“พิชัย” เตรียมฟื้นกอง LTF ฟาก บลจ.ลั่นพร้อมชงทันที

“พิชัย ชุณหวชิร” รองนายกฯ และรมว.คลัง เตรียมฟื้นกองทุน LTF หวังช่วยกระตุ้นตลาดหุ้นกลับมาคึกคัก ด้านสมาคมบลจ. เล็งหารือ FETCO เสนอกองทุนภาษีให้กับคลังทันที ส่วน “ลวรณ” ปลัดคลัง อ้าแขนเปิดทางให้นำกอง LTF กลับมาพิจารณาใหม่ได้


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (7 พ.ค.) นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เข้ากระทรวงการคลังเป็นวันแรก โดยนายพิชัยเข้าสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงการคลัง พร้อมด้วย นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง โดยมี นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ และนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ 2 รมช.คลัง และนายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง ให้การต้อนรับวานนี้ (7 พ.ค. 2567)

ต่อจากนั้น นายพิชัย กล่าวให้สัมภาษณ์ว่า มีแผนการนำกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) กลับมา เพราะต้องการทำเพื่อกระตุ้นตลาดหุ้นให้กลับมาคึกคัก ขณะเดียวกันตลาดทุนมีการเชื่อมต่อกับตลาดการเงิน ถือเป็นแหล่งระดมทุนของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ดังนั้นความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ซึ่งตนเองได้เคยปฏิบัติหน้าที่ประธานตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมา 2 เดือน 18 วัน ได้เข้าไปแก้ภายในองค์กร เพื่อทำให้เกิดกติกาให้เป็นที่ยอมรับและดูแลทุกกลุ่ม

ทั้งนี้ นายพิชัย กล่าวถึงมาตรการของตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่กำลังออกมาบังคับใช้ในช่วงปลายไตรมาส 2/2567 ทั้งการคุมชอร์ตเซล และโปรแกรมเทรด (โรบอทเทรด) ว่า ถือเป็น “ยาแรง” พอสมควรแล้ว และคิดว่าในภาพรวมตลาดหุ้นไทยจะดีขึ้น ซึ่งหากไม่ดีขึ้น พร้อมเล็งให้ “ยาแรงขึ้น” ไปอีก

“ตลาดทุนคือสิ่งที่นำสินค้ามาวางขาย ตลาดไม่สะอาด คนขายไม่ดี คนซื้อก็ไม่มา แต่ถ้าตลาดสะอาด คนขายดี มีความอำนวยความสะดวกดีหมดเลย สินค้าไม่ดี ใครจะมา ดังนั้นต้นเหตุคือเศรษฐกิจ ถ้าเศรษฐกิจดี สินค้าก็จะดี มีคุณภาพก็จะมาเอง จีดีพี 2.4% ยอมรับว่าต่ำไป แต่ก็ต้องมาลงรายละเอียดว่าจะทำอย่างไรให้เศรษฐกิจดีขึ้น แต่ตอนนี้ตลาดทุนมีสิ่งที่นับหนึ่งพร้อมประชาคมโลกได้คือ สินค้าที่วางขายในตลาดทุนไม่จำเป็นต้องเป็นสินค้าและบริการแต่เพียงอย่างเดียวแล้ว ต่อไปสินค้าที่จับต้องไม่ได้ แต่ประชาคมโลกมีความต้องการสูงคือ สินค้ากรีนและคาร์บอนเครดิต สิ่งนี้ไม่ใช่ว่าจะใช้เวลา 6 เดือนหรือปีเดียว เป็นเรื่องระยะยาว” นายพิชัย กล่าว

สำหรับเรื่องการสรรหาผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ คนใหม่นั้น นายพิชัย กล่าวว่า ตนเองได้ออกจากตรงนั้นมาแล้ว คงไม่ได้ให้ความคิดเห็นในจุดนี้ เพราะทางตลาดหลักทรัพย์ฯ เขาก็มีคณะกรรมการสรรหาของเขาดำเนินการอยู่

รมว.คลังกล่าวอีกว่า ในเร็ว ๆ นี้ จะสามารถหารือกับนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ โดยยืนยันว่าไม่ได้มีแนวคิดจะปลดท่านผู้ว่าการ และไม่มีแนวคิดที่จะแก้ไขกฎหมายของธปท. เพื่อให้มาอยู่ในอำนาจของนายกรัฐมนตรี เนื่องจากปัจจุบันดีอยู่แล้ว โดยธปท.ยังคงมีความเป็นอิสระในการดำเนินนโยบายการเงิน แต่ทั้งนี้ เรื่องใดที่มีความเห็นไม่ตรงกัน ก็จะหารือกัน เพื่อหาจุดยืน นำข้อเท็จจริงมาพูดคุย เพื่อร่วมแก้ไขปัญหาให้กับประเทศ

