หุ้นรอเม็ดเงิน LTF

กองทุนรวมหุ้นระยะยาว หรือ LTF หากมีการไฟเขียวให้กลับมาขายใหม่ได้จริงบนเกณฑ์เดิม จะมีส่วนช่วยการดันดัชนีได้


กองทุนรวมหุ้นระยะยาว หรือ LTF

หากมีการไฟเขียวให้กลับมาขายใหม่ได้จริงบนเกณฑ์เดิม

จะมีส่วนช่วยการดันดัชนีได้ เพราะทุก ๆ 10,000 ล้านบาท ที่ LTF มีแรงซื้อและมีเม็ดเงินใหม่เข้ามาจะช่วยหนุนดัชนีระหว่าง 20-50 จุด

ขณะที่ข้อมูล LTF ในอดีตของแต่ละปีนั้น

จะมีเม็ดเงินเข้ามามากถึง 6-8 หมื่นล้านบาท

ล่าสุด “พิชัย ชุณหวชิร” รองนายกฯ และ รมว.คลังบอกเองว่า กองทุน LTF จะมีส่วนช่วยให้มาร์เก็ตแคปฟื้นกลับมาได้ถึง 1 ล้านล้านบาท

สัญญาณที่ภาครัฐส่งออกมา

เอกชนที่ตอบรับ และแสดงความพร้อมที่เดินหน้า LTF

ทำให้คาดกันว่า LTF น่าจะถูกกลับมานำมาขายได้ทันปี 2567 

ส่วนจะอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์เดิม หรือเปลี่ยนแปลงบ้าง ยังต้องมาติดตามกัน

ประเด็นที่น่าสนใจคือ เม็ดเงินที่เข้ามา หากยังคงยึดแนวทางเดิม คือ สัดส่วนลงในตลาดหุ้นไทยเป็นหลัก

ย่อมส่งผลดีต่อภาพรวมของตลาดหุ้นที่เผชิญกับแรงขายของฟันด์โฟลว์

รวมถึงชอร์ตเซลที่เข้ามากดดัชนี

บรรดานักวิเคราะห์ต่างไปรวบรวมข้อมูลมาว่า

เม็ดเงินจากกองทุน LTF เข้าหุ้นตัวไหนบ้าง เพื่อให้นักลงทุนใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจกันดู

สรุปง่าย ๆ คือ แนะนำให้ “ดักซื้อ” หุ้นเหล่านั้น กันไว้ก่อนนั่นแหละ

เช่น บล.ธนชาต บอกว่า หลังจากกระทรวงการคลังเตรียมฟื้นกองทุนหุ้นระยะยาว (LTF)

ส่วนสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เตรียมหารือสมาชิกทั้ง 7 องค์กร ในวันที่ 21 พ.ค. 2567 นี้ เพื่อพิจารณานำกองทุน LTF กลับมาใช้  คาดว่าน่าจะได้ข้อสรุปภายในเดือนนี้ ก่อนเสนอกระทรวงการคลังพิจารณาต่อไป

หากดูสถิติในอดีตของกอง LTF (ระยะเวลาการลงทุน 5-7 ปีปฏิทิน)

จะพบว่าในช่วงที่มี LFT มีเม็ดเงินในฝั่งของกองทุนส่วนใหญ่จะอยู่ในฝั่งซื้อสุทธิ เฉลี่ยเดือนละ 7.3 พันล้านบาท

และสูงสุดอยู่ที่ 3.6 หมื่นล้านบาทต่อเดือน

ทว่าหลังจากสิ้นสุดเมื่อปลายปี 2562 มูลค่าการซื้อขายลดลงอย่างเห็นได้ชัด

และส่วนใหญ่อยู่ในฝั่งของขายสุทธิเฉลี่ยเดือนละ 3.6 พันล้านบาท ทำให้คาดว่า หากกลับมามีกองทุน LTF อีกครั้งน่าจะช่วยกระตุ้นมูลค่าการซื้อขายของ SET ได้

กองทุน LTF ส่วนใหญ่จะเน้นลงทุนในหุ้นกลุ่ม Big-Cap

จึงแนะนำ “ซื้อ” หุ้นกลุ่ม Big-Cap ที่แนวโน้มกำไรโตดี และเป็นเป้าหมายของกองทุน LTF

หุ้นที่แนะนำ เช่น บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT, บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC, บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) AMATA, บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ  BDMS บริษัท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BH 

บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL, บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN

บริษัท คอมเซเว่น จำกัด (มหาชน) หรือ COM7 บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) หรือ TIDLOR

และบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA

ธนะชัย ณ นคร

Back to top button