SABUY-SBNEXT ร่วง! หลัง “ตลท.” สั่งแจงงบ Q1 ขาดทุนอ่วม-หนี้สูงกว่าสินทรัพย์

SABUY-SBNEXT ราคาร่วงหนัก หลังตลาดหลักทรัพย์ฯ สั่งชี้แจงงบไตรมาส 1/67 เหตุขาดทุนหนัก-หนี้สินหมุนเวียนสูงกว่าสินทรัพย์ และมีการตั้งด้อยค่าที่สูงขึ้น พ่วงเสียอำนาจควบคุม SBNEXT


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (6 มิ.ย. 67) ราคาหุ้น บริษัท สบาย เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ SABUY ณ เวลา 11:02 น. อยู่ที่ระดับ 1.17 บาท ลดลง 0.29 บาท หรือ 19.86% สูงสุดที่ระดับ 1.38 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 1.03 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 170.54 ล้านบาท

ขณะที่ราคาหุ้นบริษัท สบาย คอนเน็กซ์ เทค จำกัด (มหาชน) หรือ SBNEXT ณ เวลา 11:37 น. อยู่ที่ระดับ 0.50 บาท ลดลง 0.06 บาท หรือ 10.71% สูงสุดที่ระดับ 0.56 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 0.47 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 2.73 ล้านบาท

โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ขอให้ SABUY ชี้แจงข้อมูลในงบการเงินไตรมาส 1/67 เนื่องจากผู้สอบบัญชีมีข้อสังเกตถึงความไม่แน่นอนที่มีสาระสำคัญเกี่ยวกับความสามารถในการดำเนินงานต่อเนื่อง โดย SABUY ขาดทุน 1,961 ล้านบาท มีหนี้สินหมุนเวียนสูงกว่าสินทรัพย์หมุนเวียน และขาดทุนสะสม 3,084 ล้านบาท และมีข้อสังเกตกรณีมีข้อบ่งชี้ว่ากลุ่ม SABUY สูญเสียอำนาจควบคุมใน บริษัท สบาย คอนเน็กซ์ เทค จำกัด (SBNEXT) ทั้งนี้ SABUY ได้ตั้งด้อยค่าความนิยมและสินทรัพย์ไม่มีตัวตนอื่น รวมทั้งเงินให้กู้ยืมแก่ SBNEXT ทั้งจำนวนรวม 1,464 ล้านบาท อีกทั้งบริษัทมีผลขาดทุนจากการขายเงินลงทุนใน บริษัท ดับเบิ้ลเซเว่น จำกัด (DOU7) 996 ล้านบาท

โดยข้อมูลในงบการเงินระบุว่า 1.ผลกระทบจากการลงทุน SBNEXT (SABUY ถือหุ้น 24.92%) มูลค่า 1,464 ล้าบาท แบ่งเป็น ด้อยค่าความนิยม 487 ล้านบาท และด้อยค่าสินทรัพย์ไม่มีตัวตนอื่น 89 ล้านบาท, ขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นของเงินให้กู้ยืม 889 ล้านบาท

อนึ่ง วันที่ 3 พ.ค. 65 SABUY เข้าลงทุนใน SBNEXT 24.92% มูลค่าเงินลงทุน 938 ล้านบาท โดยไตรมาส 1/67 SABUY ตั้งด้อยค่าความนิยมและเงินให้กู้ยืมแก่ SBNEXT ทั้งจำนวน ต่อมาวันที่ 26 เม.ย. 67 ที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นของ SBNEXT ลงมติไม่เห็นชอบในหลายวาระ ซึ่งเป็นข้อบ่งชี้ว่า SABUY อาจสูญเสียอำนาจควบคุมใน SBNEXT เนื่องจากการละเมิดสิทธิที่เกิดจากข้อตกลงตามสัญญา โดยผู้บริหารอยู่ระหว่างประเมินผลกระทบต่องบการเงินไตรมาส 2/67

2.ขาดทุนจากการขายเงินลงทุนใน DOU7 (SABUY ถือหุ้น 40%) 996 ล้านบาท โดยวันที่ 3 พ.ค. 65 SABUY ซื้อหุ้น DOU7 40% จาก บริษัท คอมเซเว่น จำกัด (COM7) มูลค่า 1,360 ล้านบาท ชำระด้วยหุ้นเพิ่มทุน 48.57 ล้านหุ้น ที่ราคาหุ้นละ 28 บาท ต่อมาวันที่ 27 ม.ค. 67 SABUY ขายหุ้น DOU7 ทั้งหมดให้แก่ บริษัท สบายฟูลฟิลเมนท์ จำกัด (SBFFM บ.ย่อย 100%) ในราคา 1,360 ล้านบาท และในวันเดียวกัน SBFFM ขายหุ้น DOU7 ดังกล่าวทั้งหมดให้แก่ COM7 โดยได้รับชำระเป็นหุ้น SABUY จำนวน 68 ล้านหุ้น ซึ่งมีราคาตลาดหุ้นละ 5 บาท (คิดเป็นมูลค่า 350 ล้านบาท) โดย 15 ก.พ. 67 บริษัทชี้แจงเพิ่มเติมว่าการรับชำระด้วยหุ้น SABUY ที่มีมูลค่าลดลงจะไม่ส่งผลกระทบต่องบการเงินรวมของบริษัท

