CFARM หุ้นน้องใหม่ “ผู้เลี้ยงไก่เนื้อมาตรฐานสากล” ลุยเทรด 6 มิ.ย.นี้

เปิดตัว CFARM หุ้นน้องใหม่ ชูจุดเด่น “ผู้เลี้ยงไก่เนื้อ มาตรฐานสากล” ระดมทุน 201 ล้านบาท มุ่งขยายโรงเรือน-ลงทุนระบบพลังงานแสงอาทิตย์หวังลดต้นทุนการผลิต พร้อมเทรด mai วันที่ 6 มิ.ย.67


จับตาหุ้นน้องใหม่อนาคตสดใส! บริษัท ชูวิทย์ฟาร์ม (2019) จำกัด (มหาชน) หรือ CFARM ซึ่งดำเนินธุรกิจฟาร์มปศุสัตว์ประเภทฟาร์มเลี้ยงไก่เนื้อให้กับคู่สัญญาชั้นนำในประเทศไทยรูปแบบ เกษตรพันธสัญญา โดยเลี้ยงไก่เนื้อในโรงเรือนด้วยระบบปิดปรับอากาศ (Evaporative Cooling System : EVAP) ทุกโรงเรือนเลี้ยงไก่เนื้อมีคุณภาพตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี

นายชูรัตน์ จึงธนสมบูรณ์ กรรมการผู้จัดการ CFARM กล่าวว่าบริษัทเตรียมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ในวันที่ 6 มิถุนายน 2567 ในกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร โดยเสนอขายหุ้นสามัญให้ประชาชนทั่วไป (IPO) ไม่เกิน 149 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 1 บาท คิดเป็นสัดส่วน 25.69% ของจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดที่ออกและจำหน่าย ในราคาเสนอขายหุ้นละ 1.35 บาท เงินระดมทุนจำนวน 201.15 ล้านบาท

ทั้งนี้ บริษัทฯได้เปิดเผยข้อมูลที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับธุรกิจผ่าน “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ไปถึงนักลงทุนว่าเริ่มต้นบริษัทฯได้เปิดฟาร์มเลี้ยงไก่ภายในครอบครัว จำนวน 9,000 ตัว หลังจากนั้นได้เริ่มขยายกิจการขึ้นอย่างต่อเนื่องในระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา เริ่มตั้งแต่ก่อตั้งปี (2543-2566) ซึ่งปัจจุบัน CFARM มีฟาร์มไก่ทั้งหมด 8 ฟาร์ม คิดเป็น 121 โรงเรือน พร้อมทั้งบริษัทมีความสามารถในการเลี้ยงไก่เนื้อประมาณ 3.18 ล้านตัวต่อรอบการเลี้ยง หรือ 15.90 ล้านตัวต่อปี

นางสาวมธุชา จึงธนสมบูรณ์ รองกรรมการผู้จัดการสายงานการจัดการ CFARM กล่าวเสริมว่า จุดเด่นของบริษัทฯ นั้น คือ การเป็นธุรกิจรูปแบบคอนแทรคฟาร์มมิ่ง (contract farming) ซึ่งไม่ต้องรับภาระด้านความเสี่ยงต่างๆ อาทิ 1.การจัดหาลูกไก่-อาหาร เนื่องจากบริษัทคู่สัญญาจะเป็นผู้จัดการ โดย CFARM มีหน้าที่รับผิดชอบเลี้ยงให้ได้ตามมาตรฐาน พร้อมกับขายให้คู่สัญญาเดิมในราคารับประกัน 2.มีอัตราการเลี้ยงรอด-อัตราการแลกเนื้อที่ดี และ 3.เนื้อไก่มีคุณภาพ เนื่องจาก CFARM มีประสบการณ์ยาวนานกว่า 30 ปี

สำหรับการระดมทุนในครั้งนี้ CFARM ต้องการนำเงินไปใช้ใน 3 ส่วน คือ 1.เพื่อก่อสร้างฟาร์ม ปรับปรุงโรงเรือน อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจฟาร์มปศุสัตว์ 156.62 ล้านบาท ภายในปี 2569 โดยบริษัทมีแผนเพิ่มจำนวนโรงเรือนในการเลี้ยงปรับปรุงระบบงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิต รวมทั้งมีแผนลงทุนระบบพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อลดต้นทุนการผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่มอย่างยั่งยืน 2.เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ 20 ล้านบาท ภายในปี 2568 และ 3.คืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินบางส่วน 15 ล้านบาทภายในปี 2567

