ปัญหาแม่ลูกดกแฉทุกวัน ทันเกมหุ้น

นานกว่ายี่สิบปีมาแล้ว ภาพยนตร์เรื่อง "วงศาคณาญาติ" เคยโด่งดังด้วยเรื่องราวอลวนพัลวันพัลเกของครอบครัวขยายแบบไทยๆ จนวุ่นวาย... จนถึงวันนี้เรื่องวุ่นวายดังกล่าว ยังตามมาเกิดกับอดีตบริษัทดาวรุ่งที่เคยเป็นเจ้าแห่งวงการบันเทิงไทยที่กำลังปรับตัวยังไม่แล้วเสร็จอย่าง บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GRAMMY


นานกว่ายี่สิบปีมาแล้ว ภาพยนตร์เรื่อง “วงศาคณาญาติ” เคยโด่งดังด้วยเรื่องราวอลวนพัลวันพัลเกของครอบครัวขยายแบบไทยๆ จนวุ่นวาย… จนถึงวันนี้เรื่องวุ่นวายดังกล่าว ยังตามมาเกิดกับอดีตบริษัทดาวรุ่งที่เคยเป็นเจ้าแห่งวงการบันเทิงไทยที่กำลังปรับตัวยังไม่แล้วเสร็จอย่าง บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GRAMMY

เหตุ เกิดซ้ำซ้อนด้วยรายละเอียดต่างกันก็เพราะปัญาหาทำนองเดียวกันคือ แม่ลูกดกที่บังเอิญยั้วเยี้ยไปหมด ตัดไม่ได้ขายไม่ขาด ยังตามาหลอกหลอนกันเรื่อยๆ

ล่าสุด กลายเป็นข่าวฉาวโฉ่ขึ้นมาว่า Z PAY TV ซึ่งเคยเป็นแบรนด์ใต้ร่มเงาของบริษัทมาก่อน (ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว) ทำการปิดตัวและสร้างความเดือดร้อนให้ลูกค้ามหาศาลถึงขั้นถูก กสทช.ยกขึ้นมาตำหนิกันเลยทีเดียว

เรื่องมันเริ่มจาก Z PAY TV ซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของการให้บริการในกล่อง GMM Z ได้ประกาศยกเลิกการให้บริการ ตั้งแต่วันที่ 6 มกราคม 2559 โดยเบื้องต้นกล่อง GMM Z จะใช้ได้ถึงวันที่ 6 ..นี้ หลังจากนั้นจะรับชมได้เฉพาะช่องฟรีทีวีทั่วไป ไม่สามารถรับชมช่องฟรีของ GMM Z ได้ ส่วนการชดเชย ลูกค้าที่เติมเงินจะได้รับกล่อง CTH ภายในวันที่ 6 .. ตามที่อยู่ที่ให้ไว้ใน onlineservice.gmmz.tv พร้อมชดเชยฟรี Package เพิ่มอีก 1 ปี หรือตามที่ระบุไว้

โดยเฟซบุ๊ก Z PAY TV ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการให้บริการในกล่อง GMM Z มีการเขียนข้อความถึงการเปลี่ยนแปลงระบบการให้บริการบนกล่อง ดังนี้

“Z PAY TV ขอแจ้งให้ท่านทราบว่า ทางบริษัทจะเปลี่ยนแปลงระบบการให้บริการบนกล่อง GMM Z จึงขอแจ้งยุติการให้บริการของ Z Pay TV บนกล่อง GMM Z โดยลูกค้าจะไม่สามารถเติมช่องรายการได้ตั้งแต่วันที่ 17 ม.ค. 59 เป็นต้นไป และไม่สามารถรับชมช่องรายการของ Z Pay TV ได้ตั้งแต่วันที่ 6 ก.พ. 59”

ทิ้งลูกค้าดื้อๆ ง่ายๆ แบบนี้ มันเข้าข่ายธรรมาภิบาลเสียหาย… ใช้เกณฑ์วัดทางกฎหมายไม่ได้

งานนี้ นักโหนกระแสระดับชาติอย่าง นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ ถึงขั้นบอกว่า อนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ มีมติเสนอ กสท. ให้ทั้ง 2 บริษัทต้องรับผิดชอบร่วมกัน และ ให้ 2 บริษัทต้องชี้แจงมาตรการในการคุ้มครองผู้ใช้บริการให้ทราบโดยทั่วถึงกัน เข้าใจในการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น การเยียวยาผู้ใช้บริการ รวมถึงการเตรียมความพร้อมของบริษัท ไม่ว่าจะเป็น Call Center ในการให้บริการข้อมูล และประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

งานที่เสียชื่อเสียหน้าแบบนี้ GRAMMY ทนไม่ได้อยู่แล้ว ยิ่งหากไม่ได้ทำผิด ยิ่งทนไม่ได้ใหญ่…แต่ก็อย่างว่า บริษัทที่คิดว่าตนเองเป็นยักษ์ใหญ่ มักจะเส้นลึกกว่าธรรมดา เพราะกว่าจะตอบชี้แจงข้อเท็จจริงได้ ปาเข้าไปกว่า 1 วันผ่านไป