 ตอนนี้ต้องนัดกันก่อน ว่าท่านผู้ว่าธปท.จะว่างเมื่อไหร่ และผมว่างเมื่อไหร่ การทำความเข้าใจกันเป็นเรื่องที่ดี คาดว่าภายในสัปดาห์นี้ ผมมองไปทางธปท.ก็อยากเห็นสถานะทางการเงินของประเทศมั่นคง อยากเห็นสถาบันการเงินมีฐานะมั่นคงเช่นกัน” นายพิชัย กล่าวและว่า

“การจะเร่งเศรษฐกิจก็ต้องดูว่าเร่งแล้วสินค้าแพงหรือไม่ นโยบายบางอย่างต้องใช้เงิน แต่บางอย่างไม่จำเป็นต้องใช้เงินก็ได้ ผมมั่นใจว่าผมคุยภาษาเดียวกันกับผู้ว่าธปท. แต่เวลาหารือผมคงไม่พูดถึงเรื่องอัตราดอกเบี้ย แล้วแต่ท่านผู้ว่าธปท.จะคิด เพราะธปท.มีความเป็นอิสระทางความคิด การวิเคราะห์ ที่จะเลือกทางเลือกที่ดีที่สุดให้กับประชาชนและประเทศ และต้องตอบสนองต่อคนที่มาทำงานรับใช้ประชาชน นั่นคือภาครัฐ ต้องดูว่ามันวิน วินหรือไม่”

สำหรับปัจจุบัน ธปท.ยังมีอิสระในทางความคิด วิเคราะห์ เลือกทางเลือกที่ดีที่สุด แต่ทางเลือกต้องตอบสนองความต้องการของประชาชน ทั้งนี้ยืนยันว่าหากไปพบผู้ว่าการธปท. จะไม่พูดถึงเรื่องดอกเบี้ยอย่างแน่นอน

 ก่อนหน้าที่จะเข้ามา เข้าใจว่ารัฐบาลต้องการแก้หนี้ เพื่อไม่ให้เดือดร้อน ผมมักคุ้นดีกับผู้ว่าการธปท. และทำงานในแวดวงไม่ต่างกัน ต่างกันแค่อายุ สิ่งที่เห็น คิดว่าทุกคนมีมุมมองของตัวเอง สิ่งที่ต้องทำในทันทีที่มีโอกาส ก็คิดว่าจะพูดคุยกับผู้ว่าการธปท. คือ มานั่งคุยกัน หาจุดยืน ข้อเท็จจริง ร่วมกันแก้ปัญหาของประเทศ เพื่อประชาชน ที่ไม่ใช่เฉพาะคนจน แต่ทุกคน เพราะมันเชื่อมโยงกันอยู่ ส่วนสิ่งที่ต้องทำอันดับแรกคือเพิ่มรายได้ โดยการทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ ซึ่งจะต้องทำให้คนในประเทศไม่เห็นต่าง วันนี้ยังเห็นต่างกันอยู่” นายพิชัย กล่าว

อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าการทำความเข้าใจที่ดีเป็นเรื่องสำคัญ เชื่อว่าทุกคนอยากเห็นความเจริญของประเทศ โดยมองไปทางธปท.ก็อยากเห็นสถานะการเงินของประเทศมั่นคง มีสถาบันการเงินที่มั่นคง ขณะเดียวกันก็อยากเห็นมีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งก็ต้องดูว่าจะเร่งเศรษฐกิจอย่างไร

นายพิชัย กล่าวย้ำว่า เรื่องดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อนั้น ต้องมาดูว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจลดลงเรื่อย ๆ สะท้อนรายได้ของประชาชนลดลง และอยู่ในระดับต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อ อีกทั้งเงินออมในระบบก็มีน้อย หนี้ครัวเรือนสูง ห่วงโซ่ทางเศรษฐกิจมันรันกันหมด ถ้าคนใดคนหนึ่งมีสุขภาพไม่ดี มันจะลามไปถึงกันหมด เวลาใส่เม็ดเงิน การแจกเงินดิจิทัลลงไปในระบบเศรษฐกิจ จำเป็นต้องเติมไปทั้งหมด รายเล็กไปสู่รายกลาง และรายกลางไปสู่รายใหญ่

