณ 3,300 ล้านบาท ซึ่งจากการสืบค้นมีจำนวนมูลค่าสูงขึ้นเรื่อยๆ และเชื่อว่า ปปง.จะพยามยามสืบสวนโดยเฉพาะทรัพย์สินที่อยู่ต่างประเทศ ซึ่งมองว่าควรมีการพูดคุยกับ สส.ในสภา นายกรัฐมนตรี ทนายเก่งๆในต่างประเทศในการช่วยกันติดตามเอาทรัพย์สินกลับมาอย่างไร เนื่องจาก ปปง.ไม่มีอำนาจไปบังคับ ทำได้เพียงแค่ขอความร่วมมือ แต่ประชาชนถ้าจะไปยื่นคำร้องที่ศาลขอให้ศาลสิงคโปร์แช่แข็งสินทรัพย์บางอย่างไว้ก็อาจจะมีช่องทางที่เป็นไปได้

ส่วนกรณีที่ ปปง.พูดถึงสิทธิ์ในการทวงหนี้ของ STARK กับบริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด (PDITL) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท มองว่าเป็นสัญญานที่ดีว่าทาง ปปง.จะนัดคุยกับกับกรมบังคับคดีเพื่อจะหารือข้อสรุปว่า ปปง.สามารถเข้าไปยึดสิทธิ์ 20,000 ล้านบาท และหากได้จะนำเงินมาคืนผู้เสียหายจากการถือหุ้นกู้ได้หรือไม่ ส่วนตัวก็คิดว่ากฎหมายเปิดช่องให้ทำได้ แต่จะทำอย่างไร ซึ่งมองว่าผู้ถือหุ้นกู้อาจจะต้องยอมได้เงินคืนช้าลงเพื่อให้ PDITL ฟื้นตัวและสามารถจ่ายเงินคืนผู้เสียหายได้เป็นงวดๆไป หากขายธุรกิจทิ้งเลยก็ไม่มีอะไรทำธุรกิจต่อ.

Back to top button