จับตา BEM วิ่งต่อ! ลุ้นข่าวดี “ศาลปกครองสูงสุด” พิพากษา “สายสีส้ม” วันนี้
จับตา! ศาลปกครองสูงสุดตัดสินคดีพิพาทโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (บางขุนนนท์-มีนบุรี) วันนี้ โบรกมองหากผลตัดสินมีการยกฟ้องตามศาลปกครองขั้นต้น เป็นประโยชน์ต่อ BEM ที่จะได้พัฒนาโครงการนี้ต่อ เตรียมงบลงทุนกว่า 30,000 ล้านบาท จัดหาขบวนรถ-ระบบสายสีส้ม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (12 มิ.ย.67) ศาลปกครองสูงสุดได้นัดอ่านคำพิพากษาในคดีระหว่างบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ในเครือบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS (ผู้ฟ้องคดี) กับคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) กับพวกรวม 2 คน (ผู้ถูกฟ้องคดี)
โดยคดีนี้ผู้ฟ้องคดี คือ BTSC ฟ้องว่าคณะกรรมการคัดเลือกฯ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 กับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีร่วมกันออกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2564 และออกเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (RFP) โดยเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติและหลักเกณฑ์คัดเลือกเอกชนให้แตกต่างจากหลักเกณฑ์เดิมตาม RFP ฉบับเดือนกรกฎาคม 2563 ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ที่ชอบด้วยกฎหมายและมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) อันมีลักษณะเป็นการกีดกันการแข่งขันอย่างเป็นธรรม จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาล
ทั้งนี้ ศาลปกครองกลางพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากพิเคราะห์แล้วเห็นว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองใช้ดุลพินิจกำหนดคุณสมบัติผู้ยื่นข้อเสนอเหมาะสมและความจำเป็นแห่งกรณีเพื่อประโยชน์ของรัฐ ไม่มีลักษณะเป็นการเอื้อประโยชน์เป็นการเฉพาะเจาะจงที่จะทำให้เป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม และไม่อาจถือได้ว่าเป็นการกีดกันไม่ให้ผู้ฟ้องคดีเข้าร่วมการคัดเลือกให้เอกชนร่วมลงทุน
นอกจากนี้ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองกำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาข้อเสนอซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิคให้แตกต่างจากประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนฯ ลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 หากได้เอกชนผู้ยื่นข้อเสนอที่มีศักยภาพไม่เพียงพอ ย่อมเป็นปัญหาอุปสรรคต่อการดำเนินการ จึงไม่อาจรับฟังว่าเป็นการใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นเดียวกัน
ขณะเดียวกัน ก่อนที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จะมีประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนฯ ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2564 ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนเป็นไปตามขั้นตอนที่กำหนดไว้แล้ว และไม่มีเหตุผลที่จะรับฟังว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายในลักษณะใด กรณีนี้จึงไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดี ซึ่งต่อมาผู้ฟ้องคดีได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้นต่อศาลปกครองสูงสุด
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2567 ศาลปกครองสูงสุดนั่งพิจารณาคดีดังกล่าวครั้งแรก โดยตุลาการผู้แถลงคดี เห็นพ้องกับคำพิพากษาศาลปกครองกลางที่พิพากษาให้ยกฟ้อง
ทางด้าน นายธนาวัฒน์ วรรณดิษฐ์ ผู้จัดการส่วนนักลงทุนสัมพันธ์ BEM เคยระบุว่า เมื่อศาลฯ ตัดสินแล้ว รฟม.จะเสนอผลการประกวดราคาไปยังครม. และคาดว่า BEM จะได้ลงนามในสัญญาปลายปีนี้
