2 หุ้นกลุ่มเครื่องดื่มอนาคตไกล
ผลการดำเนินงานในกลุ่มเครื่องดื่มงวดไตรมาส 1 ปี 2567 นี้ ไม่น่าจะทำให้นักลงทุนผิดหวัง เพราะภาวะอากาศที่ร้อนระอุ
เส้นทางนักลงทุน
ผลการดำเนินงานในกลุ่มเครื่องดื่มงวดไตรมาส 1 ปี 2567 นี้ ไม่น่าจะทำให้นักลงทุนผิดหวัง เพราะภาวะอากาศที่ร้อนระอุทั้งในประเทศไทยและการก้าวเข้าสู่ช่วงฤดูร้อนของภูมิภาคยุโรป เป็นปัจจัยเชิงบวกที่เข้ามาสนับสนุน
แม้จะมีปัจจัยในแง่ลบ ราคาวัตถุดิบหลักสำหรับบรรจุภัณฑ์กระป๋องอะลูมิเนียม ขวดแก้ว มีแนวโน้มสูงขึ้น แต่หุ้นในกลุ่มเครื่องดื่มก็ยังถูกเชียร์และให้น้ำหนักการลงทุน “มากกว่าตลาด” หลังปัจจัยกดดันเรื่องราคาน้ำตาลคลี่คลายมากขึ้น
มองในแง่บวก ราคาน้ำตาลพลิกกลับมาลดลงจะส่งผลดีต่อบริษัทเครื่องดื่มทุกแห่ง ถึงจะยังไม่ส่งผลทันที เพราะราคาน้ำตาลที่ใช้สำหรับการผลิตในปี 2567 ส่วนใหญ่มีการตกลงกันไว้เรียบร้อยแล้วระหว่างบริษัทเครื่องดื่มกับโรงหีบอ้อย ซึ่งปัจจัยนี้น่าจะเริ่มเห็นอานิสงส์ทางด้านต้นทุนที่ลดลงในครึ่งหลังของปี 2567
และมีตัวเลขแนวโน้มการส่งออกเครื่องดื่มสะท้อนว่าน่าจะสดใสตลอดทั้งปีนี้ แม้จะมีฐานสูงจากการส่งออกที่ขยายตัวต่อเนื่องในปีก่อน แต่ผลประกอบการของหุ้นในกลุ่มนี้ก็น่าจะยังคงเติบโตได้ดี โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสที่ 1-2 ของปี 2567
นอกจากนี้ ปัจจัยในประเทศการบริโภคฟื้นตัวขึ้นทั้งจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ออกมาแล้วก่อนหน้านี้ และจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลทยอยออกมาเพิ่มเติม เช่น โครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตในช่วงครึ่งหลังของปีจะช่วยกระตุ้นกำลังซื้อผู้บริโภค
อย่างไรก็ตาม ราคาหุ้นในกลุ่มเครื่องดื่มปรับตัวขึ้นสะท้อนปัจจัยบวกไปมากพอสมควรแล้ว หากจะเลือกลงทุนหุ้นในกลุ่มนี้ จึงต้องเลือกหุ้นที่มีแนวโน้มผลประกอบการดี แต่ราคาหุ้นยังแลกการ์ด (Laggard)
หากพิจารณาตัวแทน 2 หุ้นในกลุ่มเครื่องดื่ม พบว่า บริษัท เซ็ปเป้ จำกัด (มหาชน) หรือ SAPPE มีคาดการณ์ว่าผลประกอบการจะทำนิวไฮ (New High) ได้ตั้งแต่ไตรมาสที่ 1-3 ปี 2567 ได้แรงหนุนจากการเติบโตของอุปสงค์ตามฤดูกาลที่มาเร็ว โดยการส่งออกไปยังตะวันออกกลางจะเป็นตัวขับเคลื่อนรายได้และหนุนกำไร
มีมุมมองว่า SAPPE จะเติบโตต่อเนื่องระยะยาวถึง 3 ปี จากแผนการขยายกำลังการผลิต 20-30% ต่อปี ใช้งบลงทุน 1,630 ล้านบาท โรงงานใหม่จะเริ่มเดินเครื่องผลิตบางส่วนในไตรมาส 2 นี้ เพิ่มการผลิตได้อีก 25-30% และใช้งบลงทุนอีก 750 ล้านบาท ในปีหน้า เพื่อเพิ่มกำลังผลิตในสัดส่วนใกล้เคียงกันในปี 2569
SAPPE ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพและความงาม 5 กลุ่มหลัก กว่า 20 ยี่ห้อ ประกอบด้วยกลุ่ม 1.เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพและความงาม ได้แก่ เซ็ปเป้ บิวติ ดริ้งค์, เครื่องดื่มน้ำผสมวิตามิน บลู และเครื่องดื่มผสม CBD คาโมมายล์ และวิตามินบีแบรนด์คีฟ
2.กลุ่มผงพร้อมชงเพื่อสุขภาพและความงาม ได้แก่ เพรียว คอฟฟี่, เพรียว คลอโรฟิลล์, สลิมฟิต คอฟฟี่ และกาแฟทอรีน และสินค้ากลุ่มผงชงดื่มเพื่อสุขภาพและความงาม ภายใต้แบรนด์ เซ็ปเป้ บิวติ พาวเดอร์
3.เครื่องดื่มน้ำผลไม้ ทั้งมีและไม่มีชิ้นเนื้อ ได้แก่ โมกุ โมกุ (MOGU MOGU), เซ็ปเป้ อโล เวร่า (SAPPE Aloe Vera), น้ำมะพร้าวน้ำหอม ออลโคโค และ กุมิ กุมิ by โมกุ โมกุ
4.ผลิตภัณฑ์ขนมเพื่อสุขภาพ ได้แก่ เซ็ปเป้ บิวติ เยลลี่, แม็กซ์ทีฟ, โมกุ โมกุ เยลลี่, กุมิ กุมิ เยลลี่, ออลโคโค พุดดิ้ง และลูกอมครูเพ็ญศรี
