พาราสาวะถีอรชุน

ขี้โม้ขี้คุยหรือเปล่าไม่ทราบแต่ลองไปฟังถ้อยแถลงของ มีชัย ฤชุพันธุ์ เกี่ยวกับข้อดีเลิศประเสริฐศรีของร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังจะเห็นร่างแรกนี้กัน อันดับแรก เนติบริกรชั้นครูเชิดชูว่า เขียนบัญญัติให้สิทธิของประชาชนเป็นสิทธิที่กินได้ หรือสามารถบังคับใช้ได้จริง โดยกำหนดให้สิทธิที่สำคัญถูกกำหนดให้เป็นหน้าที่ที่รัฐจะต้องจัดให้ประชาชนได้รับสิทธิ์ โดยไม่ต้องรอการเรียกร้องให้ได้สิทธิ์นั้นมา


ขี้โม้ขี้คุยหรือเปล่าไม่ทราบแต่ลองไปฟังถ้อยแถลงของ มีชัย ฤชุพันธุ์ เกี่ยวกับข้อดีเลิศประเสริฐศรีของร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังจะเห็นร่างแรกนี้กัน อันดับแรก เนติบริกรชั้นครูเชิดชูว่า เขียนบัญญัติให้สิทธิของประชาชนเป็นสิทธิที่กินได้ หรือสามารถบังคับใช้ได้จริง โดยกำหนดให้สิทธิที่สำคัญถูกกำหนดให้เป็นหน้าที่ที่รัฐจะต้องจัดให้ประชาชนได้รับสิทธิ์ โดยไม่ต้องรอการเรียกร้องให้ได้สิทธิ์นั้นมา

ก่อนจะตามมาด้วยข้อแม้ว่า การใช้สิทธิ์ต้องนึกถึงหน้าที่ ผลกระทบต่อผู้อื่นและชาติ รวมทั้งบทบัญญัติที่เขียนว่าอำนาจและหน้าที่ของทุกองค์กรนั้น ได้ปรับวิธีการเขียนให้เป็นหน้าที่และอำนาจเพื่อเป็นเจตนาที่เน้นเรื่องหน้าที่ต้องมาก่อนอำนาจ ฟังแล้วดูดี ก่อนที่จะอรรถาธิบายเรื่องของกระบวนการเลือกตั้งที่ให้ความสำคัญทุกคะแนนเสียง

โดยระบุว่ากระบวนการเลือกตั้งเปลี่ยนจากผู้ชนะเอาไปหมด เป็นให้มีความหมายทุกคะแนน ส่งผลให้คนส่วนน้อยจะได้รู้สึกว่ามีความหมาย ไม่รู้สึกว่าถูกทอดทิ้ง และด้วยหลักการเดียวกันให้ความสำคัญกับรวมทั้งการไปกำหนดให้ผู้แทนเสียงข้างน้อยได้มีส่วนในการแก้รัฐธรรมนูญ ฟังดูแล้วแปลกแปร่ง ขัดกับหลักประชาธิปไตยที่สากลเขาใช้กันมาหรือเปล่า

ก่อนจะฟุ้งต่อว่า ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นเข้มข้นทั้งคุณสมบัติลักษณะต้องห้ามจำนวนมาก เพื่อสกัดคนทุจริตต่อหน้าที่หรือทุจริตต่อการเลือกตั้งถูกขจัดออก เรื่องใดที่เป็นการทุจริตร่วมกันทั้งองคาพยพ ตั้งแต่นักการเมืองจนถึงข้าราชการร่วมมือกัน เช่น เรื่องของการจัดสรรงบประมาณเพื่อเอื้อผลประโยชน์ส่วนตน ก็กำหนดบทแซงค์ชั่นให้ต้องพ้นทั้งคณะ

ที่มีชัยยกให้เป็นผลงานชิ้นโบว์แดงคงเป็นเรื่องทำองค์กรอิสระให้มีมาตรฐานสูง ทำงานคล่องตัวสามารถดำเนินการตามหน้าที่เมื่อรู้ว่ามีเหตุโดยไม่ต้องรอคนฟ้อง และมุ่งทำงานที่สำคัญเป็นหลัก ไม่ต้องทำทุกเรื่องและให้ช่วยกันทำหลายองค์กร รวมทั้งกำหนดระยะเวลาดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องทุจริตให้ชัดเจน เช่นเดียวกับวุฒิสภาระบบใหม่มาจากการเลือกทางอ้อมของกลุ่มสังคม ทำให้มีส่วนร่วมจากประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการหาเสียงมากมาย จึงไม่ต้องตกอยู่ใต้อาณัติของพรรคการเมือง

