เปิดผลสอบ “สิงคโปร์แอร์ไลน์” ตกหลุมอากาศเป็นเหตุ “ความสูงลดฉับพลัน” ทำผู้โดยสารเจ็บ

“กระทรวงคมนาคมสิงคโปร์” แถลงผลการสอบสวนเบื้องต้น กรณีสายการบิน “สิงคโปร์แอร์ไลน์” เที่ยวบิน SQ321 เกิดเหตุตกหลุมอากาศอย่างรุนแรง ชี้ระดับความสูงที่ลดลงอย่างรวดเร็ว เป็นเหตุทำให้ผู้โดยสารได้รับบาดเจ็บ


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (29 พ.ค. 67) กระทรวงคมนาคมของสิงคโปร์ แถลงผลการสอบสวนเบื้องต้น กรณีเครื่องบินโดยสารโบอิ้ง 777-300ER ของสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ เที่ยวบิน SQ321 บรรทุกผู้โดยสารพร้อมลูกเรือรวม 229 คน ประสบเหตุตกหลุมอากาศอย่างรุนแรงเหนือประเทศเมียนมาเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ก่อนนักบินนำเครื่องบินมาลงจอดที่สนามบินสุวรรณภูมิ จนเป็นเหตุให้มีผู้โดยสารเสียชีวิต 1 ราย และได้รับบาดเจ็บหลายสิบคนนั้น บ่งชี้ว่าการเปลี่ยนแปลงของแรงโน้มถ่วงและระดับความสูงที่ลดลง 54 เมตรอย่างรวดเร็ว เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บจำนวนมากบนเที่ยวบินดังกล่าว

กระทรวงคมนาคมของสิงคโปร์ ยังระบุว่า เครื่องบินได้ประสบกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในค่า G (แรงโน้มถ่วง) ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้โดยสารที่ไม่ได้คาดเข็มขัดลอยขึ้นกลางอากาศได้ และอัตราเร่งในแนวตั้งได้เปลี่ยนจากลบ 1.5G เป็นบวก 1.5G ภายใน 4 วินาที ซึ่งน่าจะส่งผลให้ผู้โดยสารที่ลอยขึ้นกลางอากาศตกกลับลงมา โดยอ้างข้อมูลที่ได้จากกล่องบันทึกทางการบินและกล่องบันทึกเสียงในห้องนักบิน โดยการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของค่า G ในช่วง 4.6 วินาที ส่งผลให้ระดับความสูงลดลง 178 ฟุต (54 ม.) จาก 37,362 ฟุต เป็น 37,184 ฟุต ลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้น่าจะเป็นเหตุให้ลูกเรือและผู้โดยสารได้รับบาดเจ็บ

ขณะที่สายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ ระบุว่า รับทราบรายงานดังกล่าว และให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่กับการสอบสวน ทางสายการบินยังแจ้งในวันอังคาร (28 พ.ค.) ว่า มีผู้โดยสารบนเที่ยวบินดังกล่าว 42 คน ที่ยังคงอยู่ที่กรุงเทพฯ รวมถึงผู้โดยสาร 26 คน ที่ยังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล

โดยรายงานเบื้องต้นระบุว่าเมื่อเครื่องบินเผชิญกับการสั่นสะเทือนเล็กน้อย ก็มีระดับความสูงเพิ่มขึ้นโดยไม่ได้มีคำสั่งการ ส่งผลให้ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติเหวี่ยงเครื่องบินให้ลดต่ำลง นักบินประสบกับความเร็วของเครื่องบินที่เพิ่มขึ้นและตอบสนองโดยการใช้เบรกความเร็วของเครื่องบิน และขณะควบคุมความเร็วของเครื่องบิน ได้ยินว่านักบินคนหนึ่งแจ้งว่าได้เปิดสัญญานรัดเข็มขัดนิรภัยแล้ว

อนึ่ง ทีมสอบสวนเหตุการณ์นี้ประกอบด้วยทีมสอบสวนของสิงคโปร์, ตัวแทนจากบริษัทโบอิ้ง ผู้ผลิตเครื่องบินของสหรัฐ,คณะกรรมการความปลอดภัยการขนส่งแห่งชาติ (เอ็นทีเอสบี) และองค์การบริหารการบินแห่งชาติ(เอฟเอเอ) ของสหรัฐ ซึ่งกระทรวงคมนาคมของสิงคโปร์ระบุว่าการสอบสวนต่อเหตุการณ์ยังคงดำเนินต่อไป

Back to top button