“ตลท.” งัด 2 มาตรการ Dynamic Price band-Auto Halt สกัดหุ้นร้อน
ตลาดหลักทรัพย์ฯ เตรียมใช้มาตรการ Dynamic Price band ช่วงปลายไตรมาส 2/67 ดับความร้อนแรงของหุ้น ส่วนมาตรการ Auto Halt คาดเริ่มใช้ไตรมาส 4/67 หวังคุมคำสั่งซื้อขายที่ผิดปกติ
นายรองรักษ์ พนาปวุฒิกุล รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานกฎหมาย และหัวหน้ากลุ่มงานเลขานุการองค์กรและกำกับองค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ เตรียมใช้มาตรการ Dynamic Price band ในช่วงปลายไตรมาส 2/67 โดยหุ้นที่จะถูกใช้มาตรการดังกล่าว จะใช้กับทุกหุ้นในตลาด SET และ mai ที่มีราคาตั้งแต่ 1 บาทขึ้นไป ยกเว้นหุ้นที่มีเหตุที่อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของราคามากกว่าปกติ เช่น หุ้นที่เพิ่งเข้าจดทะเบียนใหม่, หุ้นที่ตลาดหลักทรัพย์มีการขยาย ceiling & Floor ประจำวัน เช่น หุ้นที่มีข่าวการทำ Tender offer เนื่องจากเป็นการสะท้อนแล้วว่า จะมีคนเข้าซื้อหุ้นนี้ที่ราคามากกว่าราคาปัจจุบัน และหุ้นที่เปิดให้ซื้อขายชั่วคราว เป็นต้น
ทั้งนี้ เงื่อนไข Trigger ของ Dynamic Price band จะดูว่าหากมีคำสั่งซื้อหรือขายที่เข้ามาแล้วทำให้หุ้นนั้นๆ เคลื่อนที่ ราคาที่จะทำให้หุ้นเกิดการ Matching อยู่นอก Dynamic Price band ระบบซื้อขายจะหยุดการจับคู่คำสั่งนั้น โดยจะกำหนด Dynamic Price band ที่บวก-ลบ 10% จากราคาซื้อขายล่าสุด
โดยลักษณะการทำงาน ระบบจะยกเลิกเฉพาะคำสั่งที่เป็น aggressive order คือคำสั่งที่ทำให้เกิด Trigger และเมื่อมี Trigger แล้ว จะเข้าสู่ระบบ Dynamic Price band ช่วงของ Pre-open 2 นาที ซึ่งในช่วงนี้ผู้ลงทุนสามารถส่งแก้ไข, ยกเลิก Order ได้ แต่จะไม่มีการ Match คำสั่ง และจะไม่มีการหยุดการซื้อขายหุ้นอื่น จะหยุดเฉพาะหุ้นที่เกิด Dynamic Price band ช่วงเวลาที่ใช้ Dynamic Price band จะใช้ทุกช่วงเวลาซื้อขาย ยกเว้นช่วง Pre-open และ Pre-Close
“จะเห็นว่า Dynamic Price band จะ Move ตามราคาตลาดแต่ละช่วงไปเรื่อยๆ อยู่ที่ บวก-ลบ 10% และหากมี aggressive order เข้ามา แล้วอาจมีการจับคู่ซื้อขายที่เกิดขึ้นนอก band สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ ระบบจะยกเลิกคำสั่งซื้อขายนั้น เฉพาะส่วนที่เกิดการจับคู่ซื้อขายนอก band และจะเข้าสู่ช่วงของ Pre-open ประมาณ 2 นาที ซึ่งในช่วงนี้จะไม่มี Dynamic Price band และสามารถที่จะส่งคำสั่งแก้ไข หรือยกเลิกคำสั่งที่ส่งไปแล้วได้
