คลัง เผยหนี้สาธารณะคงค้างสิ้นพ.ย.อยู่ที่ 44.52% ของ GDP

คลัง เผยหนี้สาธารณะคงค้างสิ้นพ.ย.อยู่ที่ 44.52% ของ GDP


นายธีรัชย์ อัตนวานิช รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) เปิดเผยว่า หนี้สาธารณะคงค้าง ณ 30 พฤศจิกายน 2558 มีจำนวน 5,975,766.31 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 44.52 ของ GDP และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน เพิ่มขึ้นสุทธิ 108,393.63 ล้านบาท โดยการเปลี่ยนแปลงของหนี้สาธารณะมีรายละเอียด ดังนี้

หนี้ของรัฐบาล จำนวน 4,379,011.64 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 123,106.78 ล้านบาท ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเกิดจากการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 109,075.46 ล้านบาท เพื่อรักษาระดับเงินคงคลังให้เพียงพอต่อการใช้จ่ายของรัฐบาล ซึ่งระดับเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2558 อยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีอื่นๆ ในช่วงเดียวกัน

รวมทั้งเกิดจากการกู้เงินเพื่อการลงทุนจากแหล่งเงินกู้ในประเทศและต่างประเทศ จำนวน 21,234.29 ล้านบาท มีรายการดังนี้ 1. การกู้เงินเพื่อให้รัฐวิสาหกิจกู้ต่อ จำนวน 1,164.18 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย จำนวน 811.60 ล้านบาท สำหรับดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สายสีเขียว และสายสีม่วง การรถไฟแห่งประเทศไทย จำนวน 351.87 ล้านบาท สำหรับดำเนินโครงการปรับปรุงทางรถไฟที่ไม่ปลอดภัย 8 สายทาง และโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง และกรมทางหลวง จำนวน 0.71 ล้านบาท สำหรับดำเนินโครงการก่อสร้างทางสายหลักเป็น 4 ช่องจราจร (ระยะที่ 2)

2. การกู้เงินบาททดแทนการกู้เงินตราต่างประเทศ จำนวน 20,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในการดำเนินโครงการพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำและระบบขนส่งทางถนนระยะเร่งด่วน:มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2

3. การเบิกจ่ายเงินกู้เพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำ จำนวน 70.11 ล้านบาท

+ การชำระหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง จำนวน 8,661.99 ล้านบาท แบ่งเป็น

– การชำระคืนเงินต้นที่ออกภายใต้ พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะฯ พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 3,930.25 ล้านบาท

– การชำระคืนต้นเงินกู้ที่รัฐบาลให้กู้ต่อ จำนวน 3,098.46 ล้านบาท

– การชำระคืนต้นเงินกู้เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ต่างประเทศที่กระทรวงการคลังค้ำประกันจำนวน 175 ล้านบาท

– การชำระดอกเบี้ยหนี้ในประเทศ จำนวน 1,458.28 ล้านบาท

+ การชำระหนี้ที่รัฐบาลกู้เพื่อชดเชยความเสียหายให้แก่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ โดยใช้เงินจากบัญชีสะสมเพื่อการชำระคืนต้นเงินกู้ชดใช้ความเสียหายของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ เพื่อชำระดอกเบี้ย จำนวน 1,759.17 ล้านบาท

หนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน จำนวน 1,044,724.59 ล้านบาท ลดลง 10,163.09 ล้านบาท โดยการเปลี่ยนแปลงเกิดจาก

ผลของอัตราแลกเปลี่ยนทำให้หนี้ต่างประเทศสกุลต่างๆ ลดลง 2,499.65 ล้านบาท

+ การชำระคืนเงินกู้มากกว่าการเบิกจ่าย ทำให้หนี้ลดลง 7,663.44 ล้านบาท โดยรายการที่สำคัญเกิดจากการไถ่ถอนหุ้นกู้ จำนวน 5,000 ล้านบาท ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และการไถ่ถอนพันธบัตรที่ครบกำหนด จำนวน 2,000 ล้านบาท ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย

หนี้ของรัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) จำนวน 534,472.05 ล้านบาท ลดลง 3,729.07 ล้านบาท เนื่องจากการชำระหนี้เงินต้นของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรที่กู้มาเพื่อดำเนินโครงการรับจำนำผลิตผลทางการเกษตร โดยใช้เงินจากการระบายสินค้าเกษตร จำนวน 3,727 ล้านบาท และผลของอัตราแลกเปลี่ยนทำให้หนี้ต่างประเทศสกุลต่างๆ ลดลง 2.07 ล้านบาท

หนี้หน่วยงานของรัฐ จำนวน 17,558.03 ล้านบาท ลดลง 820.99 ล้านบาท โดยรายการที่สำคัญเกิดจากการชำระหนี้เงินต้นของสำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย จำนวน 738.65 ล้านบาท

ในเดือนพฤศจิกายน 2558 สบน.มีการบริหารจัดการหนี้รัฐวิสาหกิจ วงเงิน 42,353.80 ล้านบาท โดยเป็นการปรับโครงสร้างหนี้ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และการเคหะแห่งชาติ

รองผู้อำนวยการ สบน. กล่าวว่า หนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2558 เท่ากับ 5,975,766.31 ล้านบาท แบ่งเป็นหนี้ในประเทศ 5,625,424.28 ล้านบาท หรือร้อยละ 94.14 และหนี้ต่างประเทศ 350,342.03 ล้านบาท (ประมาณ 9,984.43 ล้านเหรียญสหรัฐ) หรือร้อยละ 5.86 ของหนี้สาธารณะคงค้างทั้งหมด และหากเปรียบเทียบกับเงินสำรองระหว่างประเทศ จำนวน 155,680.97 ล้านเหรียญสหรัฐ (ข้อมูล ณ 30 พฤศจิกายน 2558) หนี้ต่างประเทศจะคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 6.41 ของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงเสถียรภาพและความมั่นคงในด้านการเงินของประเทศ โดยหนี้สาธารณะแบ่งออกเป็นหนี้ระยะยาวถึง 5,669,833.49 ล้านบาท หรือร้อยละ 94.88 และมีหนี้ระยะสั้น 305,932.82 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.12 ของหนี้สาธารณะคงค้างทั้งหมด

นายธีรัชย์ ยังเปิดเผยถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับการเบิกจ่ายงบลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระยะเร่งด่วน ผ่านการลงทุนโครงการน้ำและถนน วงเงิน 8 หมื่นล้านบาทว่า ยอดการเบิกจ่ายจนถึงเดือน ธ.ค.58 อยู่ที่ 4.1 หมื่นล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 4 หมื่นล้านบาท โดยในส่วนนี้ แบ่งเป็นการเบิกจ่ายการลงทุนของถนน ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท และโครงการน้ำอีกราว 1.1 หมื่นล้านบาท ขณะที่งบประมาณส่วนที่เหลือคาดว่าจะทยอยเบิกจ่ายได้จนครบภายในสิ้นปีงบประมาณ 2559 โดยเชื่อว่าปัจจัยดังกล่าวจะมีส่วนสำคัญในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้

ขณะที่ ในช่วงครึ่งหลังของปี 2559 คาดว่าจะสามารถเบิกจ่ายงบลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของรัฐได้มากขึ้น เนื่องจากหลายโครงการอยู่ในแผนการลงทุนของปีงบประมาณ 2559 และส่วนใหญ่เดินหน้าได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ อาทิ โครงการรถไฟทางคู่ ที่คาดว่าจะเซ็นสัญญาก่อสร้างได้ภายในช่วงครึ่งแรกของปีนี้

Back to top button