กกพ.ไฟเขียวรับซื้อไฟฟ้าพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กำลังผลิตไม่เกิน 46MW

กกพ.ไฟเขียวรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก โดยในระยะที่ 1 สำหรับพื้นที่ 3 จังหวัดใต้ กำลังผลิตไม่เกิน 46MW ส่วนระยะที่ 2 จะดำเนินการหลังจากการรับซื้อโครงการโซลาร์ฟาร์มสำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตรแล้วเสร็จ โดยเปิดรับซื้อเชื้อเพลิงประเภท ก๊าซชีวภาพ-ชีวมวล-ก๊าซชีวภาพ


นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษกของ กกพ. เปิดเผยถึงความคืบหน้าการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนว่า กกพ. จะออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าเป็น 2 ระยะ

โดยระยะที่ 1 กกพ. ได้ออกประกาศการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) พร้อมหลักเกณฑ์ด้วยวิธีการคัดเลือกโดยการแข่งขันทางด้านราคาไปแล้ว ซึ่งเป็นการรับซื้อไฟฟ้าสำหรับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส) และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา (อำเภอจะนะ เทพา สะบ้าย้อย และนาทวี) ในปริมาณกำลังผลิตติดตั้งรวมไม่เกิน 46 เมกะวัตต์

“สำหรับรายละเอียดการรับซื้อไฟในระยะที่ 1 จำนวน 46 เมกะวัตต์ ได้แบ่งเป้าหมายการรับซื้อตามประเภทเชื้อเพลิงและกำลังการผลิตติดตั้งเป็นก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) จำนวนไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ และชีวมวล จำนวนไม่เกิน 36 เมกะวัตต์ โดยใช้วิธีการคัดเลือกแบบแข่งขันทางด้านราคา (Competitive Bidding) และจะคัดเลือก เชื้อเพลิงแต่ละประเภทแยกจากกัน” นายวีระพล กล่าว

โดย กกพ. จะคัดเลือกเชื้อเพลิงประเภทก๊าซชีวภาพให้แล้วเสร็จภายในเดือนเม.ย. 2559 แล้วจึงจะคัดเลือกเชื้อเพลิงประเภทชีวมวลต่อไป โดยมีกำหนดแล้วเสร็จภายในเดือนส.ค. 2559

สำหรับการรับซื้อไฟในระยะที่ 2 จะดำเนินการหลังจากการรับซื้อโครงการโซลาร์ฟาร์มสำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตรแล้วเสร็จ เนื่องจากจะทราบศักยภาพวงจร (Feeders) ที่เหลืออยู่จากการรับซื้อโครงการโซลาร์แล้ว ซึ่ง กกพ.จะออกประกาศการรับซื้อไฟในระยะที่ 2 ในพื้นที่ที่เหลือต่อไป โดยในระยะที่ 2 นี้ จะเปิดรับซื้อเชื้อเพลิง  3 ประเภท คือ ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) ชีวมวล และก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน)

ส่วนขั้นตอนการประเมินและคัดเลือกคำร้องและข้อเสนอขอขายไฟฟ้า กกพ. ได้แบ่งออกเป็น 2 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนแรกเป็นการตรวจสอบคุณสมบัติกับการประเมินข้อเสนอด้านเทคนิคของผู้ยื่น โดยผู้ยื่นต้องมีคุณสมบัติเบื้องต้นของโครงการที่เสนอ เช่น จะต้องไม่เคยได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ เช่น กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน Adder หรือเงินอุดหนุนอื่นๆ หรือต้องไม่เคยมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้ามาก่อน เป็นต้น

ทั้งนี้ หากคุณสมบัติของผู้ยื่นไม่เป็นไปตามที่กำหนดในประกาศ ผู้ยื่นรายนั้นจะไม่ได้รับการประเมินในขั้นตอนต่อไป โดย กกพ. จะประกาศรายชื่อผู้ที่ผ่านการประเมินคุณสมบัติและข้อเสนอด้านเทคนิคในเว็บไซต์ของสำนักงาน กกพ. ให้ทราบก่อน แล้วจึงเริ่มการคัดเลือกในขั้นตอนที่ 2 คือ การประเมินข้อเสนอด้านราคา โดยในการประเมินข้อเสนอด้านราคา กกพ. จะใช้วิธีการเรียงลำดับราคา โดยเรียงลำดับผู้ยื่นที่เสนออัตราส่วนลด (เป็น%) ของอัตรา FiTF มากที่สุดก่อน และหากในกรณีที่มี ผู้ยื่นเสนออัตราส่วนลดเท่ากัน ผู้ที่ยื่นก่อนจะมีสิทธิได้รับการพิจารณาก่อน

Back to top button