ด้านนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า รัฐบาลยังไม่มีแนวคิดเรื่องการแก้ไขพ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย ส่วนเรื่องของการแก้ไขให้มีการนำเอาหนี้ที่อยู่ในเงินกองทุนฟื้นฟูสถาบันการเงินฯ (FIDF) ไปอยู่ในบัญชีของ ธปท.นั้น นายเผ่าภูมิ กล่าวว่า รัฐบาลยังไม่มีแนวคิดเรื่องนี้ อาจจะต้องหารือกันอีกทีถึงสถานการณ์ในอนาคต

“ยังไม่มีแนวนโยบายสำหรับเรื่องนี้ มีกระแสข่าวออกมาแต่เรายังไม่ได้มีการหารือกัน ส่วนความเหมาะสมก็ต้องหารือ แต่ยังไม่มีนโยบายในปัจจุบัน” นายเผ่าภูมิ กล่าว

ส่วนกรณีของเรื่องเป้าหมายเงินเฟ้อที่กำหนดไว้ที่ 1- 3% ต่อปี จะต้องมีการทบทวนหรือไม่ นายเผ่าภูมิ กล่าวว่า ในส่วนนี้ก็ต้องหารือร่วมกับธปท. แต่มองว่ากรอบที่ 1-3% ไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหาคือการที่เงินเฟ้อหลุดกรอบ ไม่อยู่ในเป้าหมายเป็นระยะเวลานาน อาจจะกระทบกับเศรษฐกิจได้ในระยะยาว ก็ต้องมาคุยกันว่าทำอย่างไรให้เงินเฟ้อกลับมาอยู่ในกรอบได้

สมาคมบลจ.พร้อมชงทันที

นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTAM ในฐานะนายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) เผยว่า สมาคมฯ ได้เตรียมแผนกระตุ้นตลาดทุนไทยผ่านโมเดลกองทุนภาษีเพื่อเสนอกับกระทรวงการคลังไว้เรียบร้อยแล้ว แต่ต้องผ่านการหารือกับทางสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) ก่อน ขณะนี้อยู่ระหว่างทำเรื่องการนัดหมายในการเข้าไปหารือพร้อมกับอัพเดทข้อมูลการลงทุนผ่านกองทุนรวมต่าง ๆ รวมถึงกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thai ESG) รวมถึงเสนอโมเดลกองทุนภาษีตัวใหม่ให้ทาง FETCO พิจารณาก่อนที่จะเสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณาต่อไป

โมเดลกองภาษีที่จะนำเสนอให้กระทรวงการคลังนั้น อย่างแรกคือ การเพิ่มวงเงินด้านสิทธิทางภาษีให้มากขึ้น รวมถึงออปชั่นอื่น ๆ ที่อาจจะไม่ต่างจากกองทุนหุ้นระยะยาว (LTF) เดิม หรือจะเป็นการปรับโมเดลกองทุน Thai ESG  รวมถึงออกกองทุนภาษีรูปแบบใหม่ก็ได้ภายใต้แนวทางดังกล่าว โดยไม่ได้โฟกัสว่าจะต้องเป็นกองทุน LTF เดิมก็ได้

“กรณีนายพิชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง จะให้มีการนำกองทุน LTF กลับมาโดยเป็นหนึ่งแผนที่ต้องการทำ เพื่อกระตุ้นตลาดหุ้นให้กลับมาคึกคัก โดยสมาคมฯ มองว่าไม่ว่าจะเป็นกองทุนภาษีรูปแบบใด ช่วยกระตุ้นตลาดทุนไทยได้ แต่ต้องเข้าใจว่าตลาดหุ้นไทยในปัจจุบันมี 3 ส่วนในการผลักดัน คือ นักลงทุนสถาบัน นักลงทุนจากต่างประเทศ และนักลงทุนรายย่อย อย่างไรก็ดียิ่งเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับนักลงทุนสถาบัน ยิ่งเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับตลาดทุนทางอ้อมไปด้วย” นางชวินดา กล่าว

“นายลวรณ แสงสนิท (ปลัดกระทรวงการคลัง) ก็กล่าวเปิดช่องที่จะให้เข้าหารือเกี่ยวกับเรื่องกองภาษีได้ใหม่ หากการนำร่องกองทุนภาษีที่ออกไปไม่ได้เป็นผลอย่างที่ประเมินไว้นั้น สามารถกลับมาหารือเพื่อพิจารณาใหม่ได้” นางชวินดา กล่าว

Back to top button