ทั้งนี้ งบการเงินไตรมาส 1/67 ปรากฏรายการขาดทุนจากการขาย DOU7 มูลค่า 996 ล้านบาท และเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้บริษัทขาดทุน 1,961 ล้านบาท

3.ขาดทุนจากการด้อยค่าความนิยมและสินทรัพย์ไม่มีตัวตนอื่น 749 ล้านบาท นอกจากการตั้งด้อยค่าความนิยมและสินทรัพย์ไม่มีตัวตนอื่นของ SBNEXT มูลค่า 576 ล้านบาท แล้ว SABUY ยังตั้งด้อยค่าความนิยมของบริษัทย่อยอีก 5 บริษัทรวม 173 ล้านบาท (70% ของมูลค่าเงินลงทุน) เนื่องจากมีข้อบ่งชี้ว่าธุรกิจดังกล่าวอาจไม่อยู่ในแผนธุรกิจของผู้ถือหุ้นใหม่ที่จะเข้ามาลงทุน (กลุ่ม Lightnet)

สำหรับประเด็นที่ ตลท.ขอให้ชี้แจง มีดังนี้

1.หลักเกณฑ์ในการพิจารณาตั้งด้อยค่าเงินลงทุนในบริษัทย่อย บริษัทร่วม

2.รายละเอียดข้อบ่งชี้ว่ากลุ่มบริษัทได้สูญเสียอำนาจการควบคุมใน SBNEXT เนื่องจากการละเมิดสิทธิที่เกิดจากข้อตกลงตามสัญญาตามที่ผู้สอบบัญชีมีข้อสังเกต รวมถึงรายละเอียดของเงินให้กู้ยืมกับ SBNEXT และแนวทางติดตามหนี้

3.ความเห็นของคณะกรรมการและคณะกรรมการตรวจสอบเกี่ยวกับความเหมาะสมของการตั้งด้อยค่าเงินลงทุน อันเป็นผลจากแผนการปรับโครงสร้างทางธุรกิจของกลุ่มบริษัท

4.ความคืบหน้าในการแก้ไขการถือหุ้นไขว้ของบริษัทกับ SBFFM ตามที่บริษัทเคยชี้แจงเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 ว่าจะแก้ไขให้แล้วเสร็จภายใน 180 วันนับจากวันที่รายการแลกหุ้น DOU7 กับ SABUY เสร็จสมบูรณ์

พร้อมกันนั้น ตลท.ขอให้ SBNEXT ชี้แจงข้อมูลในงบการเงินไตรมาส 1/67 ซึ่งผู้สอบบัญชีไม่ให้ข้อสรุปต่องบการเงิน เนื่องจากมีความไม่แน่นอนที่มีสาระสำคัญของการดำเนินงานต่อเนื่อง

โดย SBNEXT ขาดทุนสุทธิ 93 ลบ. มีหนี้สินหมุนเวียนสูงกว่าสินทรัพย์หมุนเวียน และมีขาดทุนสะสม บริษัทผิดเงื่อนไขสัญญาเงินกู้ยืมทำให้สถาบันการเงินและผู้ให้กู้มีสิทธิเรียกชำระคืนทันที รวมทั้งมีข้อบ่งชี้ว่ากลุ่มบริษัทอาจไม่ได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจาก SABUY ผู้ถือหุ้นใหญ่ 24.92% สินทรัพย์ที่ไม่มีภาระผูกพันมีจำกัดซึ่งอาจมีผลต่อการหาแหล่งเงินทุนเพิ่มเติม

ทั้งนี้ข้อมูลในงบการเงินระบุว่า

1.ความสามารถในการชำระหนี้ ได้แก่ เงินกู้ยืมระยะสั้นจากกลุ่ม SABUY 964 ล้านบาท คิดเป็น 51% ของหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย, เงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน 725 ล้านบาท และเงินกู้ยืมจากบุคคลอื่น 50 ล้านบาท โดยเงินกู้ยืมชำระคืนเมื่อทวงถามจาก SABUY วงเงิน 889 ล้านบาท ดอกเบี้ย 6.3-6.4% ซึ่ง SABUY ตั้งค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นทั้งจำนวนในงบไตรมาส 1/67, เงินกู้ยืมจากบริษัทร่วมของ SABUY วงเงิน 75 ล้านบาท ดอกเบี้ย 10-15% ครบกำหนดชำระ 14 เม.ย. 67 และ 31 พ.ค. 67

