พาราสาวะถี

สัปดาห์ก่อนโพลของสถาบันพระปกเกล้าชี้คะแนนนิยมของประชาชนที่มีต่อ พรรคเพื่อไทย และ เศรษฐา ทวีสิน ตามหลัง ก้าวไกล กับ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์


สัปดาห์ก่อนโพลของสถาบันพระปกเกล้าชี้คะแนนนิยมของประชาชนที่มีต่อ พรรคเพื่อไทย และ เศรษฐา ทวีสิน ตามหลัง ก้าวไกล กับ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ล่าสุด มีผลสำรวจความเห็นของสำนักงานสถิติแห่งชาติชี้ว่า เรตติ้งของรัฐบาลดีขึ้น ประชาชนพอใจผลการทำงานมากขึ้น ไม่ใช่เรื่องแปลก อยู่ที่ว่า นายกรัฐมนตรีและลิ่วล้อจะยินดีปรีดาด้วยหรือไม่ ต้องไม่ลืมว่า ครั้งหนึ่งเคยมีโพลที่ระบุว่าประชาชนมีความนิยมชมชอบนายกฯ ที่เป็นผู้นำเผด็จการ คสช.เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์เต็ม

ดังนั้น สิ่งที่เศรษฐาประกาศและยึดถือมาตลอดคือให้ผลงานเป็นตัวชี้วัด จึงเป็นเรื่องที่ถูกต้อง ผลจากการดำเนินนโยบายที่สำคัญ จนสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนดีขึ้นมาได้เท่านั้น จะเป็นตัวบ่งบอกว่า รัฐบาลได้สร้างความพึงพอใจให้กับประชาชนได้ดีขนาดไหน ขณะที่การสำรวจความเห็นในลักษณะโพลทั้งหลายนั้น อาจใช้เป็นเครื่องเตือนใจ และให้กำลังใจได้ในบางครั้ง ไม่สามารถที่จะยึดเป็นหลักประกอบการตัดสินใจในเรื่องใด ๆ ได้

เข้าทำเนียบรัฐบาลเป็นที่เรียบร้อย สำหรับ วิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษานายกฯ ด้านกฎหมายและระเบียบปฏิบัติราชการ พร้อมการให้สัมภาษณ์ยาวเหยียดทั้งก่อนและหลังการประชุม ครม. อย่างที่บอกการมารับงานหนนี้ไม่ธรรมดา ส่วนเรื่องข้อตกลงที่ทำให้ตัดสินใจมาช่วยงานนั้น เนติบริกรรายนี้ก็บอกเหมือนที่เศรษฐาได้เคยบอกไว้ “เป็นเรื่องระหว่างคนสองคน” ที่แน่ ๆ บทบาทแรกเริ่มทันทีคือการช่วยตรวจสอบคำชี้แจงของเศรษฐาที่จะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ

ประโยคที่ต้องขีดเส้นใต้คือ คำถามที่ว่านายกฯ จะชนะได้หรือไม่ วิษณุตอบทันที “ผมจะยืนยันได้อย่างไรว่าแพ้” ไม่ใช่เรื่องชี้นำหรือท้าทายต่อกระบวนการพิจารณาและวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะความจริงกรณีที่เศรษฐาถูกร้องปมคุณสมบัติของผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญนั้นไม่มีปัญหาอยู่แล้ว แสดงให้เห็นการยึดถือขั้นตอนปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ปมที่ต้องชี้ขาดคือ ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และผิดจริยธรรมร้ายแรง ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะฟันธง

เป็นเรื่องใหม่ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับสืบทอดอำนาจ ที่ผ่านมายังไม่เคยมีการวินิจฉัยตีความเอาคนออกจากตำแหน่งจากกรณีเหล่านี้ โดยเฉพาะเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ คาดเดาได้ว่า ประสาเนติบริกรที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวมาตั้งแต่ต้น ย่อมรู้ดีว่าจะนำประเด็นไหนไปหักล้างสิ่งที่เศรษฐาถูกกล่าวหา อะไรที่เป็นนามธรรมหากไม่สามารถอธิบายให้สังคมคล้อยตามได้ย่อมมีโอกาสจะสร้างปัญหา มากกว่าแก้ไขปัญหา

ขณะเดียวกัน เรื่องแรงกระเพื่อมภายในพรรคเพื่อไทยนั้นต่อให้มีก็จะเป็นเพียงเสียงวิจารณ์ในวงจำกัดจนไร้พลัง เหมือนอย่างที่วิษณุแยกเขี้ยวขู่ ถ้าต้านมาก ๆ ตนก็ไม่อยู่ก็เท่านั้น ไม่ต่างกับประเด็นที่ว่าเมื่อเข้ามาแล้วจะทำให้เศรษฐาและรัฐบาลอยู่ครบเทอมหรือไม่ เจ้าตัวก็บอกทันทีว่า เป็นเรื่องของรัฐบาลไม่เกี่ยวกับตน แต่น่าสนใจกับการที่บอกว่า มาช่วยนายกฯ แค่บางภารกิจ ส่วนจะช่วยนานแค่ไหนนั้น เป็นเรื่องของอนาคต “หากมีบางภารกิจแต่หลายครั้งก็ช่วยมากขึ้น” นี่ไงลีลาลูกเล่นชั้นครู ที่เศรษฐาจำเป็นต้องมีคนแบบนี้มาอยู่ข้างกาย