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาทางตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่เคยมีระบบ Dynamic Price band มาก่อน พอมีการส่งคำสั่งซื้อขายทีเดียว จึงทำให้เกิด ceiling & Floor แต่เมื่อมีมาตรการดังกล่าวจะทำให้เกิดการขายไปทีละนิดๆ ทั้งนี้ระบบไม่ได้ป้องกันราคาไปถึง 30% หรือ ceiling & Floor แต่การที่จะ ceiling & Floor จะเป็นลักษณะ Soft Landing & Soft take off หรือทำให้การปั่นหุ้นขึ้นหรือลง มันยากขึ้น” นายรองรักษ์ กล่าว
ส่วนความคืบหน้าของมาตรการ Auto Halt รายหุ้น ปัจจุบันยังอยู่ในช่วงการดำเนินการ เนื่องจากเป็นเรื่องของการพัฒนาระบบ คาดการณ์ว่าจะเริ่มใช้ในไตรมาส 4/67 โดยหุ้นที่จะถูก Auto Halt คือหุ้นทุกตัวที่อยู่ใน SET และ mai แต่จะไม่ใช้กับหุ้นที่มีปริมาณการซื้อขายสูงเป็นปกติ เช่น หุ้นจดทะเบียนใหม่ หรือหุ้นที่เปิดให้ซื้อขายชั่วคราว เป็นต้น โดยเงื่อนไขการใช้ Trigger เมื่อจำนวนรวมของหุ้นในฝั่งซื้อหรือฝั่งขาย ของหุ้นใดมากกว่า 15% ของจำนวนหุ้นจดทะเบียนจะ Trigger Auto Halt หยุดพักการซื้อขายเฉพาะหุ้นนั้น เป็นระยะเวลา 60 นาที และจะไม่มีการ Auto Halt เกินกว่า 1 ครั้ง/วัน
โดยลักษณะการทำงานจะหยุดการซื้อขายเฉพาะหุ้นนั้นเป็นเวลา 60 นาที, ระบบจะไม่มีการยกเลิก Order หรือเมื่อเกิด Auto Halt จะให้เป็นหน้าที่ของโบรกเกอร์ในการไปติดต่อลูกค้า เพื่อสอบถามลูกค้าว่าจะยกเลิกหรือไม่ ซึ่งในช่วงที่เกิด Auto Halt ผู้ลงทุนสามารถแก้ไข, ยกเลิก Order ได้ แต่จะไม่สามารถส่ง Order ใหม่ได้ และกรณี Auto Halt แล้วเหลือช่วงเวลาทำการซื้อขายน้อยกว่า 60 นาที จะหยุดการซื้อขายตามเวลาที่เหลือใน Session นั้น ทั้งนี้ช่วงเวลาที่ใช้ คือ ทุกช่วงเวลาซื้อขาย ยกเว้น Pre-close
“หากย้อนกลับไปที่กรณีของหุ้น MORE ความผิดปกติที่เกิดขึ้นคือ มีการส่งคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างผิดปกติ ตั้งแต่ก่อนเปิดตลาด หรือฝั่งคนซื้อมีการซื้อในทุกราคาเข้ามา ซึ่งมาตรการ Auto Halt นี้เราจะป้องกันในการที่จะเกิดอย่าง MORE ซ้ำ ฉะนั้นเมื่อดูแล้ว Pre-open มีจำนวนคนที่สั่งซื้อหรือขายเข้ามามาก จนกระทั่งเกิน 15% ของจำนวนหุ้นจดทะเบียน ระบบจะเกิดการ Halt หุ้นนั้น หมายความว่า หุ้นนั้นจะไม่มีการ Matching ระหว่างผู้ซื้อ ผู้ขาย แต่คำสั่งยังอยู่
ขณะเดียวกันสิ่งที่โบรกเกอร์ต้องทำคือ ต้องไปดูว่าคำสั่งที่ซื้อมากกว่าปกติมันสมเหตุสมผลหรือไม่ และทำการติดต่อลูกค้า เพื่อตรวจสอบคำสั่งว่ามีการส่งคำสั่งผิดหรือไม่ หรือต้องการซื้อจริงหรือไม่ หากมีการส่งคำสั่งผิด ก็จะได้ทำการแก้ไขได้ ก่อนที่จะเปิดเทรดใหม่อีกครั้ง หรือหากดูแล้วเป็นการเทรดเกินวงเงิน เกินอำนาจที่ลูกค้าจะสามารถจ่ายเงินได้ โบรกก็จะได้ดูว่าจะควบคุมความเสี่ยงนี้ยังไง จึงเป็นที่มาว่าระบบจะไม่ได้ไปยกเลิก แต่ระบบจะทำให้โบรกมีเวลาไปติดต่อกับลูกค้า เพื่อดูแลออเดอร์ที่มีการส่งเข้ามาจนทำให้เกิด Trigger” นายรองรักษ์ กล่าว