กลุ่มบริษัทผิดเงื่อนไขทางการเงินที่ระบุในสัญญากู้ยืมเงิน ทำให้อาจถูกเรียกชำระคืนเงินกู้ยืมในทันที โดยเดือน เม.ย. 67 ผู้ให้กู้เรียกให้วางเงินลงทุนในตราสารทุนเพื่อใช้เป็นหลักประกันเพิ่มเติม เนื่องจากมูลค่าหลักประกันลดต่ำลง โดยบริษัทอยู่ระหว่างเจรจากับผู้ให้กู้

2.การลงทุนในตราสารทุน 498 ล้านบาท โดยปี 66 และไตรมาส 1/67 บริษัทนำเงินไปซื้อขายตราสารทุนคิดเป็น 93% และ 8% ของสินทรัพย์รวมตามลำดับ และเกิดผลขาดทุนในตราสารทุนที่วัดด้วยมูลค่ายุติธรรม ซึ่งจากข้อมูลใน www.set.or.th พบว่า SBNEXT ลงทุนใน SABUY โดยในวันปิดสมุดทะเบียนของ SABUY  วันที่ 8 ส.ค. 66 มีจำนวน 72,850,000 หุ้น คิดเป็น 3.96% ของทุนชำระ SABUY, 29 มี.ค. 67 มีจำนวน  99,765,400 หุ้น คิดเป็น 5.65% ของทุนชำระ SABUY, วันที่ 24 เม.ย. 67  มีจำนวน 71,523,620 หุ้น คิดเป็น 4.05% ของทุนชำระ SABUY

3.ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น 89 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.7 เท่าจากงวดเดียวกันของปีก่อน และเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้บริษัทขาดทุน 93 ล้านบาท

4.หนี้สินที่อาจเกิดขึ้นจากคดีความ บริษัทถูกฟ้องร้องเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิเครื่องหมายการค้า มีทุนทรัพย์ถูกฟ้อง 50 ล้านบาท (5.12% ของส่วนของผู้ถือหุ้น) ซึ่งผลการพิจารณาคดียังไม่สิ้นสุด

สำหรับประเด็นที่ ตลท.ขอให้ SBNEXT ชี้แจง มีดังนี้

1.การแก้ปัญหาสภาพคล่องแนวทางการจัดหาแหล่งเงินเพื่อชำระหนี้และใช้ในการดำเนินงาน

2.รายละเอียดการกู้ยืมเงินและการนำสินทรัพย์ของบริษัทไปค้ำประกันให้กลุ่ม SABUY การลงทุนในหุ้น SABUY และการปฏิบัติตามเกณฑ์การทำรายการกับบุคคลที่เกี่ยวโยงกัน

3.นโยบายการพิจารณาลงทุนและวัตถุประสงค์การลงทุนในตราสารทุน การบริหารความเสี่ยงและติดตามผลตอบแทนจากการลงทุนสัดส่วน แหล่งเงินทุน ความเห็นของคณะกรรมการและคณะกรรมการตรวจสอบ

4.นโยบายการตั้งค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น และสาเหตุการเพิ่มขึ้นของรายการดังกล่าวอย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งแนวทางการติดตามหนี้

5.รายละเอียดของหนี้สินที่อาจเกิดขึ้นจากคดีความ โดยมีทุนทรัพย์ฟ้องร้องมากกว่า 5% ของส่วนของผู้ถือหุ้น

6.ความคืบหน้าของการดำเนินการให้เป็นไปตามเกณฑ์ดำรงสถานะเรื่องการไม่มีความขัดแย้งทางผลประโยชน์เนื่องจากบริษัททำธุรกิจเดียวกับบริษัทในกลุ่มของผู้ถือหุ้นใหญ่ ตามข่าวของบริษัทเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2566

ทั้งนี้ ตลท.ขอให้ทั้ง 2 บริษัทชี้แจงข้อมูลผ่านระบบเผยแพร่ข้อมูลของ ตลท.ภายในวันที่ 13 มิถุนายน 2567 สำหรับความเห็นของคณะกรรมการบริษัทภายในวันที่ 20 มิถุนายน 2567 โดยขอให้ผู้ลงทุนศึกษาข้อมูลงบการเงินของ SBNEXT และติดตามคำชี้แจงของบริษัท

Back to top button