ธ.กสิกรไทยชูยุทธศาสตร์ช่วง 3 ปีข้างหน้าเน้นปรับโครงสร้างองค์กร-พัฒนาระบบไอที
นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK เปิดเผยว่ายุทธศาสตร์ของ KBANK ในช่วง 3 ปีข้างหน้า สานต่อปรับโครงสร้างองค์กรภายในอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งกำหนดเป้าหมายหลักในการพัฒนาระบบโครงสร้างด้าน IT ให้ยิ่งแน่นขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการที่ธุรกิจการเงินในการให้บริการกับลูกค้า ขณะที่การหยั่งรากของธนาคารในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) รวมทั้งอาเซียน + 3 จะต้องลึกมากขึ้น ซึ่งขณะนี้ธนาคารได้ยื่นขอประกอบกิจการธนาคารท้องถิ่นในจีน คาดว่าน่าจะได้คำตอบภายในปีนี้ นอกเหนือไปจากการเปิดสาขาในจีน และประเทศอื่น ๆ
นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK เปิดเผยว่ายุทธศาสตร์ของ KBANK ในช่วง 3 ปีข้างหน้า สานต่อปรับโครงสร้างองค์กรภายในอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งกำหนดเป้าหมายหลักในการพัฒนาระบบโครงสร้างด้าน IT ให้ยิ่งแน่นขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการที่ธุรกิจการเงินในการให้บริการกับลูกค้า ขณะที่การหยั่งรากของธนาคารในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) รวมทั้งอาเซียน + 3 จะต้องลึกมากขึ้น ซึ่งขณะนี้ธนาคารได้ยื่นขอประกอบกิจการธนาคารท้องถิ่นในจีน คาดว่าน่าจะได้คำตอบภายในปีนี้ นอกเหนือไปจากการเปิดสาขาในจีน และประเทศอื่น ๆ
ผู้บริหารสูงสุดของ KBANK กล่าวว่า แม้ว่าที่ผ่านมา KBANK ได้มีการปรับโครงสร้างองค์กรมาโดยตลอด แต่การรีเอ็นจิเนียริ่งก็ยังต้องทำต่อไป ร่วมกันการประเมินตัวเองตลอดเวลา เพื่อตอบโจทย์ของประเทศและโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งขณะนี้ KBANK มีผู้บริหารในตำแหน่ง President 3 คน โดยแต่งตั้งนางสาวขัตติยา อินทรวิชัย เข้ามาทำงานร่วมกับนายปรีดี ดาวฉาย และนายธีรนันท์ ศรีหงษ์ ขณะที่ตนเองเป็นทั้งประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารเพียงคนเดียว
ล่าสุด KBANK ได้แต่งตั้งนายสาระ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต(MTI)เข้ามาเป็นกรรมการธนาคาร และ แต่งตั้งนายสมเกียรติ ศิริชาติไชย กรรมการและประธานกรรมการบริหารความเสี่ยงองค์กร ที่ไปรับตำแหน่งรองประธานกรรมการและกรรมการ MTI ซึ่งเป็นการจัดทีมบริหารให้อยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์เดียวกันเพื่อให้การให้บริการที่ครอบคลุมและตอบโจทย์ความต้องการทางการเงินของลูกค้า
อนึ่ง KBANK ถือหุ้นทางตรงในบจก. เมืองไทยกรุ๊ปโฮลดิ้ง ในสัดส่วน 51%
นอกจากนั้น KBANK ยังปรับโครงสร้างพื้นฐานด้าน IT เพื่อให้บริการกับลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการแยกเป็นบริษัท KASIKORN Business-Technology Group ซึ่งมีนายธีรนันท์ ศรีหงส์ เป็นประธานบริษัท เพื่อให้บริการทางการเงินที่ทันสมัย เอื้ออำนวยให้เกิดการค้าการลงทุน ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่ไม่เหมือนธนาคารพาณิชย์ตามปกติ แต่ใช้กรรมการผู้จัดการไปกำกับดูแลโดยเฉพาะเพื่อให้เห็นว่ามีความสำคัญในการเตรียมพร้อมรับมือกับโลกใหม่ที่กำลังจะมาถึง
ส่วนการขยายตลาดออกไปนอก โดยเฉพาะตลาดที่มีการพัฒนาขึ้นมาแล้วคือตลาดที่ใหญ่ขึ้นในเอเชีย คือ อาเซียน +3 ได้แก่ จีน ญีป่น เกาหลี โครงสร้างบริหารจัดการ ต้องคำนึงถึงภูมิศาสตร์ทางเศรษฐกิจเพื่อให้ทันกับความเปลี่ยนแปลง สามารถให้บริการสนับสนุนด้านการค้าการลงทุนให้กับลูกค้าสามารถออกไปทำธุรกิจในหลายประเทศได้ ธนาคารจึงมีโจทย์ที่จะต้องเตรียมบุคลากรรุ่นใหม่เข้ามารองรับงานด้านนี้โดยเฉพาะ
อย่างไรก็ตาม การบริหารจัดการต้นทุนก็เป็นสิ่งที่จะต้องให้ความระมัดระวัง เพราะมองว่าหากธุรกิจใดไม่ระวังก็อาจจะเกิดภาวะต้นทุนแซงรายได้ จึงเป็นเรื่องที่ละไว้ไม่ได้ ต้องลงไปในหลายมิติ โดยเฉพาะการใช้คนเป็นเรื่องใหญ่ ทั้งการเพิ่มบุคลากร การทดแทนบุคลากรเดิมที่ออกไป ต้องตีโจทย์ให้ได้ว่าพนักงานแต่ละคนต้องมีหน้าที่อย่างไร ใช้ประโยชน์อย่างไร
นายบัณฑูร กล่าวอีกว่า ธนาคารพาณิชย์เป็นกลไกสำคัญของระบบเศรษฐกิจของประเทศทื่จะต้องเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะการหมุนเวียนเงินออมให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งเป็นเรื่องที่พูดง่ายทำยาก โดยเฉพาะในช่วงเศรษฐกิจที่มีปัญหา การปล่อยสินเชื่อเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนมาก จะทำอย่างไรให้สินเชื่อที่ปล่อยลงไปมีความหมาย ไม่ใช่ปล่อยไปแบบเปล่าประโยชน์ ซึ่งเป็นความท้าทายที่รัฐบาลและเอกชนต้องร่วมมือกัน