สำหรับพรรคแกนนำรัฐบาล คนที่ตกเป็นเป้าว่าจะผิดหวังจากการเข้ามาของวิษณุ หนีไม่พ้น ชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานที่ปรึกษากฎหมายของพรรค จนถูกฝ่ายเสี้ยมบอกว่าเศรษฐาไม่เชื่อมือ ซึ่งชูศักดิ์ก็ยืนยันว่าไร้ปัญหา เพราะไม่ได้อยากเป็นอยู่แล้ว เป็นแล้วอาจมีปัญหามากกว่าเสียอีก ส่วนความจำเป็นที่นายกฯ ดึงวิษณุเข้ามานั้น น่าจะต้องการประสบการณ์ในฐานะที่เป็นมือกฎหมายของรัฐบาลมาหลายยุค แม้แต่ยุคไทยรักไทย เพราะรัฐบาลต้องพบกับปัญหาด้านกฎหมายหลายอย่าง

ดูเหมือนจะเป็นการปลอบใจตัวเอง แต่ก็ต้องยอมรับความจริงอย่างหนึ่งว่า ปัญหาทางกฎหมายที่รัฐบาลต้องพบ มันไม่ใช่เรื่องกฎหมายแพ่ง กฎหมายอาญา หรือกฎหมายบางเรื่องที่เรียนกันอยู่ในมหาวิทยาลัย โดยภาพรวมคือกฎหมายตามนโยบาย กฎหมายบริหารราชการแผ่นดิน โดยเฉพาะระยะหลังจะมีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับศาล องค์กรอิสระจำนวนมาก ไม่นับรวมกฎหมายของกระทรวงต่าง ๆ นั่นจึงเป็นเหตุที่เศรษฐาบอกกับวิษณุว่า รัฐบาลนี้มีแต่คนไม่รู้กับคนไม่รู้มาคุยกัน

การเข้ามาช่วยงานของวิษณุ แม้จะร่วมประชุม ครม.เฉพาะวันอังคาร และไม่ตามไปด้วยหากมีการประชุม ครม.สัญจร แค่นี้ก็ทำให้อุณหภูมิทางการเมืองที่ร้อนแรงเฉพาะตัวของเศรษฐาประเด็นที่ว่าจะกระเด็นหลุดเก้าอี้นายกฯ หรือไม่ลดลง และอีกหลายเรื่องที่จะตามมาก็จะมีคนมาคอยช่วยตอบแทน เป็นการตอบแบบครั้งเดียวจบ ไม่ต้องขยายผลกันเหมือนที่ผ่านมา ที่น่าคิดตามคือ จะเห็นได้ว่านับแต่ข่าวคราวการตั้งวิษณุเกิดขึ้น ข่าวความเคลื่อนไหวของ ทักษิณ ชินวัตร ก็ดูเหมือนจะเงียบหายไปในทันที

นับตั้งแต่วันที่อัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้องในความผิดมาตรา 112 อดีตนายกฯ ก็ไม่ปรากฏข่าวใด ๆ ที่เกี่ยวข้องอีก มีเพียงมุมวิเคราะห์วิจารณ์ในแง่ต่าง ๆ เท่านั้น นั่นย่อมสะท้อนให้เห็นว่า มีการปรับท่าทีเพื่อที่จะลดโทนการท้าทาย และถูกเพ่งเล็ง ปล่อยให้เศรษฐาและรัฐบาลได้ฉายแสงในทิศทางที่ควรจะเป็น อีกด้านก็จะเป็นการให้พื้นที่สื่อซึ่งเป็นแรงกดดันกับพรรคก้าวไกล ไม่ว่าจะเรื่องกฎหมายนิรโทษกรรม และคดียุบพรรคที่ต้องส่งคำชี้แจงให้ศาลรัฐธรรมนูญ

ดูเหมือนจะเป็นคนละเรื่องเดียวกัน ระหว่างการมาของวิษณุกับการหายไปจากหน้าสื่อของทักษิณ แต่ความจริงแล้ว เมื่อย้อนไปดูสายสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างเนติบริกรชั้นครูกับคนตระกูลชินวัตรแล้ว ต้องบอกว่าไม่ได้ตัดขาดจากกัน ทุกอย่างว่าไปตามบริบทของอำนาจที่เปลี่ยนแปลง เมื่ออำนาจปัจจุบันเป็นไปในลักษณะนี้ คนที่เคยเตือนและห่วงใยกันมาโดยตลอด ย่อมมองเห็นทิศทางลมว่าเป็นอย่างไร ในอดีตอาจเป็นคนที่ไม่ฟังใคร หรือชอบท้าทาย แต่บทเรียนที่ได้รับช่วยสอนว่า การอยู่อย่างเงียบ ๆ ก็เป็นหนทางนำไปสู่ชัยชนะ และทำให้ตัวเองปลอดภัยได้เช่นกัน

อรชุน

Back to top button