เรียกได้ว่าไม่มีอะไรที่เป็นจุดบกพร่องเลยแม้แต่น้อย คงต้องรอให้เห็นร่างแรกกันแบบเต็มๆแล้วดูว่าจะมีเสียงวิจารณ์กันกว้างขวางขนาดไหนและถ้าดีจริงก็ต้องผ่านประชามติโดยไม่ต้องใช้”วิชามาร” อย่างไรก็ตาม คณิน บุญสุวรรณ อดีต ส.ส.ร.ปี 2540 ก็แสดงความเป็นห่วงว่า ถ้าประกาศใช้ไม่ว่าจะโดยผ่านประชามติหรือโดยใช้มาตรา 44 หักดิบเอา

จะทำให้ประเทศไทยตกอยู่ในภาวะวิกฤตหมดทุกด้านไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคมหรือแม้แต่กองทัพก็จะวิกฤตตามไปด้วย ด้วยปัจจัยสำคัญ 3 ประการคือ การเบียดบังอำนาจอธิปไตยของปวงชน ประเด็นอำนาจอันล้นฟ้าของศาลรัฐธรรมนูญ และ เรื่องโครงสร้างทางอำนาจที่ไร้สมดุลชนิดที่เรียกว่าเอียงกระเท่เร่

สำหรับการเบียดบังอำนาจอธิปไตยของปวงชนนั้น เช่น การกำหนดให้นายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารและเป็นผู้นำประเทศและ ส.ว. ซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติและเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน การออกแบบให้องค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญ กลายเป็นอำนาจที่สี่ซึ่งมีอำนาจ เหนือฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

ขณะที่อำนาจอันล้นฟ้าของศาลรัฐธรรมนูญชนิดที่เรียกว่าเป็น Super Courtนั้น อาทิ มีอำนาจวินิจฉัยให้นายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นประมุขฝ่ายบริหารและเป็นผู้นำประเทศ และประธานรัฐสภาซึ่งเป็นประมุขฝ่ายนิติบัญญัติและมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ออกจากตำแหน่ง ฐานขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ

มีอำนาจยับยั้งมิให้นำร่างพระราชบัญญัติ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ หรือแม้แต่ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาแล้ว ขึ้นทูลเกล้าฯถวาย มีอำนาจวินิจฉัยว่า การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือแม้แต่ศาลเป็นไปตาม หลักนิติธรรมหรือไม่ และ มีอำนาจวินิจฉัยในมาตรา 7 ซึ่งเท่ากับให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการทางรัฐสภานั่นเอง

กระบวนการของ กรธ.ที่ต้องเรียกว่าคณะศรีธนญชัยเรียกพี่นั้น ทำให้ฝ่ายการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ตัวลีบเล็กและเปราะบางจนมีสภาพไม่ผิดอะไรกับเป็ดง่อยหรือลูกไก่ในกำมือของระบบศาล องค์กรอิสระ และศาลรัฐธรรมนูญ ในขณะที่ส.ส.และพรรคการเมืองก็เปรียบเสมือนเป็นลูกไล่ของ กกต. และศาลรัฐธรรมนูญ จะตบหัวหรือลูบหลังอะไรก็ได้

ขณะที่หากจะเลือกเอาเฉพาะประเด็นก็เหมือนอย่างที่คนกันเองของผู้มีอำนาจอย่าง คำนูณ สิทธิสมาน สมาชิก สปท.ออกโรงเตือนให้สังคมตื่นถึงเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่กำลังจะถูกปล้นในร่างรัฐธรรมนูญ โดยการโยกมาตราที่เกี่ยวกับคลื่นความถี่จากหมวดสิทธิเสรีภาพของประชาชนไปอยู่หมวดแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ อันเป็นเสมือนการนำคลื่นความถี่และการจัดสรร รวมทั้งการกำกับกลับไปอยู่ในมือของรัฐอย่างเนียนๆ

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เปลี่ยนแปลงหลักการสำคัญของคลื่นความถี่จากทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะเป็นทรัพยากรของรัฐ และ เปลี่ยนองค์กรกำกับฯจากองค์กรอิสระเป็นองค์กรที่มีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ เรียกได้ว่าถ้าไม่พิจารณากันให้ถ้วนถี่ด้วยลีลาและท่วงท่าของเนติบริกรชั้นครูแล้ว ล้วนแต่มีการหมกเม็ดกันทุกเรื่องทุกดอก ด้วยเหตุนี้กระมังจึงมีคนบางพวกยืนยันว่าต่อไปจะไม่มีรัฐประหารเกิดขึ้น เพราะได้มีการรัฐประหารโดยรัฐธรรมนูญไปเรียบร้อยแล้วนั่นเอง

Back to top button