5.ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและอื่น ๆ ได้แก่ เซ็ปเป้ อินโน ซายน์, เซ็ปเป้ อินหยาง, เม็ดอมลิมิตเลส, เครื่องหอมสมุนไพรสูดสุด และชาคีฟ
SAPPE มีสินค้ายอดนิยม หรือ Product Champion ที่ขายดีในตะวันออกกลาง เช่น SAPPE Aloe Vera และผลิตภัณฑ์ MOGU MOGU ช่วยผลักดันการขาย
SAPPE มีโบรกเกอร์ 8 ราย แนะนำ “ซื้อ” อย่างไรก็ตามราคาในกระดานทะลุราคาเป้าหมายต่ำสุดที่ 93.32 บาท ของโบรกเกอร์ไปแล้ว แต่ห่างจากราคาเป้าหมายสูงสุดที่ 115 บาท
บริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ICHI อานิสงส์จากอากาศร้อนและภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัว หนุนอุปสงค์ในกลุ่มชาพร้อมดื่ม ส่งผลให้ยอดขายเติบโต รวมถึงสินค้าประเภทอื่น ๆ เช่น น้ำสมุนไพร ตลอดจนราคาขายซึ่งคุ้มค่ากว่าคู่แข่ง
การลดสัดส่วนการจ้าง OEM ผลิต และการดูแลค่าใช้จ่าย ประกอบกับการรับรู้การผลิตครบทั้ง 5 ไลน์การผลิตอีกครั้ง และการเริ่มรับรู้รายได้จาก “ตัน พาวเวอร์” เครื่องดื่มชูกำลังซึ่งเป็นสินค้าแบรนด์ใหม่ เต็มไตรมาส ทำให้อัตรากำลังการผลิตสูงขึ้น จะผลักดันให้อัตรากำไรขั้นต้นสูงขึ้น
ICHI ขยายกำลังการผลิตอีก 200 ล้านขวดต่อปี หรือเพิ่มขึ้นอีก 13% จากกำลังการผลิตปัจจุบัน 1,500 ล้านขวดต่อปี ใช้งบลงทุน 460 ล้านบาท กำลังการผลิตนี้จะเริ่มเดินเครื่องในไตรมาส 4 ปีนี้ โดยมีเป้าหมายใช้อัตรากำลังผลิต 80%
รวมทั้งมุมมองที่ว่าส่วนแบ่งกำไรจากอินโดนีเซียจะพลิกกลับมาทำกำไรได้ จากขาดทุนในไตรมาส 4 ปี 2566 เนื่องจากปรับราคาขายลง และค่าใช้จ่ายพิเศษที่เกิดขึ้นในไตรมาสสุดท้ายปีก่อน
ICHI เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มชาเขียวพร้อมดื่ม ยี่ห้อ อิชิตัน กรีนที, เครื่องดื่มสมุนไพร เย็นเย็น ในปี 2557 บริษัทได้เข้าทำสัญญาร่วมลงทุนกับบริษัท พีที อาทรี่ แปซิฟิค นิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นในประเทศอินโดนีเซีย เพื่อร่วมลงทุนในบริษัท พีที อิชิ ตัน อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นกิจการร่วมค้าที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่ในประเทศดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มพร้อมดื่ม อิชิตัน ในประเทศอินโดนีเซีย โดยมีสัดส่วนการถือหุ้นเท่ากันฝ่ายละ 50% ของหุ้นที่ออกและจำหน่ายได้ทั้งหมดของกิจการร่วมค้า
จากแนวโน้มตลาดชาเขียวพร้อมดื่มยังเติบโตได้ต่อเนื่อง หนุนด้วยอากาศร้อนและจำนวนนักท่องเที่ยวสูงขึ้น ทำให้การบริโภคเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นตาม เมื่อผนวกกับแผนการทำการตลาดออนไลน์มากขึ้น เช่น กิจกรรม Power เย็นเจอร์ “โหดร้อนมันส์เวอร์” by เย็นเย็น จะช่วยให้ผู้บริโภครู้จักสินค้ามากขึ้น
ICHI เป็นอีกหนึ่งหุ้นเครื่องดื่มที่คาดว่ารายได้ในไตรมาส 1 นี้ จะทำ New High ระดับสูงสุดใหม่ในรอบ 9 ปี และเติบโตทุกไตรมาสเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ทั้งนี้ปี 2567 ผู้บริหารตั้งเป้าหมายมีรายได้ 9 พันล้านบาท เติบโต 13%
ราคาหุ้นในปัจจุบันยัง Laggard และยังเหลืออัพไซด์ เมื่อบวกกับแผนการขายที่ดินมูลค่า 360 ล้านบาท ภายในปีนี้จะมีผลให้ตัวเลขปันผลที่จะจ่ายในปีนี้คิดเป็นอัตราผลตอบแทนสูงถึง 7.3%
ICHI มีโบรกเกอร์ 7 ราย แนะนำ “ซื้อ” ราคาในกระดานยังต่ำกว่าราคาเป้าหมายต่ำสุดที่ 20 บาท ส่วนราคาเป้าหมายสูงสุดอยู่ที่ 23.20 บาท
จึงถือว่าทั้ง SAPPE และ ICHI เป็น 2 หุ้นกลุ่มเครื่องดื่มที่มีอนาคตไกล แนวโน้มการสร้างกำไรสามารถเติบโตได้ต่อเนื่อง