เรียกว่าบ้านใหญ่ประสาทช้า ไม่รู้ว่าบ้านเล็กวุ่นวายแค่ไหน

GRAMMY มีคำชี้แจงว่า “… บริษัทได้จำหน่ายเงินลงทุนในบริษัท จีเอ็มเอ็ม บี จำกัด (“GMMB”) ซึ่งเป็นผู้ดำเนินธุรกิจ Z PAY TV ให้กับ บริษัท ซีทีเอช แอลซีโอ จำกัด (CTH LCO) ไปแล้ว ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2557 จึงไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินการดังกล่าวหรือการให้บริการ Z PAY TV ในปัจจุบันแต่อย่างใด เป็นการตัดสินใจของ GMMB และเครือ CTH แต่ฝ่ายเดียว….”

พร้อมกับชี้แจงต่อว่า ส่วนธุรกิจแพลตฟอร์มโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม “GMM Z” ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้นในสัดส่วน 100% ยังคงดำเนินธุรกิจจำหน่ายกล่องรับสัญญาณโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมซึ่งผู้ใช้บริการสามารถรับชมช่องรายการฟรีทีวีได้ตามปกติ ทั้งในระบบ C-Band และ KU-Band นอกจากนี้กล่องรับสัญญาณโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมทุกรุ่นก็ยังคงใช้งานได้เช่นเดิม อีกทั้ง GMM Z ยังให้บริการหลังการขายสำหรับลูกค้าได้ปกติตามเงื่อนไขและการรับประกัน

เท่ากับว่า การประกาศยุติบริการ Z PAY TV จึงเป็นการยุติบริการในส่วน PAYTV ที่ดำเนินการและเป็นเจ้าของโดยกลุ่ม CTH เท่านั้น ไม่กระทบกับบริการโครงข่ายและกล่อง GMM Z แต่อย่างใด

ทราบแล้ว….เปลี่ยน!!!

โถ….ใครจะไปรู้ว่า เมื่อขายกิจการไปแล้ว ยังคงติ่งใช้ชื่อ GMMB ล่ะ….พ่อมหาจำเริญ

สองปีมานี้ สิ่งที่อากู๋ ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม และผู้บริหาร GRAMMY ตัดสินใจตัดอวัยวะ  ขา  เพื่อรักษาชีวิต  โดยไม่หลงระเริงไปออกจากร่มเงาเพื่อรักรักษาสภาพคล่องในยามขาดทุนจากการลงทุนใหม่อย่างลองผิดลองถูก ไม่หลงทางกับความฟู่ฟ่าของการลงทุนมาที่ผิดทิศทาง หวังกลับมาสู่เส้นทางที่ชัดเจน ให้กิจการเดินหน้าต่อไปได้อย่างมีเป้าหมาย

การตัดทิ้งธุรกิจที่ไม่คุ้มค่ายามขาลง เพื่อไปค้นหาธุรกิจหลักในกรอบแคบๆ ถือเป็นบทเรียนที่ดีเสมอ ไม่ผิด หลังจากที่ระหว่างปี 2556-2557 GRAMMY ผ่านการเพิ่มทุนจดทะเบียนมาแล้ว 2 ครั้ง จากระดับ 530.26 ล้านบาท มาเป็น 636.32 ล้านบาท และ 819.95 ล้านบาทตามลำดับ เนื่องจากมีปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน เพราะขาดทุนต่อเนื่อง 3 ปีรวดและขาดทุนมากขึ้นทุกปี เพิ่งจะกลับมีกำไรไตรมาสแรกของปี 2558 เพราะวิศวกรรมการเงินจากการขายเงินลงทุนออกไปเท่านั้น

กลยุทธ์ตัดทิ้งธุรกิจชายขอบทิ้งของ GRAMMY ทำมาแล้วหลายระ ลอกได้เงินมาเกือบ 2 พันล้านบาท จึงเป็นการเสียสละที่มาถูกทาง แต่การสื่อสารที่ผ่านชื่อกิจการที่ขายตัดออกไปแล้วไม่ยอมเปลี่ยนชื่ออย่างนี้ …. อยู่นอกเหนือความคาดหมาย

แม่ลูกดก ตัดทิ้งลูกไม่รักดีออกจากอกไปแล้ว…. แต่ตราบใดที่คนยังเข้าใจว่าเป็นลูกแม่คนเดิม ก็เลยสร้างเรื่องรุงรังอย่างนี้แหละ คราวหน้าถ้าจะขายกิจการทิ้งอีก กำหนดเงื่อนไขใหม่ให้รัดกุมก็แล้วกันนะจ๊ะอากู๋

Back to top button