บริษัทหลักทรัพย์ ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) คงคำแนะนำ “ซื้อ” หุ้น BEM ให้ราคาพื้นฐานที่ 10.90 บาท โดยประเมินว่าคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุดวันพรุ่งนี้น่าจะออกมาในเชิงบวกกับ BEM แน่นอน เพราะก่อนหน้านี้ศาลปกครองกลางได้พิพากษายกฟ้อง ขณะที่ตุลาการผู้แถลงคดี เห็นพ้องกับคำพิพากษาศาลปกครองกลางที่พิพากษาให้ยกฟ้องด้วย
ขณะที่ ฝ่ายบริหาร BEM ระบุว่าโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม มีมูลค่าการลงทุน 139,127 ล้านบาท ประกอบด้วย 2 ส่วน ได้แก่ 1)มูลค่างานการออกแบบและก่อสร้างงานโยธาและดอกเบี้ยระหว่างก่อสร้างแสนกว่าล้านบาท โดยจ้าง CK เป็นผู้รับงานโยธาทั้งหมด 2)มูลค่างานจัดหาระบบรถไฟฟ้าและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิในการให้บริการการเดินรถไฟฟ้า จำนวน 3 หมื่นกว่าล้านบาท BEM จะเป็นผู้จัดหาขบวนรถ-ระบบ
ส่วนทางด้าน บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) คงคำแนะนำ “ซื้อ” หุ้น BEM และคงราคาเป้าหมายที่ 9.50 บาท เนื่องจากประเมินว่า BEM เป็นหุ้น Defensive (หุ้นที่มีพื้นฐานค่อนข้างแข็งแกร่ง ความเสี่ยงต่ำ และมีการจ่ายเงินปันผลค่อนข้างสม่ำเสมอ) และมีแนวโน้มเติบโตแข็งแกร่ง โดยเชื่อว่าปัญหาที่ค้างคาของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม น่าจะได้ข้อยุติภายในสัปดาห์นี้
ขณะที่ บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด ระบุในบทวิเคราะห์ แนะนำให้ติดตามศาลปกครองสูงสุดตัดสินข้อพิพาทสุดท้ายในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ซึ่ง BTSC ฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกในการปรับหลักเกณฑ์การคัดเลือก
โดยมองว่ามีโอกาสที่ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและกลางให้ยกฟ้องคดีดังกล่าว ซึ่งจะเป็นบวกต่อ BEM ในฐานะผู้ชนะการประมูล
ทั้งนี้ ในปี 70 จะเริ่มเปิดให้บริการสายสีส้มฝั่งตะวันออกซึ่งปัจจุบันก่อสร้างแล้วเสร็จและอยู่ระหว่างรอการวางระบบ ส่วนฝั่งตะวันตกเปิดปี 73
ด้านบริษัทหลักทรัพย์ เอเอสแอล จำกัด ระบุในบทวิเคราะห์ว่า BEM รับ sentiment เชิงบวกจากศาลปกครองสูงสุดจะตัดสินพิจารณาคดีพิพาทโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม บางขุนนนท์-มีนบุรี หากผลการตัดสินออกมายกฟ้องตามศาลชั้นต้น เป็นประโยชน์ต่อ BEM ที่จะพัฒนาโครงการนี้ต่อ อยางการจัดหาขบวนรถ และระบบสายสีส้ม ทั้งนี้โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม มีมูลค่าการลงทุน 139,127 ล้านบาท
ขณะที่ในเชิงปัจจัยพื้นฐาน ปริมาณการจราจรบนทางด่วนและจำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้าในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ยังมีโมเมนตัมบวก หลังจากสถานศึกษาเริ่มเปิดภาคเรียน นอกจากนี้บริษัทมีความสามารถในการบริหารจัดการต้นทุนได้ดี แม้จะมี 2 โครงการใหญ่ให้พัฒนาอย่าง รถไฟฟ้าสายสีส้ม (มูลค่าราว 3 หมื่นล้านบาท) และโครงการ Double Deck งามวงศ์วาน-พระราม 9 ราว 3.50 หมื่นล้านบาท คาดว่า BEM ไม่จำเป็นต้องเพิ่มทุน แต่จะใช้เงินกู้อย่างเดียว ซึ่งตอนนี้ได้เตรียมพร้อมไว้แล้ว และจะทยอยลงทุน
ส่วนแนวโน้มไตรมาส 2/67 คาดว่าดีขึ้นจากไตรมาสก่อน และเมื่อเทียบกับงวดเดียวของปีก่อน เนื่องจากปริมาณการสัญญารจนทั้งทางด่วนและรถไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น รวมถึงจะมีการบันทึกรายได้จากเงินปันผลจาก CKP และ TTW เข้ามาในงวด แนะนำ “ซื้อสะสม” โดยราคาเป้าหมายจาก Bloomberg เฉลี่ยที่ 10.41 บาท