“หอการค้า-เอกชน” ห่วงนโยบายขึ้นค่าแรง 400 บาท หวั่นกระทบระบบเศรษฐกิจ
หอการค้าและภาคเอกชน ห่วงนโยบายขึ้นค่าแรง 400 บาท หวั่นส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ ชี้หลายจังหวัดมีความพร้อมแตกต่างกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (7 พ.ค.67) หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และ สมาคมการค้าที่ใช้แรงงาน มากกว่า 50 แห่ง ร่วมแสดงจุดยืนหลังจากรัฐบาลมีนโยบายปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท เท่ากันทั่วประเทศ ซึ่งเกินกว่าพื้นฐานสภาพความเป็นจริงทางเศรษฐกิจและสังคมไทย โดยอาจจะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ รวมทั้งขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศทันที อีกทั้งต้องยอมรับว่าแต่ละจังหวัดและประเภทธุรกิจมีความพร้อมแตกต่างกัน
ทั้งนี้การปรับอัตราค่าจ้างที่สูงเกินกว่าความเป็นจริงจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น อาทิ ต้นทุนการขนส่ง ต้นทุนการบริการ รวมถึงต้นทุนการจ้างงานทั้งระบบห่วงโซ่อุปทานโดยเฉพาะภาคเกษตร, ภาคการค้าและบริการ, ภาคท่องเที่ยว และผู้ประกอบการ SMEs เนื่องจากผู้ประกอบการจะไม่สามารถปรับตัวได้ทัน ดังนั้นการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำโดยไม่คำนึงตามที่กฎหมายจะส่งผลให้ภาคธุรกิจ และผู้ประกอบการอาจหยุดกิจการหรือลดขนาดกิจการลง รวมไปถึงอาจมีการปรับธุรกิจออกนอกระบบภาษีนำไปสู่การปลดพนักงาน
อีกทั้ง ยังเป็นปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและการลงทุนในประเทศไทยทำให้เกิดความไม่มั่นใจถึงต้นทุนของการทำธุรกิจและนโยบายภาครัฐ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันยังมีปัญหาจากปัจจัยหลายประการที่มีความผันผวน อาทิ ค่าเงินบาท, ราคาพลังงาน, มาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ และสงครามการค้าระหว่างประเทศต่างๆ เป็นต้น ซึ่งกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันรวมถึงความน่าสนใจในการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย
นอกจากนี้ หากรัฐบาลยืนยันที่จะให้มีการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400 บาท โดยไม่คำนึงถึงหลักเกณฑ์ในการพิจารณาตัวเลขการปรับที่เหมาะสมสอดคล้องกับแนวทางที่ได้รับการยอมรับจาก องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ว่ามีความยุติธรรมกับผู้ที่มีส่วนได้เสียอาจนำไปสู่การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำแบบยั่งยืนไม่ก่อให้เกิดปัญหาใหม่ตามมาในอนาคต
โดยภาคเอกชนซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท จำเป็นที่จะต้องรักษาสิทธิในการดำรงไว้ของหลักนิติธรรม (The Rule of Law) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับสมาชิกภาคเอกชนที่มีส่วนได้เสียในการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำดังกล่าวต่อไป