ขณะที่การดูแลเรื่องมาตรฐานความสะอาดในฟาร์มนั้น CFARM ให้ความสำคัญอย่างมาก โดยภายใน 1 โรงเรือน จะมีคนดูแลประมาณ 2 คนเท่านั้นหากรวม 121 โรงเรือนที่มีอยู่จะมีพนักงานดูแลทั้งหมดราว 90 คน พร้อมมาตรการที่ผู้ดูแลจะต้องอยู่ควบคุมการเลี้ยงไก่โดยไม่ออกไปจากพื้นที่ฟาร์มตลาด 45 วัน ป้องกันการนำเชื้อโรคจากภายนอกโรงเรือนเข้ามาระบาดในฟาร์มไก่

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา CFARM ไม่เคยประสบปัญหาเรื่องภาวะโรคระบาดแม้แต่ช่วงเกิดการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกจำนวนสามรอบตั้งแต่ปลายปี 2546 จนถึง 2549 รวมไปถึงช่วงที่ทั่วโลกประสบปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (covid-19) เนื่องจากบริษัทมีมาตรฐานและประสบการณ์ยาวนานกว่า 30 ปี อย่างที่ได้กล่าวไป

“หากพูดถึงแผนงานในการขยายโรงเรือนไปต่างจังหวัดนั้น CFARM ยังไม่มีแผนการขยายไปที่อื่น เนื่องจากปัจจุบันที่ตั้งของบริษัทมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่ครอบคลุม อาทิ โรงเชือด โรงผลิตอาหารสัตว์ ไม่มีการกระจุกตัวของฟาร์ม อีกทั้งปัจจัยสำคัญคือเนื่องจากบุรีรัมย์เป็นบ้านเกิดของเรา นั่นเอง” นางสาวมธุชา กล่าว

ส่วนทิศทางธุรกิจระยะยาว 3-5 ปี ยังคงมองเห็นการเติบโตที่มีศักยภาพในธุรกิจเลี้ยงไก่เนื้อ เนื่องจากธุรกิจของ CFARM อยู่ในอุตสาหกรรมอาหาร และเนื้อไก่เป็นโปรตีนที่ราคาถูก ทุกคนทุกเชื้อชาติศาสนาสามารถทานได้ ขณะที่รัฐบาลมียุทธศาสตร์ต้องการที่จะผลักดันให้ประเทศไทยขึ้นเป็นผู้ส่งออกไก่เนื้อลำดับที่ 3 ของโลกจึงถือเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ CFARM เติบโตต่อเนื่องในอนาคต

หากย้อนกลับไปดูผลการดำเนินงาน 3 ปีย้อนหลังในปี (2564 -2566) สำหรับในปี 2564 รายได้รวมอยู่ที่ 163.48 ล้านบาท ต่อมาในปี 2565 รายได้รวมอยู่ที่ 228.99 ล้านบาท และในปี 2566 รายได้รวมอยู่ที่ 240.99 ล้านบาท ในส่วนของกำไรสุทธิพบว่า ในปี 2566 บริษัทขาดทุนสุทธิ 38.08 ล้านบาท ส่วนในปี 2565 บริษัทมีกำไรสุทธิ 21.97 ล้านบาท และในปี 2566 บริษัทมีกำไรสุทธิ 30.49 ล้านบาท

นอกจากนั้น บริษัทมีนโยบายการจ่ายเงินปันผลในอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของกำไรสุทธิหลังหักเงินสำรองตามกฎหมายและเงินสำรองอื่นตามที่บริษัทกำหนด โดยพิจารณาจากงบการเงินเฉพาะกิจการของบริษัท อย่างไรก็ตามการจ่ายเงินปันผลดังกล่าว อาจมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นอยู่กับกระแสเงินสดสุทธิ ฐานะการเงิน ผลการดำเนินงาน แผนการลงทุนในโครงการต่างๆของบริษัท รวมถึงความจำเป็นและความเหมาะสมอื่นในอนาคตตามที่คณะกรรมการบริษัท และ/หรือ ผู้ถือหุ้นของบริษัท เห็นสมควรหรือเหมาะสม ทั้งนี้การดำเนินการดังกล่าวจะต้องก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ถือหุ้น

Back to top button