เปิดโผ 5 หุ้น “เครื่องดื่ม” กำไร Q1 ทะลัก! ชู MALEE โตสุด 260%
5 หุ้นเครื่องดื่มฟอร์มแจ่ม กวาดกำไรสุทธิไตรมาส 1/67 เติบโตแกร่งจากช่วงปีก่อน รับรู้ยอดขายในและต่างประเทศเพิ่มขึ้น พร้อมควบคุมต้นทุนได้มีประสิทธิภาพ ขณะที่ MALEE มีกำไรสุทธิเปลี่ยนแปลงสูงสุดเติบโต 260%
อุตสาหกรรมเครื่องดื่มช่วงไตรมาส 1 ปี 2567 ถือว่าผลการดำเนินงานโชว์ฟอร์มได้ดีเติบโตอย่างแข็งแกร่ง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องดื่มชูกำลัง เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ น้ำดื่ม ชาเขียว ฯลฯ ต่างสามารถสร้างยอดขายถล่มทลาย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสภาพอากาศในประเทศไทยร้อนจัดจากปรากฎการณ์เอลนีโญ
สำหรับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องดื่มสามารถทำกำไรสุทธิไตรมาส 1 ปี 2567 เติบโตจากงวดไตรมาส 1 ปี 2566 พบว่ามีบริษัท MALEE, COCOCO, CBG, ICHI, PLUS, SAPPE และ OSP เป็นต้น
บริษัท มาลีกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ MALEE รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2567 บริษัทมีกำไรสุทธิ 122.14 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 260.17% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 33.91 ล้านบาท หลักมาจากช่องทางการขายต่างประเทศปรับเพิ่มขึ้น โดยบริษัทย่อยที่ประเทศเวียดนามได้มีผลประกอบการพลิกจากขาดทุนเป็นกำไรต่อเนื่อง อันเนื่องจากการเติบโตของธุรกิจรับจ้างผลิต จากลูกค้าเดิมที่มีคำสั่งซื้อขนาดใหญ่ และประสิทธิภาพในการควบคุมต้นทุนขายและค่าใช้จ่ายที่เป็นไปตามแผนงานที่กำหนดไว้
บริษัท ไทย โคโคนัท จำกัด (มหาชน) หรือ COCOCO รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2567 บริษัทมีกำไรสุทธิ 203.52 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 203.00% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 67.09 ล้านบาท โดยเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากการขายและบริการ และการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทุกประเภทเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลิตภัณฑ์น้ำมะพร้าวและผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยง เนื่องจากบริษัทสามารถขยายช่องทางการจัดจำหน่ายได้ทุกช่องทางการตลาด และความสามารถในการควบคุมต้นทุนการผลิต และการบริหารต้นทุนในการจัดจำหน่ายและค่าใช้จ่ายในการบริหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ
บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CBG รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2567 บริษัทมีกำไรสุทธิ 628.23 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 138.15% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 263.79 ล้านบาท โดยเป็นผลจากรายได้จากการขายรวม 4,935 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นรายได้จากการดำเนินการผลิต ภายใต้เครื่องหมายการค้าของตนเองจำนวน 2,838 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนจากทั้งธุรกิจในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMV ที่กลับมาฟื้นตัวดีขึ้น
นอกจากนี้ บริษัทยังมีรายได้จากการรับจ้างจัดจำหน่ายให้แก่บุคคลภายนอก จำนวน 1,823 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการจัดจำหน่ายสินค้าประเภทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นหลัก ในขณะที่รายได้จากการจำหน่ายสินค้ากลุ่มอื่นๆอยู่ที่ 202 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 65% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการผลิตและจำหน่ายขวดแก้ว กระป๋องอะลูมิเนียม และบรรจุภัณฑ์ต่างๆให้แก่บริษัทคู่ค้าและคู่ค้าผู้ผลิตเบียร์คาราบาวและเบียร์ตะวันแดง นอกจากนี้ต้นทุนที่ปรับตัวลดลง การควบคุมค่าใช้จ่ายดำเนินงานให้เกิดประสิทธิภาพสูง
บริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ICHI รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2567 บริษัทมีกำไรสุทธิ 363.77 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 64.06% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 221.73 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากรายได้จากการขาย 2,140.30 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.80% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยยอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น 17.30% จากการเติบโตของกลุ่มตลาดชาพร้อมดื่ม และสินค้าใหม่ ส่วนยอดขายจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น 10.60% มาจากรายได้จากการรับจ้างผลิตสินค้า (OEM)
บริษัท โรแยล พลัส จำกัด (มหาชน) หรือ PLUS รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2567 บริษัทมีกำไรสุทธิ 12.78 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 55.73% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 8.21 ล้านบาท โดยมีรายได้จากการขายเพิ่มขึ้น เป็นผลจากการเติบโตอย่างแข็งแกร่งของยอดขายในทุกภูมิภาค ได้แก่ ทวีปเอเชีย, ทวีปอเมริกาเหนือ, ทวีปตะวันออกกลาง ประกอบกับสถานการณ์การสั่งซื้อสินค้าของทวีปอเมริกากลับมาเป็นปกติไม่มีปัญหาเรื่องการกระจายสินค้าอย่างปีก่อน
นอกจากนี้ในไตรมาส 1 ปี 2567 บริษัทฯ ได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่เครื่องดื่มน้ำมะพร้าว 100% ภายใต้แบรนด์ของบริษัท “COCO ROYAL” รองรับตลาดที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง
บริษัท เซ็ปเป้ จำกัด (มหาชน) หรือ SAPPE รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2567 บริษัทมีกำไรสุทธิ 352.35 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28.22% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 274.79 ล้านบาท โดยมีรายได้จากการขายอยู่ที่1,836.00 ล้านบาท ซึ่งเป็นยอดรายได้จากการขายที่สูงที่สุดรายไตรมาสตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทฯ(All-Time High) เติบโต 20.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มีปัจจัยหลักมาจากการเติบโตของยอดขายในต่างประเทศจาก ทุกภูมิภาค เอเชีย ยุโรป ตะวันออกกลาง และอเมริกา จากการที่บริษัทสามารถขยายช่องทางการขายในตลาดต่างประเทศได้อย่าง ต่อเนื่องโดยเฉพาะช่องทางการขายในร้านค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade) ที่มีสาขาอยู่ทั่วประเทศ
นอกจากนี้ บริษัทมีการบริหารจัดการภายในด้านการผลิตที่มีประสิทธิภาพดีขึ้น ประกอบกับได้รับปัจจัยบวกจากทั้งการอ่อนค่าของค่าเงินบาทส่งผลให้สัดส่วนต้นทุนการผลิตต่อรายได้จากการขายปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) หรือ OSP รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2567 บริษัทมีกำไรสุทธิ 828.50 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.50% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 777.90 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากรายได้จากการขายอยู่ที่ 7,260 ล้านบาท เติบโต 10.90% จากช่วงเดียวของปีก่อน สะท้อนการเติบโตของทั้งกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มและกลุ่ม ผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนบุคคลที่เพิ่มขึ้น และรายได้จากกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มขยายตัวจากปัจจัยด้านปริมาณการขายและกลยุทธ์การเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์จากทั้งในประเทศและต่างประเทศ