เปิดมูลค่าคดีฟ้องร้อง “ทรู-กสทช.” ทะลุ 2 หมื่นล้านบาท

กลายเป็นมหากาพย์ข้อพิพาทที่เกิดขึ้นในแวดวงโทรคมนาคม ระหว่างคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.ที่ถือเป็น Regulator กับบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE เห็นได้จากข้อมูลที่เปิดเผยอยู่ในรายงานประจำปี 2566 ของ TRUE พบว่า ณ สิ้นปี 2566 ทรู มีการบันทึกเกี่ยวกับข้อพิพาททางกฎหมายที่สำคัญของกลุ่มทรู ในส่วนของคดีฟ้องร้องที่ค้างอยู่ที่ศาลปกครอง รวมทั้งสิ้น 9 คดี โดยมีมูลค่าคดีฟ้องร้องกว่า 20,000 ล้านบาท ดังนี้...


เริ่มที่คดีแรก บริษัท ทรู วิชั่นส์ เคเบิ้ล จำกัด (มหาชน) ยื่นฟ้องคณะกรรมการ กสทช. กับพวก เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์การจัดลำดับบริการโทรทัศน์ วันที่ 17 พ.ย. 2558 คดีถึงที่สุด โดยศาลฯ ยืนตามคำพิพากษาเมื่อวันที่ 16 พ.ค. 62 ให้เพิกถอนฯ และในวันที่ 13 มี.ค. 66 ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้ยกฟ้องคดีที่ กสทช. ยื่นอุทธรณ์

คดีที่ 2 บริษัท ทรูมูฟ จำกัด ยื่นฟ้องคณะกรรมการ กสทช. สำนักงาน กสทช. และเลขาธิการ กสทช. มูลค่าคดีฟ้องร้องรวม 17,335.05 ล้านบาท เพื่อขอให้ศาลฯ  1) เพิกถอนมติของ กสทช.ที่ให้นําส่งเงินรายได้จากการให้บริการตามมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราว จำนวนเงิน 1,069.98 ล้านบาท 2) ขอให้ชำระค่าใช้จ่ายให้ทรูมูฟ อันเนื่องมาจากการปฏิบัติตามประกาศมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการ จำนวนเงิน 16,074.10 ล้านบาท และ 3) ขอให้คืนค่าธรรมเนียมเลขหมายที่ทรูมูฟ ชำระให้แก่ กสทช. ภายหลังสัญญาให้ดำเนินการระหว่างทรูมูฟ -CAT Telecom สิ้นสุด จำนวนเงิน 190.97 ล้านบาท

คดีที่ 3 บริษัท ทรูมูฟ จำกัด ยื่นฟ้องคณะกรรมการ กสทช. สำนักงาน กสทช. และเลขาธิการ กสทช. เพื่อขอให้ชำระค่าใช้จ่ายให้ทรูมูฟ อันเนื่องมาจากการให้บริการโทรศัพท์ตามประกาศคุ้มครองผู้ใช้บริการ (1 พ.ย.-3 ธ.ค. 58) จำนวนเงิน 709.65 ล้านบาท

คดีที่ 4 บริษัท ทรูมูฟ จำกัด ยื่นฟ้องคณะกรรมการ กสทช. และพวก ขอเพิกถอนมติ กสทช. ที่ 17/251 ให้ ทรูมูฟ นำส่งเงินรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์ตามประกาศ มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเพิ่มเติม พร้อมดอกผลที่เกิดขึ้นจำนวนเงิน 2,311.97 ล้านบาท

ทั้งนี้ ในวันที่ 6 ก.ย. 62 ศาลฯ มีคำสั่งให้รวมคดี 2-4 เข้าด้วยกัน เพราะมีคู่กรณีเดียวกัน/ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่ใช้อ้างอิงเป็นชุดเดียวกัน และต่อมาในวันที่ 11 และ 12 พ.ย. 64 ศาลฯ มีคำสั่งให้รวมคดี เข้ากับคดีที่ กสทช. ฟ้องทรูมูฟ ต่อศาลปกครอง 2 คดี ได้แก่ เรียกให้ชำระค่าธรรมเนียมเลขหมายฯ และให้นำส่งรายได้จากการให้บริการบนคลื่นความถี่ 1800 MHz ตามมาตรการคุ้มครองผู้ใช้ฯ

ส่วนคดีที่ 5 บริษัท ทรู วิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด   ยื่นฟ้องคณะกรรมการ กสทช. กับพวก ขอให้เพิกถอนมติ กสทช. ที่สั่งให้บริษัทฯ ระงับการนําบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไปมาออกอากาศผ่านโครงข่ายโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก ใน หมวดหมู่หรือลำดับช่องบริการโทรทัศน์อื่นๆ

