FPI โกยรายได้ Q1 ทะลุ 563 ล้าน ดันกำไรแตะ 60 ล้าน แย้ม Q2 โตต่อเนื่อง

FPI โกยรายได้ไตรมาส 1/67 ทะลุ 563.50 ล้านบาท ดันกำไรแตะ 60.20 ล้านบาท แย้มไตรมาส 2/67 โตต่อเนื่อง มั่นใจผลงานปีนี้โตเข้าเป้า 3 พันล้านบาท พร้อมตั้งงบลงทุน 600 ล้านบาท ขยายธุรกิจในและต่างประเทศ


นายสมพล ธนาดำรงศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฟอร์จูน พาร์ท อินดัสตรี้ จำกัด (มหาชน) หรือ FPI เปิดเผยว่า ภาพรวมผลการดำเนินงานไตรมาส 1/67 มีรายได้รวมจำนวน 563.50 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีรายได้ จำนวน 512.50 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิจำนวน 60.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.3% จากช่วงเดียวกันปีก่อนมีกำไรสุทธิ จำนวน 56.60 ล้านบาท หากดูกำไรของบริษัท ฟอร์จูน พาร์ท อินดัสตรี้ ในไตรมาส 1 ซึ่งมียอดขาย 532.99 และกำไรสูงถึง 97.749 คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิสูงถึง 18.34% แต่เนื่องจากการเข้านับตรวจสต๊อกสินค้าปลายปี เมื่อ 31 มีนาคม พ.ศ.2567 ที่ผ่านมา พบว่ามีต้นทุนสินค้าที่สูงมาก ซึ่งเกิดจากยอดสต๊อกสินค้าตั้งแต่เริ่มกิจการ ดังนั้นทางบริษัทจึงปรับยอดให้ตรงตามต้นทุนจริงกว่า 22 ล้านบาท ทำให้กำไรรวมของบริษัทฯ เหลือเพียง 60.2 ล้านบาท

ทั้งนี้ รายได้ที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากการเติบโตของยอดขายจากบริษัทลูกที่อินเดีย จำนวน 92.4 ล้านรูปี เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 40.1 ล้านรูปี หรือ 76.6% โดยภาพรวมแม้ว่ายอดขายภายในประเทศ และประเทศในแถบแอฟริกาจะชะลอตัวลง แต่ชดเชยด้วยยอดขายจากประเทศในกลุ่มเอเชียและตะวันออกกลาง ขณะที่ยอดขายจากกลุ่มประเทศอื่นยังคงเติบโตกว่าปีที่ผ่านมา

สาเหตุที่ยอดขายในประเทศไม่เป็นไปตามเป้า เกิดจากปัญหาข้อพิพาทในทะเลแดงตั้งแต่ 15 ธันวาคมที่ผ่านมา เป็นผลให้ค่าขนส่งในตะวันออกกลาง ยุโรป แอฟริกา เพิ่มขึ้นมากกว่า 200% และพื้นที่บริเวณทะเลแดงเพิ่มขึ้น400% เทศกาล Ramadan ระหว่าง 12 มีนาคม ถึง 20 เมษายน

สำหรับแนวโน้มผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2567 ตลอดจนถึงสิ้นปีนี้ คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทฯ เน้นกลยุทธ์บริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อช่วยผลักดันให้มาร์จิ้นปรับตัวสูงขึ้น และประเมินว่าภาพรวมอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ในปีนี้จะเติบโตไปในทิศทางเดียวกันกับภาพรวมอุตสาหกรรมรถยนต์ที่คาดว่าปีนี้จะโต 3% เป็น 1.95 ล้านคัน

โดยในปี 2567 บริษัทฯตั้งเป้ารายได้เพิ่มขึ้นแตะระดับ 3,000 ล้านบาท เติบโต 10% จากปีก่อน พร้อมกับตั้งงบลงทุน 600 ล้านบาท ขยายธุรกิจในประเทศซาอุดีอาระเบีย อินเดีย และประเทศไทย โดยจะใช้เงินลงทุนในซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นตลาดเบอร์ 1 ของ FPI ประมาณ 200-300 ล้านบาท สำหรับเป็นศูนย์กลางการส่งออก (Export Hub) แห่งใหม่ในซาอุดีอาระเบีย ประกอบด้วยโรงงานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ และศูนย์กระจายสินค้า เพิ่มการผลิตสินค้ารองรับตลาดตะวันออกกลาง และจะใช้เงินลงทุนในอินเดียประมาณ 100 ล้านบาท สำหรับการลงทุนโรงงานแม่พิมพ์ แม่พิมพ์ และเครื่องจักร ส่วนเงินลงทุนที่เหลือจะใช้ลงทุนในประเทศไทย สำหรับขยายโรงงานแม่พิมพ์ และสร้างออฟฟิศใหม่

Back to top button