คดีที่ 6 บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (TUC) ยื่นฟ้อง กสทช. และเลขาธิการ กสทช. เพื่อขอเพิกถอนมติและคำสั่ง กสทช. ที่สั่งให้ TUC ชำระค่าปรับทางการปกครอง กรณีไม่ดำเนินการตามประกาศ กทช. เรื่องหลักเกณฑ์บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ต่อมาในวันที่ 20 ธ.ค. 66 ศาลฯ มีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งกำหนดค่าปรับฯ อย่างไรก็ตาม ศาลฯยังเปิดโอกาสให้มีการยื่นอุทธรณ์

คดีที่ 7. บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด หรือ DTN (ปัจจุบันควบรวมกับ TUC ของกลุ่มทรูฯ) ยื่นฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งกำหนดค่าปรับทางการปกครองในปี 2558 ของเลขาธิการ กสทช. กรณีที่ DTN ไม่ปฏิบัติตามประกาศ กทช. เรื่องบริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ และเงื่อนไขแนวทางการโอนย้ายผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (MNP Porting Process Manual) ระหว่างวันที่ 18 ก.ย.-4 ต.ค. 58) โดยคดีนี้ฟ้องตั้งแต่ปี 58 และฟ้องอีกครั้งในปี 63 โดยเมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 64 ศาลฯ มีคำสั่งรวมคดีเข้าด้วยกัน

คดีที่ 8.ข้อพิพาทระหว่างทรู (ดีแทคเดิม) และกสทช. ขอให้เพิกถอนคำสั่งเลขาธิการ กสทช. ที่กําหนดให้ดีแทค ชําระค่าปรับทางปกครองจากการไม่ปฏิบัติตามประกาศ กสทช. เรื่องอัตราขั้นสูงของค่าบริการ โทรคมนาคมสําหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทเสียงภายในประเทศ พ.ศ. 2555  จำนวนเงินค่าปรับ 73.60 ล้านบาท

9.ข้อพิพาทระหว่างทรู (ดีแทคเดิม) และ กสทช. กรณีนําส่งเงินรายได้จากการให้บริการตามมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราว มีการฟ้องร้องกันตั้งแต่ปี 63  จำนวนเงิน 134.55 ล้านบาท ขณะที่ เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 64 กสทช. ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อเรียกร้องให้ดีแทค นำส่งรายได้ดังกล่าวเพิ่มเติม 143.70 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยผิดนัดร้อยละ 7.5 ต่อปี

ล่าสุดต้นปีที่ผ่านมา บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด ยังได้ยื่นฟ้อง ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช. ด้านกิจการโทรทัศน์ เป็นจำเลย ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ในข้อหาเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และศาลฯ ประทับรับฟ้องวันที่ 14 มี.ค. 2567

โดยมูลเหตุคดีนี้ เนื่องจากผู้ถูกฟ้อง ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์ ออกหนังสือซึ่งเป็นมติที่ประชุมในนาม สำนักงาน กสทช. ส่งไปยังช่องทีวีดิจิทัล เพื่อให้ตรวจสอบว่า มีการนำเนื้อหาช่องรายการไปออกอากาศผ่านโครงข่ายที่ไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่ (แพลตฟอร์ม OTT ของ TrueID โดยมีบริการสตรีมมิ่ง และรายการฟรีทีวีซึ่งมีโฆษณาคั่นรายการด้วย) โดยเป็นการประชุมพิจารณา ที่สืบเนื่องจาก กสทช. ได้รับคำร้องเรียนตั้งแต่ปี 2565 จากผู้บริโภคที่เป็นลูกค้า TrueID

ปัจจุบัน คดีนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ยังไม่มีคำวินิจฉัยเป็นที่สุด ผู้ถูกร้องยังคงอยู่ในขั้นตอนคดีที่สามารถชี้แจงต่อศาล และยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ตามปกติจนกว่าคดีจะถึงที่สุด

นอกจากนี้ มีรายงานเพิ่มเติมว่า ในเอกสารรายงานประจำปี 2566 ของสำนักงาน กสทช. ได้มีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับข้อพิพาท และคดีความที่สำคัญที่สำนักงานฯ เป็นผู้ถูกฟ้องไว้กว่า 20 คดี จำนวนทุนทรัพย์รวม 64,217.35 ล้านบาท ทั้งนี้ แม้ในรายงานไม่ได้มีการระบุชื่อคู่ความ แต่พบว่าคดีส่วนใหญ่เกี่ยวกับบริการโทรคมนาคม และค่าปรับทางปกครองเนื่องจากผู้ได้รับใบอนุญาตไม่ปฏิบัติตามประกาศ กสทช. เป็นต้น

 

Back to top button